xs
xsm
sm
md
lg

ปลดล็อกผลิตไฟฟ้าบนหลังคาไม่ต้องขอใบ รง.4 แล้ว ภาคเอกชนเตรียมเจาะตลาดบ้านพักอาศัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คกก.กำกับกิจการพลังงาน ออกประกาศผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา “โซลาร์รูฟท็อป” ไม่ถือเป็นโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า ไม่ต้องขอใบ รง.4 แล้ว การไฟฟ้าฯ รับซื้อไฟฟ้าได้เลย ภาคเอกชนชี้เป็นข่าวดี เปิดทางให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ ขายกลับให้รัฐบาลได้ เตรียมวางแผนเชิงรุกเร่งขยายตลาดถึงบ้านพักอาศัยชูประหยัด-ช่วยชาติ

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป (Solar PV Rooftop) ว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงาน กกพ. ได้ดำเนินการออกประกาศ เรื่อง การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) ไม่ถือเป็นโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยยึดหลักข้อกฎหมายตาม มาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ได้ให้อำนาจหน้าที่ของ กกพ.ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลกิจการพลังงาน เป็นผู้พิจารณาอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน

กกพ.ได้วินิจฉัยแล้วเห็นว่า อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาโดยสภาพไม่มีลักษณะเป็นโรงงานตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ดังนั้น ผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าในโครงการที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้า รวมทั้งผู้ที่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จึงไม่ต้องยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ใบ รง.4 ต่อ กกพ.แต่เป็นกิจการพลังงานที่ต้องแจ้ง ตามประกาศ กกพ.เรื่อง การกำหนดให้กิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตเป็นกิจการที่ต้องแจ้ง พ.ศ.2551

นายดิเรก กล่าวว่า เหตุผลที่เห็นว่าไม่เข้าลักษณะเป็นโรงงานเนื่องจากอุปกรณ์และรูปแบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาดังกล่าว ไม่มีลักษณะเป็นเครื่องจักร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการใช้งานอาคารในพื้นที่ใช้สอยปกติ พลังงานแสงอาทิตย์ยังเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาด ปราศจากมลพิษ ไม่มีการปล่อยมลพิษทางน้ำ อากาศ หรือเสียง ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกับการประกอบกิจการโรงงานทั่วไป

ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา จึงไม่ถือเป็นการประกอบกิจการโรงงานตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ประกอบกับมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 กำหนดให้ กกพ. มีอำนาจในการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะการอนุญาตก่อสร้างโรงงานหรือการตั้งโรงงานเท่านั้น แต่ได้ครอบคลุมถึงการอนุญาตและการรับแจ้งทั้งหมดที่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายด้วย เพื่อให้การกำกับกิจการพลังงานของประเทศทั้งระบบมีความมั่นคงและมาตรฐานภายใต้การกำกับดูแลโดยองค์กรเดียว ดังนั้น การพิจารณาว่าการประกอบกิจการพลังงานใดไม่ถือเป็นโรงงาน กกพ.จึงมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้

นอกจากนี้ ยังได้ให้สำนักงาน กกพ.ดำเนินการแจ้ง กฟน.และ กฟภ.ทราบ เพื่อให้ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าในโครงการที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้า และสำนักงาน กกพ.จะดำเนินการออกใบรับแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับใบอนุญาตให้กับผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้า เพื่อนำไปยื่นต่อ กฟน.และ กฟภ.ต่อไป

ขณะที่ น.ส.วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG กล่าวว่า ถือเป็นข่าวดีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ที่มีกำลังผลิตน้อยกว่า 10 กิโลวัตต์ ไม่ต้องยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ใบ รง.4 ซึ่งจะส่งผลเปิดโอกาสให้เจ้าของบ้าน อาคารพาณิชย์ เจ้าของสำนักงานขนาดเล็ก สามารถติดตั้งเพื่อผลิตใช้ได้เอง

โดยทางบริษัทฯ ได้ทำร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ โครงการร่วมดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar PV Rooftop) กับ กฟน.แล้ว โดยผู้ที่ใช้ไฟฟ้าของ กฟน.สามารถติดต่อเพื่อให้ทาง กฟน.มาดำเนินการติดตั้งให้ถูกหลักวิชาการเพื่อความปลอดภัย ขณะเดียวกันบริษัทก็มีแผนธุรกิจที่จะดำเนินการโครงการนี้ในปี 2557 ไว้ 3,000 ยูนิต นอกจากนี้ได้วางแผนเชิงรุกเร่งขยายตลาดเจาะลูกค้าเป้าหมาย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งหลังคาโรงงาน คลังสินค้า ครอบคลุมภาคธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ กลุ่มบ้านอยู่อาศัย และ กลุ่มโครงการอสังหาริมทรัพย์

“เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการตั้งตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าบนหลังคาบ้านใช้ได้เอง และสามารถยื่นขอจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟภ.และ กฟน.ได้ต่อเนื่องถึง 25 ปีด้วย ซึ่งแนวโน้มราคาค่าไฟฟ้าบ้านเราก็มีทิศทางที่ราคาสูงขึ้น เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยค่อยๆ หมดไป ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ที่จะทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าสูงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ย่อมส่งผลให้ค่าไฟฟ้าต้องขึ้นตามไปแน่นอน จึงเป็นโอกาสดีที่ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง และยังถือว่าเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติด้วย” น.ส.วันดี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น