xs
xsm
sm
md
lg

คดีปล้นแดด : แดด…ใครคิดว่าไม่สำคัญ!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

1. คำนำ

ก่อนจะตั้งชื่อบทความนี้ผมคิดไปถึงเพลงดังในอดีตที่ว่า “จูบ คุณคิดว่าไม่สำคัญ แต่เมื่อคุณจูบฉันทำไมฉันสั่นไปถึงหัวใจ” จริงๆ แล้วผมเริ่มต้นคิดจากความสำคัญของแดดว่าใช่! ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ก็เพราะโลกขาดแสงแดดเป็นเวลานานอันเนื่องจากอุกาบาตพุ่งชนโลกจนฝุ่นตลบแล้วแสงแดงส่องลงมาไม่ถึง โลกเย็นลง พืชสังเคราะห์แสงไม่ได้ (เป็นหนึ่งในสองทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อ) แดดจึงทำให้โลกสะเทือนไปทั้งใบได้

กลับมาที่เรื่องจูบ เฮ้ยไม่ใช่ เรื่องคดีปล้นแดดครับ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)” ได้ยื่นเรื่องให้ คสช. ตรวจสอบ 3 โครงการที่เรียกว่า “เสี่ยงสูงทุจริต” (สำนักข่าวอิศรา) หนึ่งในนั้นก็คือ “โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน” ชุมชนละ 1เมกะวัตต์ รวม800 ชุมชน มีมูลค่าการลงทุนถึง 48,000 ล้านบาท

เริ่มเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า แสงอาทิตย์หรือแดดนั้นสำคัญ นี่แค่ต้นทุนเท่านั้นนะครับ ยังไม่คิดถึงมูลค่าไฟฟ้าที่จะผลิตได้ ตลอดจนกำไรมหาศาลที่โครงการนี้จะได้รับตามแผนการที่วางไว้อย่างแยบยล

ท่านผู้อ่านอาจคิดว่า แต่ถ้าเรื่องราวมีแค่นี้จะเรียกเป็นคดี “ปล้น” ยังไม่ได้ น่าจะเป็นได้แค่ “โกง” เท่านั้นแต่ผมขอยืนยันว่าเป็นการ “ปล้น” จริงๆ ปล้นสามต่อด้วยซ้ำ

2. แดด…ใครคิดว่าไม่สำคัญ!

แดดเป็นพลังงานที่พระอาทิตย์ส่องมาให้ผิวโลกครับ โดยเฉลี่ยในทุกพื้นที่หนึ่งตารางเมตรของประเทศไทยจะได้รับพลังงานแสงแดดในหนึ่งวันจำนวนประมาณ 4.4 ถึง 5.6หน่วยไฟฟ้า (กิโลวัตต์ชั่วโมง) ในขณะที่ประเทศในเขตหนาว เช่น เยอรมนีจะได้รับเพียงประมาณ 2.5 ถึง 3.5 หน่วยเท่านั้น

แต่มีสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้เพียงสองชนิดเท่านั้นที่สามารถเก็บเอาพลังงานแสงแดดมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง หนึ่งคือพืชโดยการสังเคราะห์แสง และสองคือคนโดยแผงโซลาร์เซลล์และพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์
ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันมนุษย์เราสามารถเก็บพลังงานแสงแดดมาได้เพียงประมาณร้อยละ 15 ของที่พระอาทิตย์ให้มาเท่านั้น ดังนั้นบ้านใดที่ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 300 หน่วย (หรือเดือนละ 1,300 บาท) แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 13 ตารางเมตรหรือ 2 กิโลวัตต์ก็สามารถแปลงแดดมาเป็นไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้แล้ว (โดยหลักการ)

บ้านคนไทยเกือบทั้งหมดมีพื้นที่มากกว่า 13 ตารางเมตรแน่นอน แต่จะมีเงินพอสำหรับติดแผงโซลาร์หรือไม่ผมไม่แน่ใจ เดี๋ยวเรามาดูกันครับ

ข้อมูลข้างล่างนี้มาจากเว็บไซต์ของกรมพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน เป็นการคำนวณเบื้องต้นเพื่อจะทราบว่า ถ้าลงทุนขนาด 2 กิโลวัตต์ ราคา 1.4 แสนบาท และถ้าขายไฟฟ้าได้ 6.96 บาทต่อหน่วยตามที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการ พบว่าจะได้ทุนคืนภายในเวลา 7 ปีเศษ ที่เหลืออีกประมาณ 18 ปีสามารถเก็บผลประโยชน์ได้ปีละ 19,000 บาท หรือคิดเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 13.6 ต่อปี สบายๆ

นี่คือ มูลค่าของแดดบนพื้นที่เพียง12.5 ตารางเมตร ถ้ามากกว่านี้ละ!

