รองนายกฯ แจงสรรหา สปช. ต้องปิดเป็นความลับ อ้างจะเกิดโกลาหล คาดไว้แล้วว่ามีเรื่องผัวเลือกเมีย หรือคนรู้จัก ปัดตรวจสอบอ้างไม่ทัน ถ้าตรวจสอบที่หลังยังเล่นงานได้อยู่ แนะนักวิชาการทำใจ ประเทศยังไม่ปกติ โยนฝ่ายความมั่นคงคุย ให้ “หมอรัชตะ” ตัดสินเองเลือกเก้าอี้เดียว หรือเหยียบเรือสองแคม เผย 1 ปี คุมกระทรวงสังคมเน้นดูแลคนพิการ สร้างสังคมเกื้อกูล เร่งปฎิรูปกระทรวงศึกษาธิการ ทบทวนกระจายอำนาจให้ อปท.
วันนี้ (24 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษา กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้เปิดรายชื่อการสรรหา สปช. ทั้ง 11 ด้านเพื่อความโปร่งใส ว่า การสรรหา สปช. ทั้ง 11 ด้านส่งรายชื่อเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไป คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะคัดเลือกว่าอยากได้ใคร ซึ่งการเป็นความลับเห็นว่ามีความจำเป็น เพราะถ้าไม่เป็นความลับคงมีความโกลาหลพอสมควร อันนี้เป็นนโยบายซึ่งต้องเก็บระดับความลับไว้ให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้
เมื่อถามว่า มีการร้องเรียนในหลายจังหวัดว่ามีการล็อกสเปก กลัวว่าจะสะดุดการคัดเลือก สปช. ไม่ทันวันที่ 2 ต.ค. นายยงยุทธ กล่าวว่า ตนว่าคงไม่มีปัญหา เพราะเป็นเรื่องที่เราคาดการณ์ได้ว่าจะมีการร้องเรียนทำนองนี้ ผัวเลือกเมีย หรือเป็นคนที่รู้จักกัน เป็นเรื่องธรรมดา เพราะสังคมไทยไม่ได้ใหญ่ถึงขนาดนั้น ต้องดูว่าผิดจริงหรือไม่ ทำสิ่งใดที่ละเมิดกฎเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้หรือไม่ ถ้าไม่ละเมิดกฎหมายไม่มีปัญหา
เมื่อถามว่า ควรตรวจสอบก่อนประกาศรายชื่อ สปช. 250 คนหรือไม่ นายยงยุทธ ตอบว่า มันก็ดี แต่จะตรวจทันหรือไม่ ตรงนี้ไม่แน่ใจ เป็นไปได้ประกาศรายชื่อมาแล้วมาตรวจสอบกันที่หลัง ก็น่ายังเล่นงานได้อยู่ เมื่อถามว่า จะเป็นข้อครหา คสช. หรือไม่ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา คสช. ย้ำความโปร่งใสในการสรรหา สปช. นายยงยุทธ กล่าวว่า มีความตั้งใจ และขั้นตอนที่ออกมาเป็นไปตามที่ได้บอกแล้ว ผลอาจจะไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์อย่างที่ตั้งใจ เพราะมีเรื่องต่างๆ ที่นอกเหนือการควบคุมมีอยู่บ้าง ก็ต้องดูว่าเขาได้พยายามทำแล้วหรือยัง
นายยงยุทธ กล่าวถึงกรณีสิทธิเสรีภาพนักวิชาการในการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ว่า คงต้องยอมรับว่าสภาวะของประเทศตอนนี้ยังไม่ปกติดีนัก ต้นปีที่ผ่านมาก็มีเรื่องต่างๆ มากมาย เรียกว่าอยู่ที่ปากเหว ตอนนี้เราก็ถอยมานิดหน่อยแล้ว แต่ก็ยังมีเหวอยู่ เพราะฉะนั้นการดำเนินการอะไรต้องระวัง ต้องเรียกว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่ยังไม่ปกติ 100 เปอร์เซ็นต์ ตนคิดว่าอยู่ที่แต่ละคนที่จะช่วยกันพยุงไป แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นต่างๆ ตอนนี้ก็เห็นยังแสดงความคิดเห็นกันอยู่ บังเอิญเป็นเรื่องที่บางฝ่ายจะต้องดูแล เขามีความเป็นห่วงว่า มันจะบานปลาย มันจะหยุดไม่อยู่ จะทำอย่างไร ตนมาจากด้านมหาวิทยาลัย ตนทราบดีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่เป็นแค่ระยะชั่วคราว ต้องช่วยกันประคองไป กลับสู่สภาพปกติในที่สุด
เมื่อถามว่า จะเป็นคนกลางประสานระหว่างรัฐบาลกับนักวิชาการหรือไม่ นายยงยุทธ กล่าวว่า อันนี้คงต้องเป็นนโยบายของรัฐบาลจะมองอย่างไร มันมองในหลายด้าน ตอนนี้เรามองในด้านความมั่นคง ฉะนั้นในแง่อื่นๆ ก็ต้องดูว่า ถ้าความมั่นคงเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเป็นเรื่องฝ่ายมั่นคงพูดเอง เพราะฉะนั้นตนยังไม่ขอรับเป็นตัวกลาง เมื่อถามว่า ขณะที่รัฐบาลระบุว่าไม่ให้นักวิชาการล้ำเส้น แต่นักวิชาการก็ระบุว่าฝ่ายความมั่นคงก็ล้ำเส้นวิชาการ แล้วเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน นายยงยุทธ ตอบว่า เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างบอก คงต้องคุยกัน
