xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ “บิ๊กตู่” ใช้ดุลพินิจส่วนตัว คืนตำแหน่ง “พัชรวาท”- ศาล ปค.ไม่บังคับตามก้น ก.ตร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. (ภาพจากแฟ้ม)
ชี้ “ประยุทธ์” ยกโทษปลด “พัชรวาท” เป็นการใช้ดุลพินิจในฐานะนายกฯ ไม่ใช่คำสั่งศาลปกครองค้ำคอให้คืนตำแหน่ง ระบุคำพิพากษาแค่เห็นว่า นายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จึงสั่งให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อมติ ก.ตร. ภายใน 60 วัน ไม่ได้บังคับนายกฯ ต้องปฏิบัติตามมติ ก.ตร.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งฉบับที่ 93/2557 ยกโทษปลดออกจากราชการให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยอ้างว่าศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 99/2554 ลงวันที่ 28 ก.พ. 57 ให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับแจ้งมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่ให้สั่งยกโทษปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ออกจากราชการ ซึ่งหากย้อนกลับไปดูคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีนี้นั้น แท้จริงคำพิพากษาได้สั่งให้นายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดีในลักษณะให้พิจารณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในเรื่องที่ได้รับแจ้งมติของ ก.ตร. กรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาท ผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

ในเนื้อหาของคำพิพากษาได้ระบุข้อเท็จจริงว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับแจ้งมติ ก.ตร. ในการประชุม 17/2552 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2552 ว่า พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง อย่างที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลว่ามีความผิดวินัยร้ายแรงฐานสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปราบปราม ผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่กำลังชุมนุมในพื้นที่บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 และให้สั่งยกโทษให้แล้ว ได้มีการสอบถามความเห็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึง 3 ครั้ง ในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งในครั้งสุดท้ายตามบันทึกเรื่องเสร็จที่ 497/2553 ลงวันที่ 18 พ.ย. 53 นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับและเสนอว่า การปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีนี้สามารถทำได้ 2 ทาง คือ สั่งการตามมติ ก.ตร. หรือบันทึกโต้แย้งมติ ก.ตร. เพื่อให้ ก.ตร. พิจารณาทบทวนใหม่ ซึ่งกรณีนี้มีเหตุผลความจำเป็นที่ยอมรับได้ว่ามีปัญหาในเชิงข้อกฎหมายที่ต้องหาความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับหนังสือความเห็นจากกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว แทนที่จะพิจารณาตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะระยะเวลานับแต่ที่นายกฯ ได้รับแจ้งมติ ก.ตร. ให้ยกโทษปลด พล.ต.อ.พัชรวาทเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 53 จนถึงวันที่กฤษฎีกามีความเห็นเสนอครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 53 ก็เนิ่นนานมากแล้วสมควรกับการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายได้แล้ว แต่นายกรัฐมนตรีก็กลับไม่ดำเนินการ ยังไปถามความเห็นของ ป.ป.ช. อีก ศาลจึงเห็นว่านายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้ล่าช้าเกินสมควร และมีคำพิพากษาให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่ได้รับแจ้งมติ ก.ตร. กรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาท ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

แต่ปรากฏว่าคดีนี้เมื่อศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในวันที่ 28 ก.พ. 57 แล้ว นายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายใน 30 วันคือไม่อุทธรณ์ภายในต้นเดือน เม.ย. 57 จึงทำให้คดีถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง คสช. ดังกล่าว ในฐานะผู้ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี จึงน่าจะเป็นกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วว่าสมควรยกโทษปลดออกให้กับ พล.ต.อ.พัชรวาท ตามที่ ก.ตร. มีมติ ไม่ใช่เป็นกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาสั่งให้นายกฯ ต้องปฏิบัติตามมติ ก.ตร. ที่ให้ยกโทษปลดออก พล.ต.อ.พัชรวาท

อ่านข่าวย้อนหลัง พร้อมรายละเอียดคำพิพากษาศาลปกครอง
กำลังโหลดความคิดเห็น