และนี่คือเหตุผลว่า “ทำไมฉันสั่นไปถึงหัวใจ”

3. โครงการที่กำลังจะเป็นคดี


โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แถลงนโยบายเมื่อ 23 สิงหาคม 2554) และโครงการได้คิดและออกแบบโดยคณะกรรมการบริหารพลังงาน (กบง.) ซึ่งมีนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีพลังงานเป็นประธาน (11 กรกฎาคม 2565) ให้ความเห็นชอบอัตรารับไฟฟ้าพิเศษ

และต่อมาได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อ 16 กรกฎาคม 2556 ลักษณะของโครงการเป็นการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน จำนวน 800 ชุมชนๆ ละ 1 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 58-60 ล้านบาท รวม 4.8 หมื่นล้านบาทเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน (Solar PV Ground Mount) โดยพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างประมาณ 10 ถึง 12 ไร่ต่อ 1 เมกะวัตต์ โดยให้มีวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) หรือให้เสร็จภายในปี 2557 (รีบเร่งมาก)

เหตุผลของโครงการคือ “เป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ เพิ่มการลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและพัฒนาเป็นศูนย์กลางเป็นธุรกิจพลังงานของภูมิภาคโดยใช้ความได้เปรียบ เชิงภูมิยุทธศาสตร์ ให้สอดคล้องกับแนวทางนโยบายด้านเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นในการสร้างรายได้ โดยการส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานปิโตรเลียมและพลังงานทดแทน สามารถสร้างรายได้จากความต้องการภายในประเทศ รวมทั้งสร้างการจ้างงานให้แก่ประเทศถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่”

ในด้านการดำเนินโครงการให้ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (ออกตาม พ.ร.บ. 2547) ร่วมมือกับกระทรวงพลังงานเป็นผู้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษสำหรับโครงการ โดยกำหนดอัตรารับซื้อใน 3 ปีแรกหน่วยละ 9.75 บาทปีที่ 4 ถึงปีที่ 10 หน่วยละ 6.50 บาทและปีที่ 11 ถึง 25 หน่วยละ 4.50 บาท

สำหรับแหล่งเงินกู้รัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นแหล่งเงินกู้ (เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำข้าว) โดยสามารถกู้ได้ 100% ของเงินลงทุน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 4.5% ต่อปี

จากการวิเคราะห์ของเจ้าของโครงการเองพบว่า โครงการนี้จะคุ้มทุนภายในเวลา 7 ปี นั่นหมายความว่าอีก 18 ปีที่เหลือจะมีรายรับโดยไม่มีภาระหนี้สินแล้ว และในปีที่ 8 ถึงปีที่ 10 จะมีรายรับจากการขายไฟฟ้าปีละ 8.45 ล้านบาท และนับแต่ปีที่ 11 จนถึงปีที่ 25 จะมีรายได้ปีละ 5.85 ล้านบาท

เพื่อความชัดเจนมากขึ้น โดยอาศัยข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ในโครงการ Solar PV Rooftop) ที่ว่าแต่ละ 1 กิโลวัตต์จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,300 หน่วยต่อปี ผมได้เสนอตารางแสดงรายรับจากการขายไฟฟ้า การผ่อนส่งเงินกู้ 60 ล้านบาทปีละ 2.4 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 4.5 ต่อปี ผลลัพธ์ดังแสดงในตารางครับ

จากตารางพบว่า ผู้ลงทุนเริ่มต้นด้วยการกู้เงินจากธนาคารจำนวน 60 ล้านบาท (รัฐบาลให้กู้ได้ 100%) หลังจากนั้นก็จ่ายดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นคงที่คือปีละ 2.4 ล้านบาท พบว่าในช่วง 3 ปีแรกที่อัตรารับซื้อไฟฟ้าสูงถึง 9.75 บาทต่อหน่วย ผู้ประกอบการมีเงินเหลือรวม 23 ล้านบาท และเมื่อครบ 25 ปีจะมีกำไรสุทธิ 94 ล้านบาท (ไม่คิดค่าดูแลรักษาซึ่งต่ำมาก ตามรายงานบอกว่าจ้างคนดูแล 5 คน)

นี่เป็นการคิดปริมาณไฟฟ้าที่ค่อนข้างต่ำ (คือ 1.3 ล้านต่อหนึ่งเมกะวัตต์) ถ้าหากเป็น 1.4 ล้านหน่วย (รัฐคุชราตของอินเดียได้ 1.5 ล้านหน่วย) กำไรสุทธิของผู้ประกอบการก็จะเพิ่มเป็น 130 ล้านบาท

มีคำถามที่สังคมไทยต้องร่วมกันตอบ คือ การลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ตลาดรับซื้อสินค้าทั้งหมดที่ผลิตได้ทั้งหมด โดยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินอย่างเต็มที่แล้วมีกำไรสุทธิขนาดนี้นั้น สังคมไทยถือว่าเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่

นี่เพียงแค่หนึ่งชุมชนเท่านั้น ถ้ารวม 800 ชุมชนก็ร่วมหนึ่งแสนล้านบาท โดยไม่ต้องมีความเสี่ยงในเชิงการตลาดและเทคโนโลยีใดๆ เลย จะเรียกว่า “หมูในอวย” เลยก็ได้ (พจนานุกรมอธิบายว่า ผู้ที่อยู่ในอำนาจของตน เหมือนหมูในเล้า)

