ASTVผู้จัดการ - ทำไมต้องทบทวนโครงการผลิตไฟฟ้าโรงงานแสงอาทิตย์ชุมชน 800 ชุมชนทั่วประเทศ มูลค่า 40,000 ล้านบาท? พบ “เสี่ยเพ้ง” ดันสุดๆ จ่อกู้ออมสินหนุนชุมชน 80,000 ล้านบาท หลังประเมินมูลค่าลงทุนต่อ 1 เมกะวัตต์ พบว่าอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท ผู้ประกอบการโซลาร์ฟาร์มที่ขนาดเล็ก ต้นทุนสูงรัฐเมิน หนุนแต่โซลาร์ชุมชน จีนกระหน่ำโซลาร์เซลล์ ไทยปิด รง. ขาดทุนยับ
หลังจากที่วานนี้ (18 มิ.ย.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทบทวนโครงการผลิตไฟฟ้าโรงงานแสงอาทิตย์ชุมชน 800 ชุมชนทั่วประเทศ มูลค่า 40,000 ล้านบาท ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ ตรวจสอบพบว่า โครงการนี้เป็นโครงการล่าสุดของกระทรวงพลังงานที่ผลักดันโดย นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมี นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นผู้สนองงาน
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนหลังบ้าน (โซลาร์รูฟท็อป) โดยมีแผนสนับสนุนไปพร้อมๆ กับการมุ่งสร้างความเข้าใจต่อชุมชน ในการเรียนรู้วิธีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในชุมชน โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ชุมชนทั่วประเทศ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้รวม 800 เมกะวัตต์ จากระยะแรก 200 เมกะวัตต์
ตามข้อมูลของกลุ่มนวัตกรรม สำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ชื่อเต็มๆ ว่า “โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน (โซลาร์ ฟาร์ม)” ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ วางเป้าหมายผลิตให้ได้ 1 เมกะวัตต์ ต่อ 1 ชุมชน เป้าหมายผลิตติดตั้งรวม 800 เมกะวัตต์ ใน 800 หมู่บ้าน
โครงการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป ต้องการสนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองภายในบ้าน หรือกิจการโรงงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน จึงมีเป้าหมายส่งเสริมในภาคครัวเรือน 1 แสนหลัง ผลิตไฟฟ้าได้ 300 เมกะวัตต์ และกลุ่มโรงงานหรืออาคารควบคุม 1,000 แห่ง รวมกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 500 เมกะวัตต์ ในเขตจังหวัดที่มีโรงงานและอาคารควบคุมที่ใช้พลังงานสูงสุด 10 จังหวัดแรก
สำหรับค่าลงทุนในการติดตั้งที่เคยคำนวณไว้อยู่ที่ 2.12 แสนบาท หรือประมาณ 70 บาทต่อวัตต์ มาจากค่าธรรมเนียมเชื่อมสาย 2 หมื่นบาท (6.67 บาทต่อวัตต์) แผงเซลล์ 6.9 หมื่นบาท (23 บาทต่อวัตต์) ค่าอุปกรณ์ประกอบและอื่นๆ 8.28 หมื่นบาท (27.6 บาทต่อวัตต์) และค่าดำเนินการภาษีกำไร 4.1 หมื่นบาท (13.67 บาทต่อวัตต์) ซึ่งทาง รมว.พลังงาน เห็นว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ควรจะปรับลดลงให้อยู่ในระดับ 1 แสนบาท
• แฉ! จ่อกู้ออมสินหนุนชุมชน 80,000 ล้านบาท
จากการประเมินมูลค่าลงทุนต่อ 1 เมกะวัตต์ พบว่าอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท ทำให้วงเงินที่รัฐบาลจะสนับสนุนต่อชุมชนรวมเป็น 80,000 ล้านบาท คาดว่าวงเงินกู้ดังกล่าวมาจากธนาคารของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน โดยมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานเป็นอำนาจของกระทรวงพลังงานร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ดำเนินการพัฒนาโครงการ จากนั้นคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีต รมว.พลังงาน เป็นประธาน เป็นผู้ออกระเบียบหลักเกณฑ์ในการพัฒนาโครงการ รวมถึงคัดเลือกหมู่บ้านที่มีศักยภาพ เพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการ คำนึงถึงประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ความสามารถรองรับของระบบสายส่ง และรายงานผลการคัดเลือกให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานรับทราบ
