xs
xsm
sm
md
lg

"วิษณุ" เผยรัฐจัด 3-4 เวทีให้พวกแห้ว สปช. คาดเลือกตั้งปี 59 ไม่ขัดข้องหากจะลงประชามติรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ เผยรัฐบาลจัดหลายเวทีให้คนอกหัก สปช. เพื่อให้ปฎิรูปประเทศครบถ้วน ส่งสัญญาณจัดเลือกตั้งปี 59 ชี้ไม่ยกร่างกฎหมายประกอบคู่ขนานร่างรัฐธรรมนูญหวั่นไม่ตรงกัน กลัวกล่าวหาว่าล็อกสเปก พร้อมระบุรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีบทบัญญัติเปิดช่องให้แก้ได้ ไม่ใช่ห้ามแก้หรือฉีกทิ้ง ขณะเดียวกัน ไม่ขัดข้องหากอยากให้ทำประชามติก่อนประกาศใช้

วันนี้ (17 ต.ค.) ที่สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย”ในหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 5 (พตส. 5) โดยนายวิษณุ กล่าวตอนหนึ่งว่า เรื่องการปฎิรูปประเทศไทยในขณะนี้เป็นเรื่องยอดฮิตพูดกันวันละ 3 เวลา เบื้องต้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ตั้งการปฎิรูปด้านต่างๆ ไว้ 11 ด้าน แต่เวลานี้แยกย่อยออกไป 30 กว่าด้าน ไม่ว่าจะแยกไปกี่ด้านสุดท้ายขอให้ได้คำตอบว่าจะปฎิรูปอย่างไร ส่วนคนพูดมักจะพูดให้คนอื่นทำ ดังนั้นควรเสนอด้วยว่าการปฎิรูปอยู่ในอำนาจของใคร ของรัฐบาล กระทรวง หรือองค์กรอิสระ ซึ่งทิศทางการปฎิรูปประเทศนั้นหมายความไปถึงอนาคตไม่ว่าจะใกล้หรือไกล เมื่อจะมองไปในอนาคตที่กว้างขวางก็ต้องพูดถึงอดีตซึ่งเป็นพื้นฐานของในอนาคต โดยคำว่าปฎิรูปถือว่าเก่าแก่และมีมานานตั้งแต่สมัยพุทธกาล จนมาถึงรัชกาลที่ 5

"การปฎิรูปต้องอาศัยความกล้าของผู้นำและผู้ตาม ความเฉลียวฉลาดในการหว่านล้อม มีการประชาสัมพันธ์ก่อนที่จะลงมือทำ จึงต้องใช้เวลาในการปฎิรูป เพราะไม่ได้สำเร็จโดยง่าย 1 ปี ไม่เสร็จหรอก แต่บางเรื่องน่าจะเสร็จได้ เพราะมีหลากหลายความเห็น ที่ไม่สามารถทำให้ทุกคนเห็นเหมือนกันได้ ต้องเลือกทำตามบางคน ยิ่งสมาชิกหลายคนสามารถโหวตกันได้ก็สามารถปฎิรูปไปตามเสียงข้างมากได้" นายวิษณุ กล่าว

ทั้งนี้ การปฎิรูปวันนี้ต้องพึ่งพา 2 เวที ได้แก่เวทีทางการ คือ สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีหน้าที่ช่วยเสนอความคิดและโหวตว่าเสียงข้างมากจะปฎิรูปอะไร ให้ใครเป็นคนทำ เพื่อรัฐบาลจะได้รับลูกไปทำต่อได้ วันนี้มีหลายเรื่องที่รัฐบาลจะทำ แต่ต้องรอความเห็นจาก สปช. เพราะเกรงว่าจะสวนทางกัน หากสปช. เสนอมาตรงกับรัฐบาล โดยความเห็นไม่แตกต่างก็จะทำได้โดยง่าย นอกจาก สปช. ยังมีหน้าที่ตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรรมนูญ หลังจากเปิดประชุมวันแรก 21 ต.ค. นี้ โดย สปช. เลือกคนในหรือคนนอก จำนวน 20 คน มาจากจากแหล่ง สนช. และ คสช. ครม. ฝ่ายละ 5 คน โดยกำหนดว่ามาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องเป็นคนนอก หากเป็นรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง คาดว่าจะตั้งได้ภายในวันที่ 4 พ.ย. นี้ จากนั้นมีเวลา 2 เดือนในการให้กรอบและเวลาเขียนรัฐธรรมนูญ 4 เดือน รวมเป็น 6 เดือนให้แล้วเสร็จ โดยสรุปเบื้องต้นคาดว่าวันนี้ของปีหน้า คือประมาณปลายดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม 2558 รัฐธรรมนูญอาจจะประกาศใช้ได้ ขั้นตอนต่อไปคือการจัดทำกฎหมายลูกก่อนการเลือกตั้ง

