ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เผยกำหนดการหลังโปรดเกล้าฯ สปช. รับไม่รู้ใครจะเป็นประธาน เชื่อต้องอาวุโส เป็นกลาง ฟังความเห็นผู้อื่น พร้อมสนับสนุนงานเต็มที่ แย้มคุณสมบัติ สนช. นั่ง กมธ.ยกร่าง รธน. มีเวลา มีความรู้ ไม่มีส่วนเข้าสู่อำนาจ
วันนี้ (28 ก.ย.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พิจารณาเลือกบุคคลที่ผ่านการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ครบ 250 คนเสร็จเรียบร้อยและอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง ว่า ภายหลังจากที่ สปช. ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเรียบร้อย จะต้องจัดประชุมเพื่อเลือกประธานและรองประธาน สปช. โดยบุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่งประธาน สปช. นั้นส่วนตัวไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะเป็นเรื่องที่สมาชิก สปช. จะเป็นผู้ลงมติ อย่างไรก็ตามตนมองว่าบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นประธาน สปช. ต้องเป็นผู้อาวุโสพอสมควร ได้รับการยอมรับของสมาชิกทั้งจากประวัติการทำงาน มีความเป็นกลาง ยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่นและพร้อมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง นอกจากนั้นแล้วต้องยึดความถูกต้องของกติกา ไม่ใช้เผด็จการหรือยึดข้อบังคับ,กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดเกินไป ต้องมีความประณีประนอม
นายพรเพชร กล่าวด้วยว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมการสนับสนุนงานของ สปช. ตนพร้อมอำนวยความสะดวกเต็มที่ ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการประชุมกับฝ่ายบริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องเป็นผู้สนับสนุนงาน สปช. นั้น ตนได้ให้กรอบการทำงานเบื้องต้นว่าสำหรับการทำงานของ สปช. ซึ่งมีกรอบการทำงานที่กว้างขวาง อาทิ การรับฟังความคิดเห็น ดังนั้น การทำงานไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เฉพาะรัฐสภาเท่านั้น อาจไปใช้ห้องประชุมของหน่วยราชการภายนอก หรือในต่างจังหวัดเพื่อดำเนินงานได้ นอกจากนั้นแล้ว การใช้ห้องประชุมกรรมาธิการที่อาจไม่พอเพียง เนื่องจากกรรมาธิการของ สนช. ต้องใช้ห้องประชุมด้วยนั้น ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้จัดเตรียมห้องทำงานที่อาคารภายนอก เช่น อาคารสุขประพฤติ รับรองไว้ ส่วนห้องประชุมรัฐสภานั้น เบื้องต้น สนช. กำหนดใช้ห้องเพียง 2 วัน คือ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ดังนั้น อีก 3 วันที่เหลือในสัปดาห์ สปช. สามารถใช้ได้ หรือหามีงานที่ต้องเร่งดำเนินการ วันเสาร์และอาทิตย์สามารถใช้ประชุมได้เช่นกัน ส่วนเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ นั้นสามารถเบิกจ่ายได้เต็มจำนวน
นายพรเพชร ยังกล่าวถึงการคัดเลือกสมาชิก สนช. จำนวน 5 คน เพื่อเข้าไปทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ได้ระบุกับสมาชิกถึงสเปกของบุคคลที่จะไปทำหน้าที่ดังกล่าว ว่า 1. ต้องมีเวลาอย่างแท้จริง เพราะงานยกร่างรัฐธรรมนูญต้องทำทุกวัน 2. ต้องมีความรู้ และประสบการณ์ด้านสังคมศาสตร์, รัฐศาสตร์, นิติศาสตร์ และด้านต่างๆ 3. ต้องไม่เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องกับการเข้าสู่อำนาจ หรือการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ บุคคลที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้จำกัดเฉพาะบุคคลที่เคยร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน อาจจะเป็นคนหน้าใหม่ก็ได้ แต่คนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ
นายพรเพชร กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากที่ สปช. ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการและเสร็จสิ้นการประชุมนัดแรกแล้วตนจะนัดหมาย สนช. ให้หารือเรื่องดังกล่าว เบื้องต้นการส่งรายชื่อนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช.
นอกจากนี้ นายพรเพชร ยังกล่าวถึงรายชื่อสมาชิกสปช. ที่ปรากฎผ่านสื่อว่า ตนยังไม่เห็นรายชื่อดังกล่าว และไม่ทราบว่ามีใครที่ได้เป็น สปช.บ้าง ซึ่งตนทราบเฉพาะ 50 คน ที่ตนได้คัดเลือกในด้านกฎหมายและกระการยุติธรรมเท่านั้น และเห็นว่าหาก สปช. มีความหลากหลายก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ส่วนการที่นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ อดีต ส.ว.ยโสธร และผู้เข้ารับการสรรหา สปช.จ.ยโสธร จะยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ออกคำสั่งคุ้มครองชะลอการประกาศรายชื่อ สปช.ในจังหวัดที่มีปัญหานั้น ก็เป็นสิทธิที่สามารถยื่นเรื่องได้ แต่ต้องดูว่าศาลปกครองมีอำนาจที่จะรับเรื่องนี้ไว้ตามกฎหมายได้หรือไม่ ซึ่งตนไม่อยากแสดงความเห็นเรื่องนี้ เพราะต่างคนต่างความคิด