เมื่อถามว่า ในมุมรัฐบาลไม่ให้พูดถึงเรื่องการเมืองเลย คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ ล้ำเส้นนักวิชาการมากไปหรือไม่ นายยงยุทธ กล่าวว่า ตนก็เห็นว่ามีการพูดกันอยู่ ในสื่อก็เห็นมีพอสมควร เมื่อถามว่า มองว่าเป็นการปิดกั้นงานวิชาการมากไปหรือไม่ นายยงยุทธ กล่าวว่า ถ้านี่ถือว่าเป็นสถานการณ์ชั่วคราว มันคงไม่ตลอดไป เมื่อไรสถานการณ์ดีขึ้น ก็จะค่อยๆ ลดลง เหมือนกับในตอนนั้น ที่มี คสช. ก็มีเคอร์ฟิวและค่อยๆ เลิกไป หรือมีกฎอัยการศึกแล้วค่อยๆ ยกเลิกไป คงต้องไปพูดไปในทำนองนั้น ต้องมองความพอดีอยู่ตรงไหน
นายยงยุทธ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ต้องเลือกดำรงตำแหน่งเดียว ระหว่าง รมว.สาธารณสุข กับอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ว่า นพ.รัชตะ ยังมีเวลาตัดสินใจเป็นสัปดาห์ และคงออกมาชี้แจง ตนไม่สามารถไปชี้แจงแทนได้ ที่จริงแล้วตามกฎหมาย นพ.รัชตะสามารถนั่งได้ทั้ง 2 ตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับ นพ.รัชตะ ตัดสินใจเอง
รองนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยแผนการดำเนินงานในตำแหน่งที่ดูแลกระทรวงด้านสังคมว่า ระยะเวลา 1 ปีในตำแหน่ง จะเน้นงานเฉพาะเจาะลึก 2 ด้าน สำคัญ คือ การดูแลผู้พิการที่มีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน และผู้สูงอายุ 10 ล้านคน ให้ได้มีงานทำและมีรายได้ พร้อมกับทางรัฐบาลมีนโยบายสร้างสังคมเกื้อกูลกัน ที่คนในสังคมใส่ใจดูแลผู้ด้อยโอกาส
ทั้งนี้ จะนำรูปแบบในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ของสถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ในพระบรมราชนูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ให้การช่วยเหลือพสกนิกร เช่น การให้ความช่วยเหลือข้อเทียม เข่าเทียม และคอมพิวเตอร์คนตาบอด รวมถึงจะให้มีการจัดทำศูนย์ข้อมูลสุขภาพ หรือ E-Help ซึ่งระบบดังกล่าวนี้ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และกระทรวงสาธารณสุขได้เคยศึกษาวิจัยไว้แล้ว กล่าวคือการจัดทำทะเบียนราษฎร์ด้านสุขภาพของประชาชนทั้งในระดับชาติและชุมชน รวมถึงจะนำรูปแบบของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) มาพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลดังกล่าวด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนอย่างสมบูรณ์
นายยงยุทธ กล่าวว่าสำหรับการปฏิรูปการศึกษา จะเน้นพัฒนาครู ควบคู่การใช้เทคโนโลยี ทั้งแท็บแลต สมาร์ทคลาสรูม หรือการศึกษาผ่านดาวเทียมทางไกลต้องไปด้วยกัน พร้อมกับต้องมีการปลูกฝังจิตวิญญาณในหลักสูตรการศึกษา และสอดแทรกเนื้อหาที่จะต้องมี 12 ค่านิยม ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าไปด้วย
ขณะที่ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการอาจจะมีการหารือการปรับโครงสร้างใหม่ ที่ต้องทบทวนการใช้งบประมาณ เนื่องจากในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาฯได้กระจายอำนาจด้านงบประมาณ และ บุคลากรครู ไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. แต่กลับไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จึงควรมาทบทวนการกระจายอำนาจดังกล่าว ซึ่งอาจจะกลับมาใช้แบบเดิมคือ ส่วนกลางจัดสรรงบประมาณและบุคลากร อีกทั้งควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมผลิตบุคคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
นายยงยุทธ ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการศึกษา ยืนยันว่า ได้ 50 รายชื่อ สมาชิก สปช. แล้ว ซึ่งมีความเหมาะสม ทั้งสัดส่วนชาย หญิง คุณวุฒิ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านการศึกษาทุกระดับทั้งอุดมศึกษา อาชีวะ การศึกษานอกโรงเรียน หรือการศึกษาทางเลือก รายชื่อทั้งหมดได้นำเสนอต่อ คสช. แล้ว โดยยอมรับว่า ยังเสียดายบุคลากรที่คัดออก กว่า 778 คน แต่ 50 รายชื่อเป็นผู้มีชื่อเสียงด้านการศึกษา และสังคมยอมรับ และทางคณะกรรมการจำเป็นที่ต้องปิดบังรายชื่อ เนื่องจากมีความจำเป็น ไม่ต้องการให้เกิดความโกลาหลไปมากกว่านี้