xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.ระบุสรรหามิชอบ "โศภณ"หลุดเก้าอี้คณบดีแพทย์จุฬาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา สั่งเพิกถอนมติของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 735 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 54 ที่ไม่พิจารณาแต่งตั้ง นพ.ประสงค์ ศิริวิริยะกุล ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่คณะกรรมการสรรหาชุดแรกเสนอ และให้เพิกถอนมติของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาคณบดีแพทยศาสตร์ชุดใหม่ รวมถึงเพิกถอนกระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง นพ.โศภณ นภาธร ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ นับแต่วันที่ 30 มิ.ย. 54 โดยให้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการพิจารณา และแต่งตั้งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่คณะกรรมการสรรหาชุดแรก เสนอให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่ระเบียบและกฎหมายกำหนดภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก นพ.ประสงค์ได้ยื่นฟ้อง สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งแต่งตั้งโดยสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 735 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 54 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 กรณีดำเนินกระบวนการสรรหาคณบดีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง นพ.ประสงค์ ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณบดี โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ชุดแรก แต่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มิได้พิจารณารับรองให้ดำรงตำแหน่ง โดยแจ้งว่า นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล ซึ่งเป็นหนึ่งใน กรรมการสรรหาขาดคุณสมบัติ และต่อมาสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาชุดใหม่ และมีคำสั่งแต่งตั้งให้ นพ.โศภณ นภาธร ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ นพ.ประสงค์ ยังเห็นว่าตนเองได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง
ส่วนที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิจารณาคืนตำแหน่งคณบดีให้กับ นพ.ประสงค์ ระบุว่า ที่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ้างเหตุไม่พิจารณาแต่งตั้ง นพ.ประสงค์ ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีแพทยศาสตร์ ตามที่คณะกรรมการสรรหาชุดแรกเสนอ เพราะนพ.สุรศักดิ์ ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา ได้ใช้สิทธิลงคะแนนในการสรรหาคณบดี 2 ครั้ง คือในฐานะอาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ และในฐานะกรรมการสรรหา ทำให้เข้าข่ายเป็นเหตุให้มีสภาพร้ายแรง อันอาจทำให้การพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาไม่เป็นกลางตาม มาตรา 16 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 นั้น
แต่จากข้อเท็จจริงพบว่า นพ.สุรศักดิ์ ได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนในการสรรหาคณบดีแพทยศาสตร์ในฐานะอาจารย์ในคณะ ต่อมาได้เข้าร่วมประชุมพิจารณาสรรหาคณบดีคณะแพทยศาสตร์นั้น การให้ความเห็นในฐานะอาจารย์คณะแพทย์ เป็นเพียงการเสนอข้อมูลบุคคลผู้มีลักษณะเหมาะสม ซึ่งเป็นการให้ความเห็นตามระบบการเปิดโอกาสเพื่อรับฟังความคิดเห็น และการให้เสนอชื่อตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ. 2553 กำหนด โดยมิได้มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด
ส่วนการเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทย์ ต่อสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะกรรมการสรรหานั้น เป็นการใช้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อเสนอต่อสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการพิจารณาทางปกครองตาม มาตรา 5 พ.ร.บ. วิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง 2539 การดำเนินการทั้งสองสถานะดังกล่าวจึงไม่ใช่การพิจารณาในแต่ละฐานะที่ขัดแย้งหรือเป็นการแสดงความเห็นในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุคคลใด ประกอบกับข้อ 5 (5) ของข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ. 2553 ก็มีความประสงค์กำหนดห้ามเฉพาะคณบดีคนก่อนเท่านั้นที่ไม่ให้มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหา
การที่ นพ.สุรศักดิ์ ได้ใช้สิทธิเสนอรายชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมในฐานะอาจารย์ ซึ่งโดยสภาพมีลักษณะเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรภายใน แล้วนำเสนอรายชื่อบุคคลในฐานะกรรมการสรรหาต่อสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงไม่ใช่เหตุอันมีสภาพร้ายแรงที่จะกระทบต่อความเป็นกลางในการทำหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการ ที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง
ดังนั้น การที่ที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งที่ 735 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 54 ไม่พิจารณาแต่งตั้ง นพ.ประสงค์ ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่คณะกรรมการสรรหาชุดแรกเสนอด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผลให้มติของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาชุดใหม่ รวมถึงการแต่งตั้ง นพ.โศภณ ที่มาจากการสรรหาใหม่ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ด้านนพ.ประสงค์ กล่าวภายหลังไปฟังคำสั่งศาลปกครองว่า หลังจากนี้ทางศาลปกครอง คงส่งคำสั่งไปที่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ้าไม่มีการอุทธรณ์ คงต้องปฏิบัติตาม โดยศาลฯ ให้ปฏิบัติภายใน 60 วัน
"จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องการแพ้ชนะ เพราะผมก็รักจุฬาฯ ไม่ต้องการให้จุฬาฯเสียชื่อ แต่ต้องการให้เป็นบรรทัดฐาน เพราะการฟ้องศาลปกครอง เราไม่ต้องการทำร้ายใคร เพียงแต่มีคนบอกว่าหลายอย่างที่มีการดำเนินการไม่ถูกต้อง ส่วนตัวขอเก็บเรื่องนี้ไว้พิจารณาก่อน ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หรือไม่ ตอนนี้อยากให้มีการสมานฉันท์ ช่วยกันทำงานจะดีกว่า" นพ.ประสงค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น