กกพ.เสนอ 2 แนวทาง แก้ไขโครงการ Solar PV Rooftop ทำหนังสือขยาย COD ออกไปในปี 57 และเร่งเจรจา กรอ.ประเด็น รง.4 คาดได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ มั่นใจหากได้ข้อยุติส่งผลให้บ้านอยู่อาศัยแห่ติดตั้ง Solar PV Rooftop มากขึ้น
นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) ว่า กกพ.มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว 2 แนวทาง คือ 1. เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาขยายระยะเวลากำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) สำหรับโครงการ Solar PV Rooftop ออกไปในปี 2557 เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาของการดำเนินโครงการ ซึ่งรวมถึงการติดตั้งและเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และเพื่อให้ปริมาณการยื่นขอผลิตไฟฟ้าจากโครงการ Solar PV Rooftop ทั้ง 152.29 เมกะวัตต์สามารถเข้าระบบได้ทั้ง 100%
2. กกพ.อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และพยายามหาทางออกเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการขออนุญาตใบประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด เพื่อให้โครงการ Solar PV Rooftop เป็นไปตามเป้าหมาย และสามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างแก้กฎกระทรวงให้การติดตั้ง Solar PV Rooftop กำลังผลิตไม่เกิน 20 กิโลวัตต์ จัดเป็นโรงงานประเภท 2 ไม่ต้องขอ รง.4 กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงกระทรวงพลังงานจะเจรจากับกรมโยธาธิการและผังเมืองเสนอเพิ่มประเภทโรงไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและใช้พลังงานทดแทนบางประเภท สามารถตั้งอยู่ในเขตชุมชนได้ โดยประเด็นดังกล่าวคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
“การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่อง รง.4 จะเป็นการส่งเสริมให้โครงการ Solar PV Rooftop มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ผ่านการคัดเลือก โดยเฉพาะประเภทบ้านอยู่อาศัยทั้ง 6,040 ราย ให้เกิดความคล่องตัวในการติดตั้ง Solar PV Rooftop มากขึ้น แต่ในระยะยาว การแก้ไขปัญหา รง.4 จะทำให้ประชาชนกลุ่มบ้านอยู่อาศัยสามารถเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftop ได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้นในอนาคต เพราะจะไม่ติดกับกฎระเบียบต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการติดตั้ง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้พลังงานทดแทนของประเทศ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การเปิดรับซื้อไฟฟ้า Solar PV Rooftop ที่ผ่านมามีผู้สนใจยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและโรงงาน ดังนั้น หากมีการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมอาจจะให้สิทธิผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้เสนอขายไฟฟ้าที่ได้ยื่นข้อเสนอต่อการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายไว้แล้ว” นายกวินกล่าว
ส่วนความคืบหน้าการออกใบอนุญาตประเภทต่างๆ เช่น แบบแจ้งขอดัดแปลงอาคาร แบบคำขอรับใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม และแบบแจ้งขอยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้า Solar PV Rooftop ในส่วนของสำนักงาน กกพ.ภายหลังจาก 2 การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกทั้ง 7,521 ราย แยกเป็น ประเภทบ้านอยู่อาศัย 6,040 ราย และประเภทธุรกิจและโรงงาน 1,481 รายนั้น ขณะนี้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกได้ทยอยเดินทางมาติดต่อขอใบอนุญาตต่างๆ จากสำนักงาน กกพ.แล้วทั้งสิ้น 7,058.52 กิโลวัตต์ แยกเป็นประเภทอาคารธุรกิจ 7,034.02 กิโลวัตต์ และกลุ่มบ้านอยู่อาศัย 24.50 กิโลวัตต์ ซึ่งหากได้ข้อสรุปเรื่อง รง.4 คาดว่าจะทำให้ปริมาณการยื่นขออนุญาตต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น