ผ่าประเด็นร้อน
การปฏิรูประบบภาษีให้มีฐานผู้เสียภาษีที่กว้างขึ้น การจัดเก็บภาษีมรดก รวมทั้งการปฏิรูประบบพลังงานใหม่ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน รวมไปถึงสร้างรายได้ให้กับรัฐอย่างโปร่งใส ถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะที่ผ่านมาได้มีการประกาศเป็นสัญญาประชาคมแล้วว่าต้องทำให้ได้ อย่างน้อยต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปีภายใต้เงื่อนไขอายุของรัฐบาลเฉพาะกาลชุดปัจจุบัน
แน่นอนว่าทั้งสองเรื่องล้วนเป็นงานหิน หรือพูดแบบบ้านๆ ว่า “โคตรหิน” เลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะเรื่องการเก็บ “ภาษีมรดก” ที่มีความพยายามดำเนินการกันมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่เคยทำสำเร็จได้สักที เนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนรวยบางกลุ่ม ซึ่งก็รวมถึงพวกนักการเมืองที่มีอำนาจและบรรดาข้าราชการระดับสูงรวมหัวกันขัดขวาง จนไม่สามารถออกกฎหมายมาบังคับใช้ไดัสำเร็จสักที
แต่คราวนี้ทำท่าจะมีความหวังขึ้นมาอีก หลังจากมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกิดขึ้นมา และต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศว่าจะต้องมีการปฏิรูปทุกส่วน มีการประกาศว่าจะมีการปฏิรูประบบภาษีทั้งระบบ เพื่อให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐได้มากขึ้นทั่วถึงและเป็นธรรมมากขึ้นกว่าเดิม
นั่นคือการขยายฐานของผู้เสียภาษีให้กว้างขึ้น จากในปัจจุบันที่มีผู้เสียภาษีเพียงแค่ประมาณกว่าสองล้านรายเท่านั้นจากจำนวนคนไทยทั้งประเทศกว่า 60 ล้านคน โดยในจำนวนนี้จำนวนมากที่สุดประมาณสองล้านรายก็เป็นพวกมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีคือมีรายได้ 1.5 แสนบาทต่อปีขึ้นไป ที่เหลืออีกประมาณสองสามหมื่นคนก็เป็นพวก “เจ้าสัว” มหาเศรษฐี และพวกอภิมหาเศรษฐี ซึ่งรายได้จากภาษีของคนพวกนี้รวมกันก็ประมาณปีละสองแสนล้านบาทต่อปี
ส่วนที่เหลืออีกจำนวนเกือบ 60 ล้านคนไม่ต้องเสียภาษี อาจมีประเภทที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสีย รวมไปถึงพวกหลบเลี่ยงภาษี พวกที่ไม่เข้าระบบภาษี ซึ่งสองพวกหลังนี่ถือว่ามีจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน ความพยายามในการจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดก ที่มีความริเริ่มมานานหลายสิบปีแต่ไม่เคยสำเร็จสักที คราวนี้ในยุคที่รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำให้มีความหวังมากขึ้น และน่าจะทำได้ เพราะคนที่มีอำนาจมากที่สุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันหนักแน่นว่าต้องทำ
ล่าสุด รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองาม ได้ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าของร่างกฎหมายภาษีมรดกว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งได้พิจารณาคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 90 แล้ว และเมื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมหมาย ภาษี พิจารณาพิจารณาเรียบร้อยแล้วก็คงนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและเข้าสภานิติบัญญัติออกมาเป็นกฎหมาย แม้ว่าจะไม่มีการกำหนดระยะเวลา แต่เมื่อเป็นนโบายของรัฐบาลก็ต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด
โดยหลักการเบื้องต้นก็คือเก็บภาษีอัตราเดียวคือร้อยละ 10 กับผู้รับมรดกที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท
นอกจากนี้ สิ่งต้องพิจารณาควบคู่กันไปก็คือภาษีที่ดิน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็เปิดเผยว่า มีความพยายามในการปรับปรุงกฎหมายการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินที่ครอบครองโดยไม่ใช้ประโยชน์นาน 5-10 ก็จะยึดมาเป็นของรัฐ อาจนำมาจัดสรรให้กับผู้ที่ไร้ที่ทำกิน ซึ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าติดตามว่าจะทำได้ตามที่พูดหรือไม่
สำหรับงานหินอีกอย่างก็คือ การปฏิรูปการใช้พลังงานของประเทศทั้งระบบ ซึ่งนับวันมีประชาชนมีความตื่นตัวและเรียกร้องให้ คสช.และรัฐบาลเข้ามาจัดการให้เกิดความเป็นธรรม รวมไปถึงการปฏิรูปโครงสร้างของบริษัท ปตท.เสียใหม่ โดยให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนไทยทุกคน ไม่ใช่อ้างความเป็นรัฐวิสาหกิจ กิจการของรัฐไปสร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นเอกชนบางรายเท่านั้น และเรื่องนี้ถือว่าเป็นงานยาก เพราะมีเรื่องผลประโยชน์มหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่มีทางสำเร๋จลงได้เลยหากผู้นำไม่มีความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว และมีจิตใจเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ดังนั้น หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวทุกเรื่องดังกล่าวมาทั้งหมด ทั้งเรื่องการผลักดันกฎหมายภาษีมรดก การขยายฐานการจัดเก็บภาษีให้กว้างและเป็นธรรมมากขึ้น รวมไปถึงการปฏิรูปด้านพลังงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ถือเป็นเรื่องใหญ่ และยากที่สุด แต่ก็ทำได้หากผู้นำคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความมุ่งมั่น และที่สำคัญคราวนี้มีโอกาสเปิดมากที่สุดแล้ว ที่ต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จผลักดัน เพราะถ้าคราวนี้ทำไม่สำเร็จอีก ในอนาคตก็คงจะหมดหวังมองไม่เห็นทางแล้ว !!