xs
xsm
sm
md
lg

การลวงทางปัญญา /ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
ก่อนอื่นเรามาเล่นทายปัญหาสนุกๆ และง่ายๆ กันก่อนครับ

ข้อที่หนึ่ง เป็นปัญหาระดับ ป.1 กรุณานับจำนวนขาของช้างว่ามีกี่ขา เมื่อได้คำตอบแล้วกรุณาดูใหม่ และนับอีกครั้ง
 

 
ข้อที่สอง ปัญหานี้อาจจะยากเกินไปสำหรับเด็ก ป.1 แต่ไม่ยากสำหรับผู้ใหญ่ทุกระดับความรู้อย่างแน่นอน คำถามก็คือ สิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ในรูปทางขวามือนั้นเป็นภาพที่สามารถนำไปสร้างได้จริงหรือไม่

สำหรับข้อแรก บางคนอาจจะนับได้ 4 ขา บางคนได้ 5 ขา และอาจจะมีบางคนได้ 6, 7 ขาก็เป็นไปได้

สำหรับข้อที่สองนั้น เมื่อดูเพียงผิวเผินก็ไม่มีอะไรผิดปกติ แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดโดยใช้ดินสอไต่ไปทีละชิ้นส่วน (ขา) ก็จะพบว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยในความเป็นจริงที่ชิ้นส่วนจะเชื่อมโยงต่อกันได้ดังรูปนอกจากนี้ “ผู้สร้างภาพ” ยังได้พยายามเอานาฬิกามาวางไว้ข้างๆ ด้วยให้ดูเหมือนภาพถ่ายจากของจริงเพื่อลวงให้ผู้ดูหลงเชื่อมากขึ้นเรียกว่าลวงหลายชั้น

วิธีการดังกล่าวมานี้เขาเรียกว่า “การลวงทางปัญญา (Intellectual Illusion)” 

การลวงมีความหมายแตกต่างจากการโกหก มีผู้ให้คำอธิบายว่า “คำโกหก (หรือ Lie เป็นความจงใจที่จะหลอกลวง) ไม่ใช่เป็นภาพลวง (Illusion) เมื่อเราโกหก เรารู้ว่าเรากำลังพูดโกหก ในทางตรงกันข้าม เมื่อเรามีชีวิตอยู่ภายใต้ภาพลวง แม้เราคิดว่าเรารู้ความจริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราเข้าใจผิด
ในการถูกครอบงำด้วยภาพลวงนี้ เราเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นจริงว่าเป็นความจริง ภาพลวงตาเป็นความเข้าใจผิดโดยแท้จริง ในขณะที่การโกหกเป็นการกล่าวที่ไม่สุจริต เป็นความจงใจที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาย่อมแตกต่างจากความผิดพลาดที่ไม่มีเจตนา

ในบางครั้งขณะที่เรานั่งรถยนต์ทั้งๆ ที่มีแดดเปรี้ยงๆ แต่เราเห็นน้ำบนถนน แต่เมื่อไปถึงเราก็พบว่าถนนแห้ง นั่นก็เป็นภาพลวง เพราะไม่เป็นความจริง เราเข้าใจผิดไปเอง

โดยสรุป การสร้างภาพลวงเป็นความตั้งใจที่จะนำเสนอข้อความ หรือภาพเพื่อให้ผู้รับได้พิจารณาว่ามันเป็นความจริงทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันเป็นความเท็จ

ที่กล่าวมาแล้วเป็นเชิงหลักการที่อธิบายด้วยภาพ เรามาดูคำสั่ง คสช.ที่ 121/2557 ว่าด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผมตัดเอามาเฉพาะด้านพลังงานซึ่งประกอบด้วย 7 คน (ไม่ได้ตั้งใจจะลวง เพราะทั้งหมดมี 11 ด้าน มันยาวเกินไปที่จะนำมาลงทั้งหมด)
 

 
คนทั่วไปเข้าใจว่า การปฏิรูปพลังงานครั้งนี้ คือ การนำบุคคลที่มีความรู้ และมีประสบการณ์ที่หลากหลายในด้านพลังงานมาช่วยกันทำความจริงให้ปรากฏ พร้อมกับเสนอหลักการ และทิศทางในการบริหารจัดการพลังงานอย่างเป็นระบบ ประกอบกับในความเป็นจริงก่อนที่จะเกิด คสช. (22 พ.ค.57) สังคมไทยได้ถกเถียงกันในประเด็นพลังงานจน “สับสนไปหมด” ดังนั้น สังคมไทยจึงคาดหวังว่า คณะกรรมการสรรหาชุดนี้จึงควรจะมีความหลากหลายด้วยเพื่อจะได้สมาชิกสภาปฏิรูปที่หลากหลายเพื่อไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนได้ “ความจริง” ไม่ใช่ “ภาพลวง”

