xs
xsm
sm
md
lg

การลวงทางปัญญา

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ก่อนอื่นเรามาเล่นทายปัญหาสนุกๆ และง่ายๆ กันก่อนครับ

ข้อที่หนึ่ง เป็นปัญหาระดับ ป. 1 กรุณานับจำนวนขาของช้างว่ามีกี่ขา เมื่อได้คำตอบแล้วกรุณาดูใหม่และนับอีกครั้ง

ข้อที่สอง ปัญหานี้อาจจะยากเกินไปสำหรับเด็ก ป. 1 แต่ไม่ยากสำหรับผู้ใหญ่ทุกระดับความรู้อย่างแน่นอนคำถามก็คือสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ในรูปทางขวามือนั้นเป็นภาพที่สามารถนำไปสร้างได้จริงหรือไม่

สำหรับข้อแรก บางคนอาจจะนับได้ 4 ขา บางคนได้ 5 ขาและอาจจะมีบางคนได้ 6, 7 ขาก็เป็นไปได้

สำหรับข้อที่สองนั้น เมื่อดูเพียงผิวเผินก็ไม่มีอะไรผิดปกติ แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดโดยใช้ดินสอไต่ไปทีละชิ้นส่วน (ขา) ก็จะพบว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยในความเป็นจริงที่ชิ้นส่วนจะเชื่อมโยงต่อกันได้ดังรูปนอกจากนี้ “ผู้สร้างภาพ” ยังได้พยายามเอานาฬิกามาวางไว้ข้างๆ ด้วยให้ดูเหมือนภาพถ่ายจากของจริงเพื่อลวงให้ผู้ดูหลงเชื่อมากขึ้นเรียกว่าลวงหลายชั้น

วิธีการดังกล่าวมานี้เขาเรียกว่า “การลวงทางปัญญา (Intellectual Illusion)”

การลวงมีความหมายแตกต่างจากการโกหก มีผู้ให้คำอธิบายว่า “คำโกหก (หรือ Lie เป็นความจงใจที่จะหลอกลวง) ไม่ใช่เป็นภาพลวง (Illusion) เมื่อเราโกหก เรารู้ว่าเรากำลังพูดโกหก ในทางตรงกันข้าม เมื่อเรามีชีวิตอยู่ภายใต้ภาพลวง แม้เราคิดว่าเรารู้ความจริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราเข้าใจผิด

ในการถูกครอบงำด้วยภาพลวงนี้ เราเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นจริงว่าเป็นความจริง ภาพลวงตาเป็นความเข้าใจผิดโดยแท้จริง ในขณะที่การโกหกเป็นการกล่าวที่ไม่สุจริต เป็นความจงใจที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาย่อมแตกต่างจากความผิดพลาดที่ไม่มีเจตนา

ในบางครั้งขณะที่เรานั่งรถยนต์ทั้งๆ ที่มีแดดเปรี้ยงๆ แต่เราเห็นน้ำบนถนน แต่เมื่อไปถึงเราก็พบว่าถนนแห้ง นั่นก็เป็นภาพลวง เพราะไม่เป็นความจริง เราเข้าใจผิดไปเอง

โดยสรุป การสร้างภาพลวงเป็นความตั้งใจที่จะนำเสนอข้อความหรือภาพเพื่อให้ผู้รับได้พิจารณาว่ามันเป็นความจริงทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันเป็นความเท็จ

ที่กล่าวมาแล้วเป็นเชิงหลักการที่อธิบายด้วยภาพ เรามาดูคำสั่ง คสช.ที่ 121/2557 ว่าด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผมตัดเอามาเฉพาะด้านพลังงานซึ่งประกอบด้วย 7 คน (ไม่ได้ตั้งใจจะลวง เพราะทั้งหมดมี 11 ด้าน มันยาวเกินไปที่จะนำมาลงทั้งหมด)

คนทั่วไปเข้าใจว่า การปฏิรูปพลังงานครั้งนี้ คือการนำบุคคลที่มีความรู้และมีประสบการณ์ที่หลากหลายในด้านพลังงานมาช่วยกันทำความจริงให้ปรากฏ พร้อมกับเสนอหลักการและทิศทางในการบริหารจัดการพลังงานอย่างเป็นระบบประกอบกับในความเป็นจริงก่อนที่จะเกิด คสช. (22 พ.ค.57) สังคมไทยได้ถกเถียงกันในประเด็นพลังงานจน “สับสนไปหมด” ดังนั้นสังคมไทยจึงคาดหวังว่า คณะกรรมการสรรหาชุดนี้จึงควรจะมีความหลากหลายด้วยเพื่อจะได้สมาชิกสภาปฏิรูปที่หลากหลายเพื่อไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนได้ “ความจริง” ไม่ใช่ “ภาพลวง”

