xs
xsm
sm
md
lg

GUNKUL เร่งเครื่องติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ดึงพันธมิตรร่วมประมูล 12 โครงการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กันกุล” เร่งเครื่องติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ดึงพันธมิตรร่วมประมูล 12 โครงการ กำลังผลิตกว่า 8 เมกะวัตต์ คาดจ่ายกระแสไฟเข้าระบบได้ ภายในเดือน เม.ย.นี้

นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (SOLAR PV ROOFTOP) โดยระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ประมาณต้นเดือนเมษายนนี้ โดยได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งจะเริ่มสร้างรายได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2557 เป็นต้นไป

โดยในปีนี้บริษัทจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากการเป็นผู้ออกแบบการก่อสร้าง ผลิต ติดตั้งอุปกรณ์โซลาร์รูฟท็อป ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันของกันกุลเอ็นจิเนียริ่งให้สูงขึ้น รวมถึงรายได้ที่จะเพิ่มเข้ามามากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ของบริษัทให้เพิ่มขึ้น ซึ่งหากการติดตั้งแผงโซลาร์ รูฟท็อป (SOLAR ROOFTOP) เสร็จทันกำหนดการ คาดว่าจะเริ่มสร้างรายได้ให้แก่บริษัทในปีนี้ 2 ส่วน คือ รายได้จากการรับเหมาก่อสร้าง และส่วนแบ่งกำไรจากการถือเงินลงทุนในโครงการโซลาร์รูฟท็อป

นายสมบูรณ์ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ได้ร่วมกับพันธมิตรเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์รูฟท็อป โดยยื่นคำขอผลิตครั้งที่ 1 จากกระทรวงพลังงาน กำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เปิดให้ยื่นประมูลเมื่อวันที่ 23 ก.ย.-11 ต.ค.2556 ที่ผ่านมา บริษัทพร้อมพันธมิตรได้ผ่านการคัดเลือกในการทำโครงการโซลาร์รูฟท็อป รวมจำนวน 12 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวมประมาณ 8.86 เมกะวัตต์

โดยโครงการข้างต้นได้ลงนามสัญญาระยะเวลา 30 ปี ราคารับซื้อไฟฟ้า 6.16 บาท/หน่วย แบ่งเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟน. รวม 9 โครงการ กำลังผลิตรวม 6.33 เมกะวัตต์ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. รวม 3 โครงการ กำลังผลิตรวม 2.53 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ บริษัทได้รับความไว้วางใจจากพันธมิตรให้เป็นผู้รับงานก่อสร้างโซลาร์รูฟท็อป และเข้าร่วมถือหุ้น 25% กับบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และได้รับว่าจ้างให้เป็นผู้ก่อสร้างโซลาร์รูฟท็อป จากกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท และกลุ่มบริษัท มนต์ทรานสปอร์ต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสนใจหากภาครัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป เฟส 2 ซึ่งบริษัทมีความพร้อมและมีความเชี่ยวชาญด้านการดำเนินงานดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น