แต่ปรากฏว่า 3 ใน 7 คน ในคณะกรรมการสรรหาชุดนี้คือ คนที่ 5 ถึง 7 มีประวัติเป็นอดีตผู้ว่าการ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงานที่ถูกประชาชนตั้งข้อสงสัยในความโปร่งใสมาตลอด เท่านั้นยังไม่พอครับ ในคำสั่งดังกล่าวยังได้มีข้อความในวงเล็บเพื่อบอกถึงประวัติโดยย่อของกรรมการแต่ละคนให้แตกต่างกันด้วย แต่ไม่ทราบว่าจงใจจะ “ลวง” ให้ผู้รับสารเข้าใจว่ามีความหลากหลายแล้วหรือไม่

สำนักข่าวอิสรา (http://www.isranews.org/) ได้เปิดเผยว่า หนึ่งในสามคนนี้เป็นกรรมการบริษัทที่ทำธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับ นายประชา มาลีนนท์ (ซึ่งกำลังหนีคดีที่ต้องโทษจำคุก 12 ปี) และนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรัฐมนตรีพลังงานด้วย

นอกจากนี้ เท่าที่ผมค้นดูประวัติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานซึ่งมี 7 คน พบว่า คนหนึ่งเป็นผู้อดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ปตท. คนหนึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่ม “ปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งมี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นแกนนำกลุ่ม และได้รับแต่งตั้งจาก คสช.ให้เป็นประธานบอร์ดบริษัท ปตท.เรียบร้อยไปก่อนแล้ว มีสองคนเป็นอดีตผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อีกคนเป็นอดีตอธิบดีในกระทรวงพลังงาน

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ผมคิดว่านี่ไม่ใช่การปฏิรูปพลังงานที่ประชาชนหลายล้านคนเรียกร้องทั้งในเวที กปปส.และอีกจำนวนมากในเวที คปท.ตลอดจนในเครือข่ายประชาชนกลุ่มต่างๆ แต่น่าจะเป็นการกระชับอำนาจให้แก่กลุ่มธุรกิจพลังงานมีอำนาจเบ็ดเสร็จนั่นเอง

ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ (ที่ 15 ส.ค.57) คณะกรรมการพลังงานนโยบายแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นประธานในการประชุมครั้งแรก (ภายใต้อำนาจใหม่ของ คสช.) ได้ออกมติที่สำคัญหลายเรื่อง ในที่นี้ผมขอยกมาเพียง 2 เรื่อง ที่อยู่ในระหว่างการร้องเรียนของภาคประชาชน

เรื่องแรกคือ การแยกระบบท่อก๊าซออกมาจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เรื่องนี้ผมขออนุญาตเล่าสั้นๆ ดังนี้ครับ

(ก) ก่อนที่จะมีการแปรรูป “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” (ซึ่งเป็นของรัฐ 100% เมื่อปี 2544) ได้มีการประกาศว่าจะแยกระบบท่อส่งก๊าซออกมาภายในเวลา 1 ปี หลังจากการแปรรูป แต่แล้วก็ไม่ได้ทำตามสัญญาแต่ประการใด

(ข) ศาลปกครองสูงสุด (โดยคำร้องของภาคประชาชน) ได้ตัดสินว่า กิจการใดที่ใช้อำนาจมหาชนของรัฐ เช่น ท่อส่งก๊าซซึ่งวางบนที่สาธารณะ เช่น ทะเล ริมถนนหลวง ให้คืนกลับมาเป็นของรัฐดังเดิม

(ค) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำหนังสือยืนยันเป็นหลักฐานว่า ทาง ปตท. ยังไม่ได้คืนท่อส่งก๊าซที่สร้างด้วยเงินภาษีของประชาชน แต่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในฐานะรัฐมนตรีพลังงานในขณะนั้นยืนยันว่าได้คืนแล้ว

(ง) ปัจจุบัน (2557) ทางบอร์ด ปตท.มีมติว่าจะแยกท่อส่งก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ โดยให้ ปตท.ถือหุ้น 100% โดยอ้างว่าเพื่อลดการผูกขาด นั่นก็หมายว่า ประชาชนจะมีหุ้นอยู่ในบริษัทใหม่เพียง 51% ตามสัดส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทแม่ คือ ปตท.แทนที่จะกลับมาเป็นของประชาชน 100% ตามข้อ (ข)

(จ) เครือข่ายภาคประชาชนได้ร้องเรียนว่า ต้องคืนท่อส่งก๊าซมาเป็นของรัฐทั้ง 100% ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่ยังไม่มีผลในการบังคับคดีแต่อย่างใด

(ฉ) มติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (15 ส.ค.57) เห็นชอบตามข้อเสนอของ ปตท.

