xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสั่งคืนตำแหน่งคณบดีคณะแพทย์ จุฬาฯ ให้ “นพ.ประสงค์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.พ.ประสงค์ ศิริวิริยะกุล (ภาพจากแฟ้ม)
“หมอโศภณ” หลุดเก้าอี้คณบดีแพทย์ จุฬาฯ หลังศาลปกครองกลางสั่งคืนตำแหน่งให้ “นพ.ประสงค์ ศิริวิริยะกุล” ชี้กระบวนการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาชอบด้วยกฎหมาย ระบุชัดการใช้สิทธิในสองสถานะของ “นพ.สมศักดิ์” หนึ่งในกรรมการสรรหาไม่ถือว่าเข้าข่ายใช้อำนาจทางปกครองที่มีสภาพร้ายแรง ทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง แต่เป็นการใช้สิทธิและเสนอความเห็นที่กฎหมายกำหนด

วันนี้ (4 ต.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาสั่งเพิกถอนมติของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 735 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 54 ที่ไม่พิจารณาแต่งตั้ง นพ.ประสงค์ ศิริวิริยะกุล ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่คณะกรรมการสรรหาชุดแรกเสนอ และให้เพิกถอนมติของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาคณบดีแพทยศาสตร์ชุดใหม่ รวมถึงเพิกถอนกระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง นพ.โศภณ นภาธร ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ นับแต่วันที่ 30 มิ.ย. 54 โดยให้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการพิจารณาและแต่งตั้งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่คณะกรรมการสรรหาชุดแรกเสนอให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่ระเบียบและกฎหมายกำหนดภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก นพ.ประสงค์ ได้ยื่นฟ้องสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งแต่งตั้งโดยสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 735 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 54 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 2 กรณีดำเนินกระบวนการสรรหาคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนพ.ประสงค์ ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณบดี โดยคณะกรรมการสรรหาฯชุดแรก แต่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มิได้พิจารณารับรองให้ดำรงตำแหน่ง โดยแจ้งว่า นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการสรรหาขาดคุณสมบัติ และต่อมาสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาชุดใหม่ และมีคำสั่งแต่งตั้งให้ นพ.โศภณ นภาธร ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ นพ.ประสงค์ ยังเห็นว่าตนเองได้รับความเดือดร้อนเสียหายจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง

ส่วนที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพิจารณา คืนตำแหน่งคณบดีให้กับ นพ.ประสงค์ ระบุว่า ที่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอ้างเหตุไม่พิจารณาแต่งตั้ง นพ.ประสงค์ ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีแพทยศาสตร์ ตามที่คณะกรรมการสรรหาชุดแรกเสนอ เพราะ นพ.สุรศักดิ์ ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา ได้ใช้สิทธิลงคะแนนในการสรรหาคณบดี 2 ครั้ง คือ ในฐานะอาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ และในฐานะกรรมการสรรหา ทำให้เข้าข่ายเป็นเหตุให้มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาไม่เป็นกลางตามมาตรา 16 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 นั้น แต่จากข้อเท็จจริงพบว่า นพ.สุรศักดิ์ ได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนในการสรรหาคณบดีแพทยศาสตร์ในฐานะอาจารย์ในคณะ ต่อมาได้เข้าร่วมประชุมพิจารณาสรรหาคณบดีคณะแพทยศาสตร์นั้น การให้ความเห็นในฐานะอาจารย์คณะแพทย์เป็นเพียงการเสนอข้อมูลบุคคลผู้มีลักษณะเหมาะสม ซึ่งเป็นการให้ความเห็นตามระบบการเปิดโอกาสเพื่อรับฟังความคิดเห็น และการให้เสนอชื่อตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ. 2553 กำหนด โดยมิได้มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด

ส่วนการเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทย์ต่อสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะกรรมการสรรหานั้น เป็นการใช้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อเสนอต่อสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการพิจารณาทางปกครองตามมาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 การดำเนินการทั้งสองสถานะดังกล่าวจึงไม่ใช่การพิจารณาในแต่ละฐานะที่ขัดแย้งหรือเป็นการแสดงความเห็นในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุคคลใด ประกอบกับข้อ 5(5) ของข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ. 2553 ก็มีความประสงค์กำหนดห้ามเฉพาะคณบดีคนก่อนเท่านั้นที่ไม่ให้มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหา การที่ นพ.สุรศักดิ์ ได้ใช้สิทธิเสนอรายชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมในฐานะอาจารย์ ซึ่งโดยสภาพมีลักษณะเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรภายในแล้วนำเสนอรายชื่อบุคคลในฐานะกรรมการสรรหาต่อสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงไม่ใช่เหตุอันมีสภาพร้ายแรงที่จะกระทบต่อความเป็นกลางในการทำหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง ดังนั้น การที่ที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งที่ 735 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 54 ไม่พิจารณาแต่งตั้ง นพ.ประสงค์ ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่คณะกรรมการสรรหาชุดเสนอด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผลให้มติของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาชุดใหม่ รวมถึงการแต่งตั้ง นพ.โศภณ ที่มาจากการสรรหาใหม่ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

ด้าน นพ.ประสงค์ กล่าวภายหลังไปฟังคำสั่งศาลปกครองว่า หลังจากนี้ทางศาลปกครองคงส่งคำสั่งไปที่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ้าไม่มีการอุทธรณ์คงต้องปฏิบัติตาม โดยศาลฯให้ปฏิบัติภายใน 60 วัน

“จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องการแพ้ชนะ เพราะผมก็รักจุฬาฯไม่ต้องการให้จุฬาฯเสียชื่อ แต่ต้องการให้เป็นบรรทัดฐาน เพราะการฟ้องศาลปกครองเราไม่ต้องการทำร้ายใคร เพียงแต่มีคนบอกว่าหลายอย่างที่มีการดำเนินการไม่ถูกต้อง ส่วนตัวขอเก็บเรื่องนี้ไว้พิจารณาก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่ ตอนนี้อยากให้มีการสมานฉันท์ช่วยกันทำงานจะดีกว่า” นพ.ประสงค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น