แต่ปรากฏว่า 3 ใน 7 คนในคณะกรรมการสรรหาชุดนี้คือคนที่ 5 ถึง 7 มีประวัติเป็นอดีตผู้ว่าการ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงานที่ถูกประชาชนตั้งข้อสงสัยในความโปร่งใสมาตลอดเท่านั้นยังไม่พอครับ ในคำสั่งดังกล่าวยังได้มีข้อความในวงเล็บเพื่อบอกถึงประวัติโดยย่อของกรรมการแต่ละคนให้แตกต่างกันด้วย แต่ไม่ทราบว่าจงใจจะ “ลวง” ให้ผู้รับสารเข้าใจว่ามีความหลากหลายแล้วหรือไม่

สำนักข่าวอิสรา (http://www.isranews.org/) ได้เปิดเผยว่า หนึ่งในสามคนนี้เป็นกรรมการบริษัทที่ทำธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับนายประชา มาลีนนท์ (ซึ่งกำลังหนีคดีที่ต้องโทษจำคุก 12 ปี) และนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรัฐมนตรีพลังงานด้วย

นอกจากนี้ เท่าที่ผมค้นดูประวัติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานซึ่งมี 7 คน พบว่า คนหนึ่งเป็นผู้อดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ปตท. คนหนึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่ม “ปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นแกนนำกลุ่มและได้รับแต่งตั้งจาก คสช.ให้เป็นประธานบอร์ดบริษัท ปตท.เรียบร้อยไปก่อนแล้วมีสองคนเป็นอดีตผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อีกคนเป็นอดีตอธิบดีในกระทรวงพลังงาน

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ผมคิดว่านี่ไม่ใช่การปฏิรูปพลังงานที่ประชาชนหลายล้านคนเรียกร้องทั้งในเวที กปปส.และอีกจำนวนมากในเวที คปท.ตลอดจนในเครือข่ายประชาชนกลุ่มต่างๆ แต่น่าจะเป็นการกระชับอำนาจให้กับกลุ่มธุรกิจพลังงานมีอำนาจเบ็ดเสร็จนั่นเอง

ล่าสุดเมื่อวันศุกร์(ที่ 15 ส.ค. 57) คณะกรรมการพลังงานนโยบายแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นประธานในการประชุมครั้งแรก (ภายใต้อำนาจใหม่ของ คสช.) ได้ออกมติที่สำคัญหลายเรื่อง ในที่นี้ผมขอยกมาเพียง 2 เรื่องที่อยู่ในระหว่างการร้องเรียนของภาคประชาชน

เรื่องแรกคือการแยกระบบท่อก๊าซออกมาจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เรื่องนี้ผมขออนุญาตเล่าสั้นๆ ดังนี้ครับ

(ก) ก่อนที่จะมีการแปรรูป “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” (ซึ่งเป็นของรัฐ 100% เมื่อปี 2544) ได้มีการประกาศว่าจะแยกระบบท่อส่งก๊าซออกมาภายในเวลา 1 ปีหลังจากการแปรรูป แต่แล้วก็ไม่ได้ทำตามสัญญาแต่ประการใด

(ข) ศาลปกครองสูงสุด (โดยคำร้องของภาคประชาชน) ได้ตัดสินว่ากิจการใดที่ใช้อำนาจมหาชนของรัฐ เช่น ท่อส่งก๊าซซึ่งวางบนที่สาธารณะ เช่น ทะเล ริมถนนหลวง ให้คืนกลับมาเป็นของรัฐดังเดิม

(ค) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ทำหนังสือยืนยันเป็นหลักฐานว่า ทาง ปตท. ยังไม่ได้คืนท่อส่งก๊าซที่สร้างด้วยเงินภาษีของประชาชน แต่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในฐานะรัฐมนตรีพลังงานในขณะนั้นยืนยันว่าได้คืนแล้ว

(ง) ปัจจุบัน (2557) ทางบอร์ด ปตท.มีมติว่าจะแยกท่อส่งก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ โดยให้ ปตท.ถือหุ้น 100% โดยอ้างว่าเพื่อลดการผูกขาด นั่นก็หมายว่า ประชาชนจะมีหุ้นอยู่ในบริษัทใหม่เพียง 51% ตามสัดส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทแม่คือ ปตท.แทนที่จะกลับมาเป็นของประชาชน 100% ตามข้อ (ข)

(จ) เครือข่ายภาคประชาชนได้ร้องเรียนว่า ต้องคืนท่อส่งก๊าซมาเป็นของรัฐทั้ง 100% ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่ยังไม่มีผลในการบังคับคดีแต่อย่างใด

(ฉ) มติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (15 ส.ค.57) เห็นชอบตามข้อเสนอของ ปตท.

