xs
xsm
sm
md
lg

ประยุทธ์เมินเสียงค้าน เร่งทูลเกล้าสปช. ลั่นแก้ไฟใต้ใน1ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ประยุทธ์"ลั่นแก้ปัญหาภาคใต้จบใน 1 ปี ก่อนเปิดเสรีอาเซียน ย้ำคัด สปช.ไม่มีล็อกสเปก ไม่ห่วงกรณีอดีต ส.ว.ยโสธร ร้องศาลฯ ยันทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอน ขณะที่ กกต.เปิดข้อกฎหมาย ชี้ ม.17 ของ พ.ร.ฎ.สรรหา สปช. ปิดช่องร้องศาล เหตุให้อำนาจหัวหน้า คสช. วินิจฉัยตัดสินปัญหา "พรเพชร" ชี้คุณสมบัติคนนั่ง ประธาน สปช. ต้องไม่เผด็จการ ยอมรับฟังคว่ามคิดเห็นที่แตกต่าง ด้าน "สุริยะใส" รับเลื่อนกิจกรรมเปิดตัวสถาบันปฏิรูปการเมือง หวั่นถูกมองเป็นพวกป่วน หนุนตั้งสภากระจก ระดม สปช.อกหัก ร่วมวงปฏิรูปคู่ขนาน

วานนี้ (27ก.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) เดินไปอำลาหน่วยทหารกองทัพภาคที่ 4 ค่ายวชิราวุธ อ.เมืองฯ จ.นครศรีธรรมราช ในโอกาสที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยมีกำหนดการเข้าสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระบรมรูปสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ภายในบริเวณกองทัพภาคที่ 4 ค่ายวชิราวุธ พร้อมทั้งมอบนโยบาย และกล่าวอำลากำลังพลกองทัพภาคที่ 4 โดยมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ว่าที่ผบ.ทบ. พล.อ.อัษรา เกิดผล เสนาธิการ ทบ.ร่วมเดินทางไปด้วย

ขณะที่ผู้บังคับบัญชาของกองทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้กำลังพลเตรียมพร้อมตกแต่งสถานที่ต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเต็มที่ แต่กำชับไม่ให้ขึ้นป้ายต้อนรับ เพื่อสนองนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ต้องการให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดการต้อนรับ

ลั่นแก้ปัญหา 3 จว.ใต้จบใน1 ปี

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปที่กองทัพภาคที่ 4 ว่า ไม่มีอะไรเน้นย้ำเป็นพิเศษ ทุกอย่างเป็นไปตามนโยบาย และยุทธศาสตร์ที่วางไว้ของคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และรัฐบาล ซึ่งจะฝากให้ผู้บังคับบัญชาคนปัจจุบัน และคนต่อไป ดูแลให้มีความเข้มข้นมากขึ้น

ส่วนสถานการณ์ปัญหาในภาคใต้นั้น อยากจะขอความร่วมมือสื่อมวลชนทุกแขนง อย่าใช้คำว่า "ขบวนการกับกลุ่มบุคคลที่ก่อความไม่สงบ" ในภาคใต้ เพราะเป็นเรื่องของบางบุคคลเท่านั้น และการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ เราจะต้องแก้ให้จบภายใน 1 ปี ก่อนที่จะเข้าสู่อาเซียน เนื่องจากเมื่อเข้าสู่อาเซียนแล้ว จะมีประเทศต่างๆ เดินทางเข้ามา แต่หากบ้านเมืองเรายังไม่สงบก็จะเป็นปัญหา

ในส่วนการดำเนินการนั้นเราจะเน้นเรื่องการพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติสุข ซึ่งตนได้มีการเสนอมาทุกรัฐบาลให้มีการปรับโครงสร้างในการแก้ปัญหาโดยเน้นเรื่องการพูดคุย ซึ่งการพูดคุยก็จะมีหลายกลุ่ม และตอนนี้การดำเนินการต่างๆ ก็เริ่มเข้าสู่ทิศทางที่ดี เรามี ศอ.บต.ที่รู้ปัญหาภาคใต้ และเราได้มีการตั้งแม่ทัพน้อยภาค 4 คือ พล.ท.กิตติ อินทสร เป็นส่วนหน้า ซึ่งตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับการดูแลปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะ

ยันไม่มีล็อกสเปก สปช.