ด้าน สปช. ต้องตั้งคณะกรรมาธิการด้านต่างๆ ขึ้น ซึ่งจะมีชุดที่เป็นพระเอกและต้องมีคำตอบให้เร็วที่สุด คือ ชุดคณะกรรมาธิการด้านการเมือง ชุดคณะกรรมกาธิการด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ชุดคณะกรรมกาธิการด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น และชุดคณะกรรมกาธิการด้านกระบวนการยุติธรรม ต้องรีบทำให้เสร็จเพราะต้องคิดและนำมาใส่ในรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงคณะกรรมาธิการด้านอื่นไม่สำคัญ แต่ด้านอื่นยังมีเวลาให้คิด

สำหรับผู้สมัคร สปช. กว่า 7,000 ชื่อในสต็อก คนเหล่านี้ไม่ต้องเสียดายเพราะนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายไว้ที่จะนำคนเหล่านี้ มาทำหน้าที่ให้สมกับที่ท่านสมัครเข้ามา โดยให้แสดงความรู้ความสามารถในเวทีต่างๆ โดยวันนี้ รัฐบาลคิดไว้หลายเวที มีถึง 3 – 4 เวที โดยเวทีแรกทำงานร่วมกับ สปช. อีกเวทีเข้าไปเป็นส่วนร่วมกับคณะกรรมธิการด้านต่างๆ ที่ สปช. จะตั้งขึ้น โดยอาจจะมีถึง 20 – 30 คณะ โดยจะส่งคนที่ถูกคัดในอันดับแรกๆ เข้าไปร่วมก่อน ส่วนเวทีที่ 3 จะมีการเปิดเวทีในส่วนรัฐบาล มานั่งแทนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติซึ่งไม่มีแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงใช้ชื่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ นอกจากนี้ ในส่วนผู้ที่เป็นกรรมการสรรหา สปช. ทั้ง 77 ท่าน เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ พูดเสียงดังคนฟัง ก็จะมีการจัดเวทีสมทบให้อยู่ เพื่อที่จะเสนอแนวทางการปฏิรูป ควบคู่กันไป แต่คนเหล่านี้ต้องไม่ได้ทำหน้าที่ในคณะรัฐมนตรีหรือเป็น สนช.

"วันนี้คนจะสมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ยังไม่มีใครรู้ จะมีปาร์ตี้ลิสต์หรือ ส.ส. จะมีกี่คนก็ยังไม่รู้ ส.ว. จะมาจากไหนยังไม่รู้ จะรู้ก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จ และทำกฎหมายลูกและหาเสียงเตรียมเลือกตั้ง หากมาจี้ให้ผมเดาก็คาดว่าหลังจากรัฐธรรมนูญเสร็จจะทำการเลือกตั้งได้เมื่อไหร่ ก็ต้องบอกว่าประมาณ 3 เดือน หากทุกอย่างเป็นไปโดยราบรื่น ที่ถามว่าทำไมไม่ร่างกฎหมายเลือกตั้งไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญ เพราะไม่รู้ว่าซุ่มร่างแล้วจะเหมือนกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากไปเหมือนก็จะถูกหาว่า กกต. 5 คน ไปล็อกสเปกล่วงหน้าอีก ที่พูดมาไม่ใช่มายืดเวลาแต่อย่างใด"นายวิษณุ กล่าวและว่า หน้าที่สำคัญอีกประการ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะต้องนำกลับมาเข้า สปช. เพื่อโหวตรับหรือไม่รับร่างได้เท่านั้น หากรับก็นำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ตกไป และให้ยุบ สปช. กรรมาธิการยกร่าง 36 คน เพื่อเริ่มต้นกระบวนการใหม่

ส่วนการลงประชามติเป็นเรื่องซับซ้อนต้องใช้เวลานาน โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้ไม่ได้ระบุให้มีการลงประชามติ แต่หากเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้ลงประชามติก็ไม่ขัดข้อง ทั้งนี้ เหตุผลที่ตนไม่เขียนกระบวนการลงประชามติลงในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะต้องการหยุดดูสถานการณ์หากเป็นสิ่งมีประโยชน์ก็จะเขียนลง แต่ถ้าเขียนแล้วไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ก็ไม่ต้องเขียนลง และเรื่องนี้ถือว่าเร็วไปที่จะนำมาพูด โดยสุดท้ายก็ต้องฟังเสียงประชาชนต้องการอย่างไร และหน้าที่สุดท้ายอยู่ที่ประธาน สปช. รับสนองพระราชโองการฯ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดในอีกหนึ่ง 1 ปีข้างหน้า นอกจากการนั่งเป็นประธานคุมไม่ให้ใครตีกัน ให้ทุกคนประชุมอยู่ในร่องรอย

