รองนายกฯ ปัดรู้เห็น คสช.ยกเลิกคำสั่งตั้ง 14 กรรมการคัดเลือก สปช. อ้างเอาไว้คัดกรอง สปช.จังหวัด หลังร้องเรียนเอาลูกเมีย เครือญาติมาเป็น ชี้ต่อไปนี้กรองกันเอง ไม่ต้องประกาศก็ได้ หวั่นคนตกใจ ยันไม่น่าจะล็อกสเปก กล่อมล่วงหน้าเห็นชื่อแล้วร้องยี้ เขาอาจจะเป็นคนดีก็ได้ เดินหน้า พ.ร.บ.ภาษีมรดก ชั้นกฤษฎีกาเสร็จแล้ว แต่ต้องส่งให้คลังดูก่อน
วันนี้ (23 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.45 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวถึงยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้ง 14 คณะกรรมการคัดเลือกสมาชิก สปช.ว่า ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นทั้งตอนตั้ง และยกเลิก เท่าที่ทราบคณะกรรมการคัดเลือก สปช.มีการตั้งไว้นานแล้ว แต่รีบประกาศไม่ได้ เพราะเมื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วต้องคัดเลือกในวันรุ่งขึ้นทันที ตามที่กำหนดไว้ในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อถามว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้อำนาจ คสช.คัดเลือกอยู่แล้ว ทำไมต้องตั้ง 14 คนดังกล่าว นายวิษณุกล่าวว่า ในส่วนของ 173 คนมีคณะกรรมการกลั่นกรองให้ก่อนส่งให้ คสช.ทั้ง 11 ด้าน แต่ 77 คนส่วนจากจังหวัด ไม่มีคนคัดกรองให้ เลยคิดว่าตั้ง 14 นายพลขึ้นมาเพื่อคัดกรองในส่วนของจังหวัด เพราะ คสช.รับชื่อมาคงไม่รู้เรื่อง เช็กเองไม่ได้ และก่อนหน้านี้มีร้องเรียนหลายจังหวัดว่าเอาลูกเอาเมีย น้องเขย สะใภ้มาเป็น ต้องเขียนคำสั่งให้ดีว่าตั้งมาเพื่อคัดเลือก 77 คนส่วนจังหวัด
เมื่อถามว่า ในส่วนของตัวแทนจังหวัด หากไม่มีคณะกรรมการคัดเลือกทั้ง 14 คนแล้ว จะกลั่นกรองอย่างไรก่อนถึง คสช. นายวิษณุกล่าวว่า ต่อจากนี้ไปเมื่อยกเลิกเป็นทางการแล้วก็ต้องตั้งขึ้นมาเงียบๆ กรองกันเอง โดยไม่ต้องบอกให้ใครรู้ว่ามีใคร มีคณะกรรมการคัดเลือกได้ แต่ไม่ต้องประกาศก็ได้ เพราะประกาศไปแล้วคนตกใจ ทำคนเดียวยังได้เลย ไม่จำเป็นต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์อะไร เพราะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพราะยิ่งกรองผู้มีอิทธิพล ยิ่งไม่สมควรไปประกาศชื่อใหญ่ว่าใครเป็นคนกรอง
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่จะเปิดเผยชื่อก่อน นายวิษณุกล่าว่า แล้วแต่ คสช.พิจารณา แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องรู้อยู่ดี แต่อาจจะรู้ภายหลัง ซึ่งที่นายกฯ ประกาศและมอบหมายให้ตนทำคือ คนที่เข้ารอบสุดท้าย 50 คนใน 11 ด้าน ติดจริงๆ มีประมาณด้านละ 15-17 คน ถือว่าผ่านด่านมาแล้ว ควรมาตั้งเวทีใช้งาน ซึ่งตอนนั้นเขาจะรู้ว่าติดหนึ่งใน 50 คน แต่ไม่ติดใน 15 คน เพราะเราจะไม่เอาคนนอก
นอกจากนี้ ในส่วนที่เหลือจาก 7 พันคนที่สมัครจะไปอยู่ในเวทีปฏิรูปที่มี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้างานกลุ่มงานสร้างความปรองดองและการปฏิรูป ส่วนอีกเวทีที่จะตั้ง ตนตั้งใจใช้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นฐาน เพราะห้องประชุมก็มีแล้ว อุปกรณ์ต่างๆ ก็พร้อม เจ้าหน้าที่ก็มีถึง 200 คนก็จะช่วยได้ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นเวทีปฏิรูป 2 เวที มีค่าตอบแทนด้วย
เมื่อถามว่า ส่วนที่จังหวัดที่มีร้องเรียนเรื่องของเครือญาติ แสดงว่ามีการล็อกสเปกได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เห็นร้องเรียนกันมา จริง ไม่จริง ไม่รู้ แต่ไม่น่าจะเรียกว่าล็อกสเปก รายชื่อทั้งหมด 550 คน ตนเห็นหมดแล้ว คนดี คนเด่นคนดัง เข้ามามาก ห่วงก็แต่คนไม่ดี ไม่เด่นไม่ดัง ที่น่าจะมีโอกาสบ้าง ไม่ได้เข้ามา เชื่อว่าเมื่อรายชื่อออกมาจะเป็นที่พอใจของสังคม อาจจะมีชื่อที่ไม่คุ้นบ้าง เราต้องให้โอกาส แต่จะให้พอใจทั้งหมดคงยาก
เมื่อถามว่าหากรายชื่อออกมา มีบางคนถูกร้องเรียน ปรับเปลี่ยนได้หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่าไม่น่าจะทำอย่างนั้น ประกาศไปแล้ว มีคนไปร้อง จะไปปรับเขาออกได้อย่างไร แต่คิดว่าเขาไปคัดคนมีปัญหาเข้ามา บางคนอาจเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทางสังคม แต่เขาอาจเป็นคนดีก็ได้
นายวิษณุยังกล่าวถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก ว่าขณะนี้อยู่ในชั้นการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา กับอีกส่วนหนึ่งที่กระทรวงการคลังนำไปดูอยู่ซึ่งยังเดินต่อ และอาจมีการขอแก้ไขอะไรอีก ทั้งนี้ ในชั้นการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาใกล้เสร็จแล้ว มีความคืบหน้าไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้มีการกำหนดกรอบว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะต้องส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อไร คาดว่า สัปดาห์นี้น่าจะเสร็จ แต่ยังไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณา ครม. ในสัปดาห์หน้าได้ เพราะต้องให้ รมว.คลังดูก่อน
อย่างไรก็ตาม สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ได้กำหนดว่าจะให้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อไร แต่เมื่อเป็นกฎหมายนโยบายของรัฐบาลจะต้องเดินหน้าไปโดยเร็ว