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีความจำเป็นในการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพิ่มเติมอีก 28 คนว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ว่าต้องคัดเลือก สนช. ไม่เกิน 220 คน โดยเพียงแต่บรรจุให้ครบ 220 คนเท่านั้น เพื่อไปทำงาน เพราะมีกฎหมายหลายฉบับที่ยังติดค้างอยู่จำนวนมาก ที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันการทำงานของ สนช. มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการหลายคณะ ดังนั้นจะได้ไปเพิ่มจำนวนคนที่มีอยู่ ทำให้ครบถ้วนในการจัดตั้งอนุกรรมาธิการที่จะได้ไม่ซ้ำซ้อนกันมากนัก ในการพิจารณากฎหมาย

สำหรับกรณีที่นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ อดีตส.ว. ยโสธร ยังข้องใจการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยเฉพาะในระดับจังหวัดว่า ยังมีการล็อกสเปกหรือไม่ว่า ให้รอดูรายชื่อที่ออกมา มันจะล็อกอย่างไร ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้แล้วว่า ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 2 ตุลาคม ตามกำหนดการที่วางไว้เดิม และรายชื่อทั้งหมดก็ได้ดำเนินการมา 2 ทาง คือ รับสมัครโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. อยู่แล้ว ฉะนั้น กกต. ก็เป็นผู้ตรวจสอบทางกฎหมายว่า มีปัญหาอะไรหรือไม่ สำหรับบุคคลที่เข้ามาสมัครก็คัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และเป็นไปตามการคัดสรรของคณะกรรมการทุกคณะที่ดำเนินการมาตามลำดับโดยตลอด

ส่วนจะไปร้องที่ศาลปกครอง เพื่อให้ชะลอการพิจารณา สปช. นั้นพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ก็ไปร้อง ก็เป็นเรื่องของศาลปกครอง ถ้ามีปัญหาตรงไหน ก็ไปดำเนินการ หากคิดว่ามันไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ก็ดำเนินการไป ในส่วนเราต้องทำงานไปตามลำดับถ้า สปช. ดำเนินการยังไม่ได้ ก็ยังไม่ได้ ก็จบเท่านั้นเอง"

ส่วนจะต้องทบทวนรายชื่อหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทบทวนเรื่องอะไร ก็เป็นเรื่องของศาลปกครอง ศาลว่าอย่างไร ก็ต้องว่าตามศาล ซึ่งยืนยันว่าผ่านกระบวนการพิจารณารายชื่อทั้ง 250 คน จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ แน่นอน ไม่ได้มีอะไรเขียนไว้ว่าต้องรอ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันที่นายยุทธนา เปิดเผยข้อมูลว่า มีนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ที่มีสายสัมพันธ์กับทหารนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เขียนไว้ว่า เป็นวปอ. แล้วเป็นสปช.ไม่ได้