นอกจากนี้โจทย์ใหญ่ที่ต้องถาม - ตอบ หลังจากนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้ มาตรา 35 ซึ่งมีการระบุกรอบกว้างๆ สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มี 10 เรื่อง บวก 1 เรื่อง เช่น การกำหนดรูปแบบรัฐเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช่เขียนไปมาเป็นสหพันธรัฐ ไทยต้องปกครองเหมาะสม มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการวางมาตรการสำหรับการคดโกงการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิดเข้ามามีบทบาทในการเลือกตั้งได้อีกอย่างถาวร นอกจากนี้ ในเรื่องนโยบายประชานิยม อันนี้ต้องมาคิด เพราะประชานิยมบางอย่างดี บางอย่างไม่ดี คือเขียนได้แบบห้ามมีประชานิยม แบบไม่พึงปราถนา แต่ไม่ได้ให้ไม่มี และข้อที่บวก 1 นั้น คือ ให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปคิดเองว่าองค์กรอิสระที่เคยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเดิม มีความจำเป็นหรือไม่ หากไม่จำเป็นก็ยุบ หรือหากจำเป็นน้อยลงก็ลดอำนาจเสีย

“คำตอบมีอยู่แล้ว ไปคิดเอง ไม่ได้บอกยุบ แต่ให้ไปทบทวน เช่น กกต. เป็นโจทย์ที่มีเยอะ มีหลายประเทศ แต่ละประเทศก็มีหลายรูปแบบ บางประเทศ กกต. วางระเบียบให้คนอื่นทำ บางประเทศให้ กกต. เฝ้าคูหาหีบ เป็นผู้ปฏิบัติ บางประเทศให้ กกต. ตัดสิน ชี้ขาดการกระทำความผิดในการเลือกตั้ง ส่วน กกต. ไทยเป็นทั้งสามอย่าง อันนี้เป็นหน้าที่ สปช. กรรมาธิการยกร่าง ต้องช่วยกันคิด ลดอำนาจ ให้เหลืออย่างเดียว สองอย่าง หรือยุบไปเลย หรือเพิ่มบุคคลที่ทำหน้าที่” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า ยังมีโจทย์อีกหลายข้อ เช่น โจทย์การเมือง นายกรัฐมนตรีควรมีที่มาจากไหน ส.ส. ควรมีการเลือกตั้งจากไหน ส.ว. ควรมีหรือไม่ มีที่มาอย่างไร หรือมีวิธีอื่น นี่เป็นโจทย์ที่ต้องถาม สังคมก็ถาม และคนที่ตอบต้องไม่ตอบด้วยอารมณ์ เพราะทุกคำตอบมีคนแย้ง อย่างนายกฯ มากจากไหน ต้องกลับไปคิด เช่น เลือกนายกฯ โดยตรง มีประเทศไหนในโลกที่ทำแบบนี้บ้าง ถ้ามันดี มันเฉียบจริง คงมีคนลองแล้ว และเราจะได้แห่ไปดูงาน แก้ข้อบ่งพร่อง หรือหากคิดว่าไม่เห็นเป็นไร เราเป็นประเทศแรก ถ้าเช่นนั้น ต้องตอบไปให้ได้ว่าหากมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของคนทั้งประเทศแล้ว หากต่อไปนายกฯ ทำผิดแล้วใครจะเอานายกฯ ออกได้ ถ้าคิดว่าสภาเอาออกได้ แล้วสภาจะเอาบัญชาจากที่ไหน