มาถึงตอนนี้ เราเห็นแล้วใช่ไหมครับว่านี่คือการปล้นเงินจากกระเป๋าของผู้บริโภค แม้ไม่มีการใช้อาวุธตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปตามความหมายในพจนานุกรมก็ตาม

ที่ผมเล่ามานี้ยังปล้นขั้นแรกเท่านั้น แต่ยังมีอีกสองขั้นตอนของการปล้น เรียกว่าปล้นสามต่อเลยทีเดียว

4. การปล้นขั้นที่สอง


ตามโครงการที่ผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้ดำเนินการโดยกองทุนหมู่บ้าน แต่ในความเป็นจริงชุมชนมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนที่ต้องลงทุนจำนวนมาก คือ 58-60 ล้านบาท ขณะนี้มีเสียงสะท้อนจากบางชุมชนว่ามีบางบริษัทได้เสนอตัวเพื่อขอลงทุนเองทั้งหมดแต่เป็นการลงทุนในนามของ “กองทุนหมู่บ้าน” โดยเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กองทุนหมู่บ้าน 5% ให้กองทุนเป็นนอมินีเท่านั้น

นี่เป็นการปล้นสิทธิของชุมชนที่ควรจะได้ใช้พลังงานแสงแดดอย่างเต็มที่ตามที่ธรรมชาติได้จัดสรรมาให้

5. การปล้นขั้นที่สาม

กรุณาย้อนไปดูหัวข้อที่ 2 เรื่องมูลค่าของแดด พบว่าบนพื้นที่หลังคา 12.5 ตารางเมตร กระทรวงพลังงานได้คิดโครงการให้มีมูลค่าปีละ 19,000 บาท แต่ในความเป็นจริงโครงการนี้ยังไม่ได้เกิดครับ เพราะไปติดขัดที่กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ออกใบอนุญาตโรงงานให้(รง.4)

แต่ถึงออกให้ก็เถอะ ก็ไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าไหร่ เพราะดันไปจำกัดโควตาไว้ที่ 200 เมกะวัตต์เท่านั้น ครึ่งหนึ่งเป็นของบ้านอยู่อาศัย ถ้าติดหลังละ 2 กิโลวัตต์ก็จะได้แค่ 5 หมื่นหลัง (ประเทศไทยมี 22 ล้านหลังคาเรือน)

โครงการนี้จึงเป็นการปล้นสิทธิของเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของบ้านไปโดยปริยายแล้วไปให้การสนับสนุนบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ ทำให้บริษัทมีผลกำไรมหาศาล

สิ่งที่ผมและคนไทยไม่เชื่อ (แต่เป็นความจริง) โซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในประเทศไทยครับ (ที่มา Thailand PV Status Report 2011) ขนาด 73 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดลพบุรี (หากครบรวม 7 เฟส)

ในขณะที่ประเทศเยอรมนีร้อยละ 84 ติดบนหลังคาบ้านและอาคารขนาดเล็ก ออสเตรเลีย 14% (หรือ 1.2 ล้านชุด) ติดบนหลังคา แต่ประเทศไทยเราร้อยละ 98.7 เป็นโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่กว่า 1 เมกะวัตต์

เหี้ยมได้อันดับหนึ่งของโลกจริงๆ ครับ

6. สรุป ข้อเสนอต่อ คสช.


ผมเสนอ 3 ข้อ

(1) ขอให้ตรวจสอบตามที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเสนอ

(2) ต่อโครงการโซลาร์เซลล์บนหลังคา กรุณาทำ 3 ข้อโดยด่วนครับ คือ (ก) ยกเลิกในอนุญาตโรงงาน (ข) ไม่ควรกำหนดโควตา และ (ค) ลดอัตรารับซื้อไฟฟ้าลงได้อีก 6 บาทก็น่าจะพอ

(3) ผมขอยกเอาคำแถลงในองค์การค้าโลกของ ดร.เฮอร์มันน์ เชียร์อดีต ส.ส.เยอรมนีซึ่งได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ให้เป็น “ฮีโรแห่งศตวรรษสีเขียว” เขาแถลงในหัวข้อ “การคิดใหม่เกี่ยวกับกระบวนทัศน์เรื่องพลังงาน” ความตอนหนึ่ง

“การพัฒนาที่มีพลังและรวดเร็วต้องการพลังในการขับเคลื่อนไม่มีผู้ใดจะกลายมาเป็นพลังขับเคลื่อนได้โดยปราศจากความคิดที่เป็นระบบ ความกล้าหาญและการสร้างพันธมิตรใหม่ๆ”

พันธมิตรที่ดีที่สุดคือประชาชน

และกระบวนทัศน์ที่ว่านี้คือ “แดด ใครคิดว่าไม่สำคัญ!”

กำลังโหลดความคิดเห็น