"แล้วทำไม นักศึกวปอ. เป็นไม่ได้หรือ เขาเขียนไว้ในคุณสมบัติข้อไหนว่าเป็นวปอ. เป็นหลักสูตรอะไรแล้วเป็นสปช.ไม่ได้ มีไหม ไปอ่านกฎหมายดู ไม่ทราบด้วยว่ามีเยอะ ผมไม่ได้สนใจ ไม่ได้เอาชื่อ วปอ. มาอ่าน ไม่ได้ดู ไม่ทราบ มีหรือ ข้อไหนที่เขียนว่า สปช. ต้องเป็น วปอ. หรือว่าไม่เป็น วปอ. ถ้าไม่มี ก็อย่ามาถามผมตรงนี้ ถามตรงอื่น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขอกัมพูชาส่งตัว"ตั้ง อาชีวะ"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงกรณีนาย ตั้ง อาชีวะผู้ต้องหาหนีคดีหมิ่นเบื้องสูง จะขอลี้ภัยในกัมพูชา ว่า ก็เป็นเรื่องของตั้ง อาชีวะ มาถามตนทำไม ส่วนเรื่องของตัวกลับมาดำเนินคดีขณะนี้กำลังประสานกับทางกัมพูชาอยู่ ส่วนจะส่งตัวมาหรือไม่ เมื่อไรนั้นก็ต้องขึ้นอยู่ทางกัมพูชา แต่จะได้ตัวกลับมาหรือไม่นั้น ต้องไปถามกัมพูชา

กกต.ชี้พ.ร.ฎ.สรรหาสปช.ปิดช่องร้องศาล

นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณี นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ อดีต ส.ว.ยโสธร เตรียมจะไปร้องศาลปกครองว่ามีการล็อกสเปก สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)โดยเฉพาะในระดับจังหวัดว่า สามารถยื่นได้ แต่ศาลปกครองอาจจะไม่สามารถสั่งให้ชะลอกระบวนการต่างๆได้ เพราะถ้าดู มาตรา 17 ของพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการสรรหาสปช. ที่ระบุว่ากรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเสนอชื่อหรือการสรรหา หรือมีปัญหาอื่นใดเกี่ยวกับการดำเนินการตามพ.ร.ฎ.นี้ ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วินิจฉัย และเมื่อได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของหัวหน้าคสช.แล้ว ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยพ.ร.ฎ.นี้ และกฎหมาย โดยมาตราดังกล่าวเป็นการปิดช่องโหว่ และคงรู้อยู่แล้วว่ากระบวนการสรรหาจะมีปัญหา จึงได้เขียนกฎหมายครอบคลุมไว้ และมาตรา 17 ก็สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง อีกทั้งในรัฐธรรมนูญก็ระบุว่า ให้คสช.เป็นผู้คัดเลือกอยู่แล้ว

ประธานสปช.ต้องไม่เผด็จการ

นายพรเพรช วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พิจารณาเลือกบุคคลที่ผ่านการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ครบ 250 คน เสร็จเรียบร้อย และอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งว่า ภายหลังจากที่สปช.ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเรียบร้อย จะต้องจัดประชุมเพื่อเลือกประธาน และรองประธานสปช. โดยบุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่งประธาน สปช. นั้นส่วนตัวไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะเป็นเรื่องที่สมาชิกสปช. จะเป็นผู้ลงมติ

อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นประธานสปช. ต้องเป็นผู้อาวุโสพอสมควร ได้รับการยอมรับของสมาชิกทั้งจากประวัติการทำงาน มีความเป็นกลาง ยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น และพร้อมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง นอกจากนั้นแล้วต้องยึดความถูกต้องของกติกา ไม่ใช้เผด็จการ หรือยึดข้อบังคับ , กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดเกินไป ต้องมีความประณีประนอม