เรื่องที่สอง โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน 800 เมกะวัตต์ทำนองเดียวกันครับ ผมขอลำดับสั้นๆ ดังนี้

(ก) มติ กพช. (16 ก.ค. 56) สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้มีโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ 800 ชุมชนๆ ละ 1 เมกะวัตต์ โดยในช่วง 3 ปีแรกจะรับซื้อไฟฟ้าในราคาหน่วยละ 9.75 บาท ช่วง 4 ถึง 10 ปีต่อมาหน่วยละ 6.50 บาท และอีก 15 ปีสุดท้ายหน่วยละ 4.50 บาท โดยให้ “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” เป็นเจ้าของโครงการ โดยต้องสามารถเดินไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 2557 สำหรับแหล่งเงินกู้รัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นแหล่งเงินกู้ (เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำข้าว) โดยสามารถกู้ได้ 100% ของเงินลงทุน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 4.5% ต่อปี

(ข) “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)” ได้ยื่นเรื่องให้ คสช.ตรวจสอบว่าโครงการดังกล่าวซึ่งมีมูลค่าการลงทุนถึง 48,000 ล้านบาทนั้น “เสี่ยงสูงทุจริต” (สำนักข่าวอิศรา)

(ค) ผมเองได้เขียนบทความเรื่อง “คดีปล้นแดด” พร้อมกับระบุว่ามีผู้ร้องเรียน(ผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) ว่ามีการใช้ชื่อกองทุนฯ เป็นเพียงนอมินีเท่านั้น แต่จะมีบริษัทเป็นผู้ลงทุน โดยบริษัทไม่ต้องมีความเสี่ยงทางการเงินใดๆ เพราะสามารถกู้จากธนาคารของรัฐได้ทั้งหมดและขายไฟฟ้าได้ทั้งหมดด้วย คาดว่าเมื่อจบโครงการบริษัทจะมีกำไรคิดเป็นตัวเงินแห่งละประมาณ 100 ล้านบาทรวมทั้ง 800 ชุมชนก็เป็นก้อนมหาศาล

(ง) มติ กพช. (15 ส.ค.57) ได้มีมติว่า “โซลาร์ชุมชน 800 เมกะวัตต์ ให้ยกเลิกตามมติ กพช.เดิมที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แต่ปรับใหม่ให้ส่วนราชการและสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการผลิตรายละไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ ในราคาหน่วยละ 5.66 บาท” (ข่าวโทรทัศน์ช่อง 3)

(จ) เท่าที่ผมได้ฟังจาก “รายการ News Hour ทาง ASTV” จากการแถลงข่าวของปลัดกระทรวงพลังงานได้ให้เหตุผลว่าที่กำหนดอัตรารับซื้อลดลงเพราะต้นทุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ลดต่ำลงมาก

จากลำดับความเป็นมาและประเด็นสำคัญที่ผมได้เล่ามานี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตรวม 2 ข้อดังต่อไปนี้

ข้อแรก ทั้งสองเรื่องได้มีการร้องเรียนถึงความไม่ชอบมาพากลเรื่องแรกเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงและความเห็นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ แต่ทำไมทาง คสช.จึงไม่มีการตรวจสอบเพื่อค้นหาความจริง หากได้มีการตรวจสอบแล้วก็ต้องมีคำอธิบายให้ผู้ร้องทราบ สำหรับเรื่องที่สองมาจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงความรู้สึกของคนไทยจำนวนมากที่ไม่ไว้วางใจต่อนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงมานานแล้ว

แต่มติดังกล่าวก็ยังสามารถผ่านออกมาได้ โดยมีการ “ลวง” ให้คนหลงเชื่อหรือไขว้เขว เช่น ในกรณีท่อส่งก๊าซ เมื่อผู้ร้องได้เรียกร้องให้แยกท่อส่งก๊าซเพื่อลดการผูกขาด ทาง กพช.จึงมีมติให้แยกตามคำเรียกร้อง แต่สาระสำคัญที่ถูกบิดหรือลวงไปก็คือ เรื่องของความเป็นเจ้าของท่อส่งก๊าซว่า ควรจะเป็นของรัฐ 100% (ตามก่อนการแปรรูปปี 2544) หรือเป็นของรัฐเพียง 51% กันแน่

ในกรณีโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ชุมชนก็เดียวเช่นกัน เมื่อร้องเรียนมาก็ได้ทบทวนมติให้แล้ว แต่ถามว่าได้มีการทุจริตตามคำร้องหรือไม่ความผิดสำเร็จแล้วหรือไม่ ทำไมไม่มีการตรวจสอบ

ข้อที่สอง มติ กพช.ได้ลดราคาการรับซื้อไฟฟ้าลงมาจากหน่วยละ 9.75 บาท มาเป็นหน่วยละ 5.66 บาทข่าวไม่ได้บอกว่ามีการลดลงเป็นขั้นบันไดเหมือนมติเดิมหรือไม่

คำถามที่ชวนสงสัยก็คือ ตัวเลขอัตรารับซื้อหน่วยละ 5.66 บาทนั้นเป็นตัวเลขที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายคือทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าหรือไม่

จากการศึกษาของศาสตราจารย์ Dr. Volker Quaschning จากสถาบันการศึกษา HochschulefürTechnik und Wirtschaft HTW Berlin (มกราคม 2555) พบว่า ค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว (ดูกราฟประกอบ)

ถ้าผลการศึกษานี้ถูกต้องพบว่า ในช่วงปี 2558 ถึง 2573 ค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์บนหลังคากับที่ติดตั้งบนพื้นดินในประเทศเยอรมนีจะมีราคาเฉลี่ยหน่วยละ 13 และ 12 เซ็นต์ตามลำดับ หรือประมาณ 3.90 บาทและ 3.60 บาทซึ่งต่ำกว่าราคาที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าชนิดอื่น

นอกจากนี้ผลการศึกษายังระบุว่า ถ้าผลิตในแอฟริกาเหนือ (ซึ่งมีพลังงานแสงแดดต่อตารางเมตรใกล้เคียงกับประเทศไทยแต่มากกว่าประเทศเยอรมนี) ค่าไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ต่ำกว่าหน่วยละ 10 เซ็นต์ (หรือประมาณ 3 บาท) มาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว และจะต่ำลงกว่านี้อีกดังกราฟ

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ Dr. John Farrell ผู้อำนวยการ the Energy Self-Reliant States and Communities program at the Institute for Local Self-Reliance สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการศึกษาใน 12 รัฐที่อยู่ในบริเวณตะวันตกตอนกลางซึ่งมีพลังงานแสงแดดต่อตารางเมตรน้อยกว่าประเทศไทย พบว่าแม้ไม่ได้รับการอุดหนุนใดๆ จากรัฐเลย ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในปี 2557 ประมาณหน่วยละ 16 เซ็นต์ หรือ 4.80 บาทเท่านั้น ดังกราฟ

และในปี 2562 (หรือ 2019) ราคาจะลดลงมาเหลือประมาณ 13 เซ็นต์ หรือ 3.90 บาทซึ่งต่ำกว่าราคาค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัย

ทั้งราคาในเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาซึ่งมีแดดน้อยกว่าไทยและมีค่าแรงสูงกว่าไทยนับสิบเท่าตัว แต่ทำไมตัวเลขราคาในประเทศไทยจึงเป็น 5.66 บาท กพช.ต้องคำถามนี้ครับ

ความจริงเรื่องที่ผมได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดเป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบบพลังงานทั้งหมดเท่านั้น แต่มันก็เป็นความไม่ชอบมาพากลการปฏิรูปพลังงานต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างและรอบด้านกว่านี้มาก

Dr.Hermann Scheer อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนีและได้รับการยกย่องจากองค์กรระดับโลกหลายแห่งเคยกล่าวไว้ว่า “การถกเถียงเรื่องพลังงานโดยการแยกส่วนตามลำพังคือการลวงทางปัญญา” เพราะเรื่องพลังงานเกี่ยวพันกับปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำเสีย อากาศเสีย ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ (ซึ่งประเทศไทยเรามีความรุนแรงมาก) รวมไปถึงปัญหาการคอร์รัปชันด้วย

และหากกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วหัวใจของระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่สังคมไทยกำลังเรียกหาจนถึงขั้นเอาชีวิตเข้าแลกก็คือการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น พลังงานที่มีการกระจายมากที่สุดคือพลังงานแสงอาทิตย์และประชาชนทุกหลังคาเรือนมีส่วนเป็นเจ้าของ ในทางตรงกันข้ามพลังงานที่เป็นเผด็จการมากที่สุดคือพลังงานฟอสซิลที่กลุ่มทุนผูกขาดเป็นเจ้าของและมีอิทธิพลในทุกกระบวนการแม้แต่ในคณะกรรมการสรรหาดังที่กล่าวมาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น