ศาลปกครองยกคำร้องบริษัทเหล้า ไฟเขียวติดป้ายเตือนใจ 5 ข้อความ พิษภัยบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย หลังผลวิจัยแพทย์ยืนยันดื่มมากเป็นมะเร็ง-เซ็กซ์เสื่อม
วันนี้ (30 ก.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ บริษัท สยาม ไวเนอรี่ จำกัด, บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ที เอ พี เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท เพอร์นอต ริคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บาคาร์ดี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ฟ้องคดีที่ 1-5 ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มสุรา เบียร์ ไวน์ ยี่ห้อต่างๆ ได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รมว.สาธารณสุข และนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกฎกระทรวงที่กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ให้มีการแสดงข้อความคำเตือน ภาพประกอบ ภาพสัญลักษณ์ พิษภัยของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนสินค้า พ.ศ. 2553 เพราะเห็นว่าการกำหนดข้อความและภาพแสดงในลักษณะเป็นถ้อยคำที่กล่าวหาหรือใส่ร้ายต่อสินค้า ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
ส่วนที่ศาลยกฟ้อง ระบุเหตุผลว่า การที่ประกาศและกฎกระทรวงดังกล่าวระบุให้สินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องแสดงข้อความและภาพอย่างใดอย่างหนึ่งอันประกอบด้วย 1. สุราเป็นเหตุให้ก่อมะเร็งได้ 2. สุราเป็นเหตุให้เซ็กซ์เสื่อม 3. สุราเป็นเหตุให้พิการและเสียชีวิตได้ 4. สุราเป็นเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรมได้ 5. สุราทำร้ายครอบครัวและทำลายสังคมได้ นั้น ศาลเห็นว่า ข้อความคำเตือนดังกล่าวเป็นลักษณะที่ชี้ให้เห็นว่าสุราเป็นเหตุให้เกิดกรณีต่างๆ ได้ทั้ง 5 กรณี ไม่ได้มีความหมายชี้เฉพาะเจาะจงว่าเมื่อดื่มสุราแล้ว จะต้องเกิดเหตุทั้ง 5 กรณีแต่อย่างใด
สอดคล้องกับความเห็นแพทยสภาที่ชี้แจงต่อศาลว่า ผลการศึกษาพบว่า คนที่ดื่มสุรามีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น และราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ก็ให้การต่อศาลว่าสุราเป็นเหตุให้เซ็กส์เสื่อมได้จริง ส่วนข้อความที่ว่าสุราเป็นเหตุให้พิการและเสียชีวิตได้ สุราเป็นเหตุให้ทะเลาะวิวาทและอาชญากรรมได้ และสุราทำร้ายครอบครัวทำลายสังคมได้ ก็เป็นข้อความที่รู้กันโดยทั่วไปว่า การดื่มสุรามากจนมึนเมาจะทำให้ไม่สามารถควบคุมสติสัมปชัญญะจนอาจก่อให้เกิดเหตุต่างๆ ดังกล่าวได้ ซึ่งการกำหนดข้อความในลักษณะดังกล่าวยังเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารความรู้ เพื่อให้ผู้ดื่มสุราตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ดื่มและสังคมโดยรวม สอดรับกับข้อยกเว้นให้โฆษณาได้ ตามมาตรา 32 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2552 ทั้งการโฆษณาดังกล่าวยังสอดคล้องกับเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่บัญญัติว่า โดยที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพครอบครัว อุบัติเหตุ และอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สมควรกำหนดมาตรการดังกล่าวในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มิได้บังคับให้ผู้ฟ้องคดีต้องแสดงข้อความคำเตือนทั้ง 5 ข้อความพร้อมกัน เพียงแต่ให้แสดงข้อความใดข้อความหนึ่งเท่านั้น ประกาศดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าประกาศและกฎกระทรวงดังกล่าวออกโดยไม่มีอำนาจและเป็นการจำกัดสิทธิในทรัพย์สินเสรีภาพในการประกอบกิจการ และการแข่งขันโดยเสรีเป็นธรรมนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 50 ได้ยอมให้มีการบัญญัติกฎหมายที่มีผลในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองได้ในบางกรณี ซึ่งเมื่อพิจารณาประกาศว่าด้วยรูปแบบและวิธีการแสดงข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2553 ที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออก เห็นว่า ประกาศดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การคุ้มครองผู้บริโภค หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 45 และ 43 บัญญัติให้ทำได้ ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 จึงไม่อาจรับฟังได้