เมื่อพัฒนาโครงการ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ จะออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้า โดย กกพ. จะพิจารณาค่าใช้จ่ายรับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เกิดขึ้น ต่างจากค่าซื้อไฟฟ้าเฉลี่ย จากกฟผ.ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐในสูตรปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ
ข้อมูลระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเอกชนที่สนใจลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ ลานกว้าง หรือโซลาร์ ฟาร์ม พบว่า มีผู้สนใจจะลงทุนติดตั้งรวม 576 โครงการ
โดยรัฐบาล เห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าพิเศษสำหรับ “โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน” ในอัตราดังนี้ ปีที่ 1-3 ระบบสนับสนุนเงินตามการลงทุนที่แท้จริง (ฟีดอินทารีฟส์) อัตรา 9.75 บาท/หน่วย ปีที่ 4 - 10 ระบบฟีดอินทารีฟส์ อัตรา 6.5 บาท/หน่วย และปีที่ 11 - 25 ระบบฟีดอินทารีฟส์ อัตรา 4.5 บาท/หน่วย คาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยให้หมู่บ้านมีไฟฟ้าใช้เอง และสามารถขายกลับให้รัฐบาล โดยคำนวณรายได้ของ 3 แรก อยู่ที่ 2.04 ล้านบาท ปีที่ 4-10 อยู่ที่ 1.97 ล้านบาท และปีที่ 11-25 อยู่ที่ 3.97 ล้านบาท รวมรายได้ตลอด 25 ปี อยู่ที่ 77.9 ล้านบาท
• ต้นทุนสูงรัฐเมินหนุนแต่โซลาร์ชุมชน
ภายหลังมีโครงการนี้เผยแพร่ มีรายงานว่า ผู้ประกอบการโซลาร์ฟาร์มที่เลือกใช้เทคโนโลยีแบบเทอร์มอล หรือใช้พลังแสงอาทิตย์ไปต้มน้ำให้ร้อนก่อนแล้วค่อยผลิตเป็นไฟฟ้า ประมาณ 110 โครงการ จำนวน 631 เมกะวัตต์ กำลังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ไม่คุ้มค่าการลงทุน ซึ่งเป็นโครงการที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วทั้งหมด แต่ยังไม่ดำเนินการ และส่วนใหญ่ใกล้กำหนดที่ต้องจ่ายไฟฟ้าแล้ว จึงมีโอกาสที่จะถูกยกเลิกสัญญาสูง
“ผู้ประกอบการที่เลือกเทคโนโลยีแบบเทอร์มอลแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนมาเป็นแบบพีวี หรือ แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ และแปลงพลังงานแสงนั้นเป็นไฟฟ้า และเมื่อถูกยกเลิกโครงการไปแล้วจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มที่เป็นแบบพีวีทดแทนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย และคาดว่าในช่วง 3 ปีนี้ จะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ตามเป้า 3,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากรัฐบาลไปเน้นเรื่องของโซลาร์ชุมชนและโซลาร์บนหลังคา กำหนดเป้าหมายจะส่งเสริมรวมกันประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ แทน” นางกุลวรีย์ บูรณสัจจะวราพร ผู้อำนวยการกลุ่มนวัตกรรม กรมพัฒนาทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยกับสื่อมวลชนเมื่อเดือนสิงหาคม 2556
• จีนกระหน่ำโซลาร์เซลล์ ไทยปิด รง. ขาดทุนยับ
มีรายงานอีกว่า กรณีนี้ผู้ประกอบการหลายรายที่ลงทุนตั้งโรงงานผลิตแผงเซลล์อาทิตย์ขึ้นมา เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศ แต่เมื่อเวลาผ่านไปการดำเนินงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ไม่สามารถอยู่รอดได้ เนื่องจากภาครัฐไม่ได้ส่งเสริมให้การติดตั้งต้องใช้สินค้าภายในประเทศก่อน ประกอบกับแผงโซลาร์เซลล์จากจีนมีราคาถูกกว่าของไทย ทำให้ผู้ประกอบการหันไปนำเข้ามาแทน จึงส่งผลกระทบต่อยอดการผลิตในประเทศเป็นอย่างหนัก เห็นได้จากปัจจุบันโครงการที่ได้รับใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าแล้ว จะนำเข้าแผงเซลล์เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะจากจีนที่มีราคาต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตของไทยที่ยังสูงกว่า ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตแผงเซลล์ในประเทศที่มีอยู่ 3 - 4 ราย กำลังการผลิตรวม 120 เมกะวัตต์ ไม่มียอดผลิต ต้องประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง
แม้ว่าล่าสุดกระทรวงพลังงาน จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป จำนวน 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นบ้านอยู่อาศัย 100 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจ 100 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการโซลาร์ชุมชนอีก 800 เมกะวัตต์ ก็ตาม แต่คงไม่สามารถช่วยเพิ่มยอดการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยได้ เพราะคาดว่าผู้ประกอบการคงต้องนำเข้าแผงจากต่างประเทศอยู่ดี
“ปัจจุบันโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของบริษัทมีกำลังการผลิต 60-65 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท แต่ขณะนี้มียอดผลิตแผงไม่ถึง 20% ซึ่งหลังจากนี้ไปบริษัทคงต้องทยอยปิดโรงงาน และหันไปนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากต่างประเทศมารับงานแทน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย เพราะสินค้าของไทยมีคุณภาพสูงสามารถส่งออกไปต่างประเทศ ได้รับมาตรฐานสากล แต่ก็ไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้ เพราะโรงงานของไทยมีขนาดเล็กมาก เทียบกับจีนที่มีกำลังการผลิต 1-2 พันเมกะวัตต์” ผู้บริหารบริษัท บางกอก โซลาร์ จำกัด ผู้ประกอบการผลิตแผงโซลาร์เซลล์เคยเปิดเผยไว้กับ นสพ.ฐานเศรษฐกิจเมื่อเดือนสิงหาคม 2556
ขณะที่บางบริษัทไม่มียอดคำสั่งซื้อแผงเซลล์เข้ามาทำให้ต้องลดกำลังการผลิตลงเหลือน้อยมาก หรือไม่ถึง 10% ของกำลังการผลิตเต็มกำลังที่ 25 เมกะวัตต์ต่อปี เพราะหลังจากที่กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ตั้งแต่ปี 2553 ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่มียอดคำสั่งซื้อเข้ามาเลย เพราะนำเข้าจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ มีต้นทุนผลิตแผงเซลล์ต่ำกว่า 15-20% และยังเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุนให้
“บริษัทต้องประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานเมื่อปี 2550 เพราะไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา ซึ่งในปี 2551-2552 บริษัทได้ส่งออกแผงเซลล์ไปเยอรมัน แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้คำสั่งซื้อหยุดลง ดังนั้น หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป บริษัทก็ต้องปิดโรงงาน ซึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท เพราะไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุนต่อได้” ผู้บริหารของ บริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด อีกหนึ่งผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ระบุ ขณะที่ผู้ประกอบการเอง ก็อยากให้รัฐออกนโยบายส่งเสริมซื้อสินค้าในประเทศก่อน และอาจให้ราคารับซื้อไฟฟ้าสูงกว่านำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าในประเทศ
• “เพ้ง” ชี้ช่วยไม่ได้ เป็นการกีดกันทางการค้า
มีรายงานว่า นายพงษ์ศักดิ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยกล่าวถึงการออกนโยบายให้สนับสนุนผู้ผลิตแผงโซลาร์ในประเทศก่อนว่า เกรงว่าการกำหนดเช่นนี้อาจเข้าข่ายกีดกันทางการค้า ซึ่งผู้ผลิตในประเทศจะต้องแข่งขันด้านคุณภาพกับต่างประเทศให้ได้เอง โดยเฉพาะการกำหนดแผงเซลล์ที่ติดตั้งกับโซลาร์ชุมชนจะต้องเป็นซิลิคอนที่มีคุณภาพดีทั้งหมด อายุการใช้งาน 25 ปี หากใช้สินค้าไม่มีคุณภาพ หรือใช้แบบชนิดแผ่นฟิล์มบางๆ อาจเกิดการหลุดลอกทำให้ระยะเวลาการใช้งานสั้นลง ดังนั้นผู้ผลิตแผงเซลล์ในประเทศจะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้