เรื่องที่สอง โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน 800 เมกะวัตต์ทำนองเดียวกันครับ ผมขอลำดับสั้นๆ ดังนี้

(ก) มติ กพช. (16 ก.ค.56) สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้มีโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ 800 ชุมชนๆ ละ 1 เมกะวัตต์ โดยในช่วง 3 ปีแรกจะรับซื้อไฟฟ้าในราคาหน่วยละ 9.75 บาท ช่วง 4 ถึง 10 ปีต่อมา หน่วยละ 6.50 บาท และอีก 15 ปีสุดท้าย หน่วยละ 4.50 บาท โดยให้ “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” เป็นเจ้าของโครงการ โดยต้องสามารถเดินไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 2557 สำหรับแหล่งเงินกู้รัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นแหล่งเงินกู้ (เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำข้าว) โดยสามารถกู้ได้ 100% ของเงินลงทุน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 4.5% ต่อปี

(ข) “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)” ได้ยื่นเรื่องให้ คสช.ตรวจสอบว่า โครงการดังกล่าวซึ่งมีมูลค่าการลงทุนถึง 48,000 ล้านบาทนั้น “เสี่ยงสูงทุจริต” (สำนักข่าวอิศรา)

(ค) ผมเองได้เขียนบทความเรื่อง “คดีปล้นแดด” พร้อมกับระบุว่า มีผู้ร้องเรียน (ผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) ว่า มีการใช้ชื่อกองทุนฯ เป็นเพียงนอมินีเท่านั้น แต่จะมีบริษัทเป็นผู้ลงทุน โดยบริษัทไม่ต้องมีความเสี่ยงทางการเงินใดๆ เพราะสามารถกู้จากธนาคารของรัฐได้ทั้งหมด และขายไฟฟ้าได้ทั้งหมดด้วย คาดว่าเมื่อจบโครงการบริษัทจะมีกำไรคิดเป็นตัวเงินแห่งละประมาณ 100 ล้านบาทรวมทั้ง 800 ชุมชน ก็เป็นก้อนมหาศาล

(ง) มติ กพช. (15 ส.ค.57) ได้มีมติว่า “โซลาร์ชุมชน 800 เมกะวัตต์ ให้ยกเลิกตามมติ กพช.เดิมที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แต่ปรับใหม่ให้ส่วนราชการ และสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการผลิตรายละไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ ในราคาหน่วยละ 5.66 บาท” (ข่าวโทรทัศน์ช่อง 3)

(จ) เท่าที่ผมได้ฟังจาก “รายการ News Hour ทาง ASTV” จากการแถลงข่าวของปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ให้เหตุผลว่า ที่กำหนดอัตรารับซื้อลดลงเพราะต้นทุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ลดต่ำลงมาก

จากลำดับความเป็นมา และประเด็นสำคัญที่ผมได้เล่ามานี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตรวม 2 ข้อดังต่อไปนี้

ข้อแรก ทั้งสองเรื่องได้มีการร้องเรียนถึงความไม่ชอบมาพากลเรื่องแรกเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง และความเห็นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ แต่ทำไมทาง คสช.จึงไม่มีการตรวจสอบเพื่อค้นหาความจริง หากได้มีการตรวจสอบแล้วก็ต้องมีคำอธิบายให้ผู้ร้องทราบ สำหรับเรื่องที่สองมาจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงความรู้สึกของคนไทยจำนวนมากที่ไม่ไว้วางใจต่อนักการเมือง และข้าราชการระดับสูงมานานแล้ว

แต่มติดังกล่าวก็ยังสามารถผ่านออกมาได้ โดยมีการ “ลวง” ให้คนหลงเชื่อหรือไขว้เขว เช่น ในกรณีท่อส่งก๊าซ เมื่อผู้ร้องได้เรียกร้องให้แยกท่อส่งก๊าซเพื่อลดการผูกขาด ทาง กพช.จึงมีมติให้แยกตามคำเรียกร้อง แต่สาระสำคัญที่ถูกบิด หรือลวงไปก็คือ เรื่องของความเป็นเจ้าของท่อส่งก๊าซว่า ควรจะเป็นของรัฐ 100% (ตามก่อนการแปรรูปปี 2544) หรือเป็นของรัฐเพียง 51% กันแน่

ในกรณีโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ชุมชนก็เดียวเช่นกัน เมื่อร้องเรียนมาก็ได้ทบทวนมติให้แล้ว แต่ถามว่า ได้มีการทุจริตตามคำร้องหรือไม่ ความผิดสำเร็จแล้วหรือไม่ ทำไมไม่มีการตรวจสอบ

ข้อที่สอง มติ กพช.ได้ลดราคาการรับซื้อไฟฟ้าลงมาจากหน่วยละ 9.75 บาท มาเป็นหน่วยละ 5.66 บาท ข่าวไม่ได้บอกว่ามีการลดลงเป็นขั้นบันไดเหมือนมติเดิมหรือไม่

คำถามที่ชวนสงสัยก็คือ ตัวเลขอัตรารับซื้อหน่วยละ 5.66 บาทนั้น เป็นตัวเลขที่เหมาะสม และเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายคือทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้ไฟฟ้าหรือไม่

จากการศึกษาของศาสตราจารย์ Dr.Volker Quaschning จากสถาบันการศึกษา HochschulefürTechnik und Wirtschaft HTW Berlin (มกราคม 2555) พบว่า ค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว (ดูกราฟประกอบ)
 

 
ถ้าผลการศึกษานี้ถูกต้องพบว่า ในช่วงปี 2558 ถึง 2573 ค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์บนหลังคากับที่ติดตั้งบนพื้นดินในประเทศเยอรมนี จะมีราคาเฉลี่ยหน่วยละ 13 และ 12 เซ็นต์ตามลำดับ หรือประมาณ 3.90 บาท และ 3.60 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าชนิดอื่น

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังระบุว่า ถ้าผลิตในแอฟริกาเหนือ (ซึ่งมีพลังงานแสงแดดต่อตารางเมตรใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่มากกว่าประเทศเยอรมนี) ค่าไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ต่ำกว่าหน่วยละ 10 เซ็นต์ (หรือประมาณ 3 บาท) มาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว และจะต่ำลงกว่านี้อีกดังกราฟ

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ Dr.John Farrell ผู้อำนวยการ the Energy Self-Reliant States and Communities program at the Institute for Local Self-Reliance สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการศึกษาใน 12 รัฐ ที่อยู่ในบริเวณตะวันตกตอนกลางซึ่งมีพลังงานแสงแดดต่อตารางเมตรน้อยกว่าประเทศไทย พบว่า แม้ไม่ได้รับการอุดหนุนใดๆ จากรัฐเลย ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ในปี 2557 ประมาณหน่วยละ 16 เซ็นต์ หรือ 4.80 บาทเท่านั้น ดังกราฟ
 

 
และในปี 2562 (หรือ 2019) ราคาจะลดลงมาเหลือประมาณ 13 เซ็นต์ หรือ 3.90 บาทซึ่งต่ำกว่าราคาค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัย

ทั้งราคาในเยอรมนี และสหรัฐอเมริกาซึ่งมีแดดน้อยกว่าไทย และมีค่าแรงสูงกว่าไทยนับสิบเท่าตัว แต่ทำไมตัวเลขราคาในประเทศไทยจึงเป็น 5.66 บาท กพช.ต้องตอบคำถามนี้ครับ

ความจริงเรื่องที่ผมได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดเป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบบพลังงานทั้งหมดเท่านั้น แต่มันก็เป็นความไม่ชอบมาพากลการปฏิรูปพลังงานต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้าง และรอบด้านกว่านี้มาก

Dr.Hermann Scheer อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนี และได้รับการยกย่องจากองค์กรระดับโลกหลายแห่ง เคยกล่าวไว้ว่า “การถกเถียงเรื่องพลังงานโดยการแยกส่วนตามลำพังคือ การลวงทางปัญญา” เพราะเรื่องพลังงานเกี่ยวพันกับปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำเสีย อากาศเสีย ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ (ซึ่งประเทศไทยเรามีความรุนแรงมาก) รวมไปถึงปัญหาการคอร์รัปชันด้วย

และหากกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว หัวใจของระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่สังคมไทยกำลังเรียกหาจนถึงขั้นเอาชีวิตเข้าแลกก็คือ การกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น พลังงานที่มีการกระจายมากที่สุดคือ พลังงานแสงอาทิตย์ และประชาชนทุกหลังคาเรือนมีส่วนเป็นเจ้าของ ในทางตรงกันข้าม พลังงานที่เป็นเผด็จการมากที่สุดคือ พลังงานฟอสซิลที่กลุ่มทุนผูกขาดเป็นเจ้าของ และมีอิทธิพลในทุกกระบวนการ แม้แต่ในคณะกรรมการสรรหาดังที่กล่าวมาแล้ว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น