สะเก็ดไฟ
เห็นโฉมหน้าโฉมตา 77 อรหันต์ คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กันแล้ว หลังจากมีการประกาศรายชื่อกันออกมาอย่างเป็นทางการ ถือว่าไม่ได้สร้างความเซอร์ไพรส์หรือตื่นตระหนกตกใจกันสักเท่าไหร่
ด้วยเพราะพอจะเป็นอะไรที่น่าจะคาดเดากันได้ว่าท้ายสุดสุดท้ายจะออกมาทรวดทรงนี้โดยเฉพาะบรรดาคณะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่พาเหรดกันเดินเข้ามาคอนโทรลเลือกตัวว่าที่สมาชิก สปช.กันด้วยตัวเองเลย
สาเหตุที่ต้องลงมาควบคุมกำกับการแสดงเองก็ด้วยเพราะตำแหน่ง สปช.ในยุคที่บ้านเมืองกำลังจะเข้าสู่กันสังคายนากันครั้งใหญ่จำเป็นจะต้องได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ปราดเปรื่อง ที่สำคัญจะต้องรู้เป้าหมายปลายทางของ คสช.เป็นอย่างดีว่าต้องการให้หน้าตาประเทศในอุดมคติเป็นอย่างไร ไม่ใช่ตาสีตาสาเข้ามานั่งขัดตาทัพกันให้ครบองค์ประกอบไปวันๆ อันจะทำให้เสียการใหญ่ไปได้
เนื่องจากคณะกรรมการสรรหาสมาชิก สปช.ทั้ง 11 ด้านถือเป็นด่านสำคัญที่จะคัดกรองบุคคลเข้ามานั่งใน สปช. ถึง 173 คนจากทั้งหมด 250 ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด นั่นเท่ากับว่าบรรดาบุคคลที่ฝ่าด่าน 77 อรหันต์เข้าไปได้จะกุมเสียงข้างมากใน สปช. ชนิดที่สามารถกำหนดทิศทางกันได้เลยทีเดียว
อย่าลืมว่างานของสปช.ในยุคที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นดังรัฏฐาธิปัตย์มีบทบาทอย่างสูง มากกว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีการแต่งตั้งกันไปก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำเพราะต้องแบกรับโปรเจ็กต์ยักษ์อันเป็นเสมือนกล่องดวงใจของ คสช.ก็ว่าได้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูประเทศครั้งมโหฬารถึง 11 ด้าน อันประกอบด้วย ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน สังคม และอื่นๆ
รวมไปถึงการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2558 หรือรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอันเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ ที่มีคนคาดหวังกันว่า จะออกแบบกันได้แบบไม่มีช่องโหว่เข้ากับยุคสมัย และทันเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมืองไทยซึ่ง สปช.สามารถเสนอชื่อบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งในโควต้าที่สูงที่สุดถึง 20 คน จากทั้งหมด 36 คนซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด
ดังนั้น คนที่จะฝ่าด่านเข้าไปนั่งยกมือมีสิทธิ์มีเสียงจึงต้องจำเป็นต้องได้คนที่สามารถไว้วางใจได้
เมื่อออกมาอีหรอบนี้ คสช.จึงไม่สามารถปฏิเสธได้เต็มปากเสียทีเดียวว่าเจาะจงเลือกคณะกรรมการสรรหาสมาชิก สปช. 11 ด้านเข้ามากลั่นกรองคนโดยตรง เพราะ คสช.ก็คงระแวงเหมือนกันว่า หากตั้งคนนอกเข้ามาอาจไปเลือกเฟ้นเอาบุคคลที่มีแนวคิดไม่ตรงกับรูปแบบงานที่จะเดินจนอาจเกิดปรากฏการณ์แตกแถว บิดเบี้ยวจากที่ตั้งเป้าเอาไว้ สุดท้ายเละตุ้มเป๊ะ
อย่างไรก็ตาม หลังจากได้ตัวคณะกรรมการสรรหาสมาชิก สปช.ทั้ง 11 ด้านและคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัครแล้วในวันที่ 14 ส.ค.นี้ ช็อตต่อไปที่จะมองคือ รายชื่อบุคคลที่ถูกองค์กรต่างๆ เสนอชื่อเข้ามาแห่งละ 2 คนว่า จะมีใครที่น่าตื่นตาตื่นใจบ้าง หรือจะเป็นพวกหน้าเดิมๆ ที่เดินเตร่ไปเตร่มาอยู่บนสังเวียนการเมือง