ส่วนที่เมื่อก่อนทำได้เพราะสภาเป็นคนโหวตเลือกนายกฯ แล้วตอนนี้จะทำได้อย่างไร 20 ล้านเสียงเลือก ใครคือ ฟ้าเหนือฟ้าเอานายกฯ ออกแล้ว อย่าเอาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นคำตอบ ถ้ามีคำตอบดีบอกมาเอาเลย โจทย์ต่อไปอีกสภามาจากไหน คณะรัฐมนตรีมาจากไหน เมื่อก่อนสภาคุมนายกรัฐมนตรี ไม่ชอบใจเอาออกได้ นายกรัฐมนตรีคุม ครม. ไม่ชอบใจเอาออกได้ แต่ทิศทางอนาคตอยากได้แบบไหน แบบนี้หรือไม่ ถ้าไม่ก็เขียนใหม่ โดยในบางระบบที่ใช้ในบางประเทศ สภา ตั้งกระทู้ถามไม่ได้ กลับกันรัฐบาลเองเสนอยุบสภาก็ไม่ได้ เอาไหมแบบนี้ ถ้าเอาก็ต้องตอบคำถามอีก 10 ข้อ ไม่เอาตอบอีก 7- 8 ข้อ ส่วนกระบวนการปฎิรูปอื่นๆ ทั้งการบริหารราชการแผ่นดินและกระบวนการยุติธรรม ต้องตั้งโจทย์ว่ามีอะไรที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้าง เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางของการปฎิรูป สิ่งใดที่ว่าผิดก็อย่าไปทำอย่าไปลอง สิ่งใดมีข้อเสียก็มาช่วยกันแก้ไข

สำหรับหน้าตาของรัฐธรรมนูญใหม่ ตนฟันธงไม่ได้ว่าผิดหรือถูก เพราะไม่เคยมี แต่อยากลองโดยให้ชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสีย ให้เลือกทางที่ดีที่สุด และมาหาทางป้องกันกันที่กฎหมายลูก ที่การตีความ การปลูกจิตสำนึก เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 บ้านเมืองเราตกหลุมพราง อ่านแล้วไม่เข้าใจว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ หรือให้ทำอย่างไร ซึ่งมีโจทย์อย่างนี้เป็นร้อยข้อ อีกทั้งตั้งแต่มีการชุมนุมจนกระทั่งเกิด คสช. มีความชุลมุนที่มีสาเหตุมาจากความไม่แน่ใจว่าจะหาทางออกให้ประเทศอย่างไร หรือคิดออกแต่ไม่แน่ใจว่าทางออกผิดกฎหมายหรือไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อไม่แน่ใจจึงไม่มีใครกล้าเดิน

ทั้งนี้ ตัวอย่างสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยุบสภาจนกระทั่งมีกฤษฎีกายุบสภา ก็ยังมีเสียงเรียกร้องว่าให้ลาออก แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่าลาออกไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญบังคับไว้ว่าให้รักษาการ และพูดประโยคคลาสสิกว่า ถ้าออกได้แล้วไม่ผิดก็ยินดีทำ ซึ่งตนไม่รู้ว่าได้หรือไม่ได้ แต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ยุบสภาเดือน ก.พ. 2549 ตนเป็นรองนายกฯ รักษาการ และต่อมายื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2549 ไม่มีใครบอกว่าออกไม่ได้ และก่อนหน้านั้นก็มีคนออกมาแล้ว แต่ตรงนี้ต่างกับการที่นายกฯ ลาออก จึงเกิดคำถามตามมาว่าได้หรือไม่ได้ เมื่อไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายก็เสี่ยงไปหมดเพราะไม่มีใครกล้าตอบได้

ที่กล่าวมาเป็นโจทย์มานานและแก้ไม่ตก จึงอยากฝากกรรมาธิกายกร่างรัฐธรรมนูญ ไปหาทางออกของโจทย์ที่เป็นปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมีแนวทางอยู่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 5 และ 6 ถ้าเรื่องใดที่เกิดจาก สนช. ให้จบที่ สนช. ส่วนเรื่องที่มีคำถามว่าเรื่องใดรัฐบาลทำได้หรือไม่ได้ ให้องค์กรเหล่านั้นส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าให้ไปลองทำมาก่อน แล้วถึงจะส่งเรื่องมาให้มาช่วยตีความเหมือนก่อนหน้านี้ เช่น หาก ครม. สงสัยว่าใช้มาตรา 7 ได้หรือไม่ ให้ออกเป็นมติ ครม. แล้วส่งไปตีความได้เลย ดังนั้นรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเขียนให้ละเอียดรอบคอบ เพราะจะเป็นทางหนึ่งในการสกัดกั้นความไม่ปรองดอง

“ผมเป็นห่วงว่าจะเขียนอะไรในรัฐธรรมนูญต้องรอบคอบ หากผิดใจกันแล้วต้องมาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่คุ้ม ให้ไปออกกฎหมายลูกแล้วไปแก้ที่กฎหมายลูก เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีควรจะสั้น ไม่ควรเขียนยาว หากมีปัญหาควรเปิดให้ศาลตัดสินโดยควบคุมกระบวนการศาลให้หาคนที่ดี และควรยืดหยุ่นไม่มัดว่าแก้ไม่ได้หรือฉีกทิ้ง” นายวิษณุ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น