นายพรเพชร กล่าวด้วยว่าสำหรับการเตรียมความพร้อมการสนับสนุนงานของ สปช. ตนพร้อมอำนวยความสะดวกเต็มที่ ทั้งนี้ในช่วงที่มีการประชุมกับฝ่ายบริหาร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องเป็นผู้สนับสนุนงานสปช. นั้น ตนได้ให้กรอบการทำงานเบื้องต้นว่า สำหรับการทำงานของสปช. ซึ่งมีกรอบการทำงานที่กว้างขวาง อาทิ การรับฟังความคิดเห็น ดังนั้นการทำงานไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เฉพาะรัฐสภาเท่านั้น อาจไปใช้ห้องประชุมของหน่วยราชการภายนอก หรือในต่างจังหวัด เพื่อดำเนินงานได้ นอกจากนั้นแล้ว การใช้ห้องประชุมกรรมาธิการฯ ที่อาจไม่พอเพียง เนื่องจากกรรมาธิการฯ ของสนช. ต้องใช้ห้องประชุมด้วยนั้น ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯได้จัดเตรียมห้องทำงานที่อาคารภายนอก เช่น อาคารสุขประพฤติ รับรองไว้ ส่วนห้องประชุมรัฐสภานั้น เบื้องต้น สนช. กำหนดใช้ห้องเพียง 2 วัน คือวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ดังนั้นอีก 3 วันที่เหลือในสัปดาห์ สปช.สามารถใช้ได้ หรือหากมีงานที่ต้องเร่งดำเนินการ วันเสาร์และอาทิตย์ สามารถใช้ประชุมได้เช่นกัน ส่วนเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ นั้นสามารถเบิกจ่ายได้เต็มจำนวน

นายพรเพชร ยังกล่าวถึงการคัดเลือกสมาชิก สนช.จำนวน 5 คน เพื่อเข้าไปทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ได้ระบุกับสมาชิกถึงสเปกของบุคคลที่จะไปทำหน้าที่ดังกล่าว ว่า 1. ต้องมีเวลาอย่างแท้จริง เพราะงานยกร่างรัฐธรรมนูญต้องทำทุกวัน 2. ต้องมีความรู้ และประสบการณ์ด้านสังคมศาสตร์, รัฐศาสตร์, นิติศาสตร์ และด้านต่างๆ 3. ต้องไม่เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย หรือเกี่ยวข้องกับการเข้าสู่อำนาจ หรือการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้บุคคลที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้จำกัดเฉพาะบุคคลที่เคยร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน อาจจะเป็นคนหน้าใหม่ก็ได้ แต่คนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ

นายพรเพชร กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากที่สปช.ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการและเสร็จสิ้นการประชุมนัดแรกแล้วตนจะนัดหมายสนช. ให้หารือเรื่องดังกล่าว เบื้องต้นการส่งรายชื่อนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช.

นายพรเพชร ยังกล่าวถึงรายชื่อสมาชิก สปช.ที่ปรากฏผ่านสื่อว่า ตนยังไม่เห็นรายชื่อดังกล่าว และไม่ทราบว่ามีใคร ที่ได้เป็น สปช.บ้าง ซึ่งตนทราบเฉพาะ 50 คน ที่ตนได้คัดเลือกในด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น และเห็นว่าหาก สปช. มีความหลากหลาย ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

หนุนตั้งสภากระจกคู่ขนานสปช.

นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ยอมรับว่า ได้เลื่อนกิจกรรมการเปิดตัวสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปปท.) ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28 ก.ย.57 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ออกไปเป็นต้นเดือน พ.ย. 57 เพราะบรรยากาศค่อนข้างชุลมุน และยังไม่นิ่งพอ ไม่อยากให้ถูกตีความผิดเพี้ยนเจตนารมย์ในการจัดงาน และเราพร้อมประสาน และแจ้งคสช. ทุกครั้ง ถ้าต้องมีการจัดงาน เพื่อทำข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทยคาดว่าในเดือนตุลาคม เมื่อได้ สปช.แล้วกระบวนการทำงานคงชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ภาคประชาสังคม ก็จะได้วางบทบาทถูก ว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมแบบไหนอย่างไร

"ผมเห็นด้วยที่ คสช.จะระดมคนที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช. มาตั้งเป็นสภากระจก รับฟังความเห็นจากสาธารณะทำงานคู่ขนานและหนุนเสริม สปช .อีกทางหนึ่งถือเป็นแนวคิดที่ดี อย่างน้อยๆคนเหล่านี้ก็ปวารนาตัวมาผลักดันเรื่องการปฏิรูปประเทศแล้ว" นายสุริยะใส กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น