แต่ที่แน่ๆ จะไม่มีสองพรรคใหญ่คู่อาฆาตหลังออกมาตีฆ้องร้องป่าวปฏิเสธไม่ขอร่วมสังฆกรรมกันแล้ว ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ พ่วงด้วยอีกหนึ่งพรรคขนาดกลางของ “ปลาไหลตัวพ่อ” นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี
โดยบรรดาพรรคขนาดบิ๊กเบิ้มเหล่านี้อ้างเหตุผลสวยหรูว่าเป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์ความขัดแย้งของบ้านเมืองจึงไม่อยากเอาตัวมาให้เกิดข้อครหากับ คสช.แต่เหตุผลจริงๆ จะเป็นดังปากว่าหรือไม่ก็มิอาจซอกแซกได้
เพราะบางฝ่ายก็เหล่ว่าเป็นเพราะบรรดาพรรคการเมืองเหล่านี้กลัวติดกับดักลงเล่นการเมืองไม่ได้หลังเข้าร่วมสังฆกรรมจึงไม่เสี่ยง บ้างก็มองว่าเป็นเพราะนักการเมืองเหล่านี้ไม่อยากเข้ามาผูกมัดเพราะจ้องจะแก้หรือชำเราในสิ่งที่ สปช.ทำเอาไว้ ซึ่งก็แล้วแต่ใครจะมโนอย่างไร
แต่การคัดสรรบุคคลเข้าไปเป็นสมาชิก สปช.ในครั้งนี้ถูกจับจ้องอย่างมากว่า สุดท้ายแล้วหน้าตาของทีมงานปฏิรูปประเทศไทยจะออกมาเยี่ยมหรือยี้หลังก่อนหน้านี้ สนช. อันเป็นหนึ่งในแม่น้ำ 5 สายของนายวิษณุเครืองาม ที่ปรึกษา คสช.ฝ่ายกฎหมาย คลอดออกมาจนถูกใครหลายคนแซวว่าเป็นสภากลาโหมดีๆ นี่เอง เพราะเต็มไปด้วยบรรดาขุนทหาร นายพล อดีตแม่ทัพ ร้อยกว่าชีวิต รอบนี้หลายฝ่ายจึงออกอาการหวาดระแวงกลัวหนังม้วนเดิมฉายซ้ำกลายเป็นสภากลาโหมสาขา 2
ยิ่งช่วงนี้มีข่าวลือออกมาหนาหูซึ่งน่าจะมีเค้ามูลเรื่องจริงบ้าง ว่าจะมีบรรดาอดีต ส.ว.ที่ซดแห้วกระป๋องพลาดเก้าอี้ใน สนช.มาเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิก สปช.กันพรึ่บพรั่บ โดยบางกระแสบอกว่ามีการสัญญาใจกันเอาไว้แล้วด้วยว่าจะใช้พื้นที่ สปช.เป็นพื้นที่เยียวยาคนอกหักตรงนี้ยิ่งต้องจับตาว่าจะชัวร์หรือมั่วนิ่ม
แต่หากออกมาให้ยลโฉมแล้วเป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้งานนี้โดนติฉินนินทาแน่ว่า มีขบวนการล็อกสเป็ก เว้นที่นั่งเอาไว้ให้มิวายถูกพวกเอาไปขย่มโจมตีกันแบเบอร์ อันจะส่งผลกระทบต่อบทสรุปของการปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะโดนตั้งแง่อีกว่าเป็นผลไม้พิษที่พวกเดียวกันเองร่างขึ้น ไม่คละเคล้า หลากหลาย เหมือนที่ปากพูด ยิ่งบรรดานักการเมืองพรรคใหญ่ชิงแห่ไม่ร่วมสังฆกรรมกันข้อหานี้โดนถาโถมแน่ๆ
ดังนั้นผู้มีอำนาจจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักความหลากหลาย ทุกพวกทุกหมู่ มีสารพัดสีไม่เอียงกระเท่เร่หรือเทน้ำหนักไปที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเหมือนกับ สนช. ที่สำคัญจะต้องยึดโยงกับประชาชน โดยมีตัวแทนที่เป็นตัวแทนจริงๆ จากประชาชนเข้ามามีสิทธิ์มีเสียงได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ต้องไม่ทำให้ สปช.กลายมาเป็นสถานที่พักฟื้น พักใจ ของบรรดาคนอกหักจากเก้าอี้รัฐมนตรีหรือเก้าอี้สมาชิก สนช.
เพราะนาทีนี้ในสายตาประชาชนค่อนข้างให้ความหวังกับการปฏิบัติหน้าที่ของ สปช.เป็นอย่างมากว่าจะควบพาประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเหมือนกับที่ “บิ๊กตู่” พูดย้ำหลายครั้งหลายครา