xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.ขยายเวลาSolar PV Rooftop

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกพ.ขยายเวลาการยื่นคำขอขายไฟฟ้า Solar PV Rooftop กลุ่มบ้านอยู่อาศัย ออกไปอีก 1 เดือน ยื่นเอกสารได้ถึง 15 พ.ย. พร้อมจัดงานเสวนาสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย หลังสอบถามรายละเอียดผ่านเบอร์ 1204 เป็นจำนวนมาก

ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) ให้กลุ่มบ้านอยู่อาศัยและกลุ่มอาคารธุรกิจ/โรงงาน สามารถยื่นคำขอขายไฟฟ้า ได้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน ถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2556 นั้น ศ.กิตติคุณ ดร.ดิเรกลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้ยื่นคำขอขายไฟฟ้ามา ปรากฏว่าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัยทั่วประเทศไทยมีผู้ยื่นคำขอคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันยังต่ำกว่าเป้าหมายรับซื้อที่กำหนดไว้ 100 เมกะวัตต์ดังนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา สำหรับบ้านอยู่อาศัยเป็นไปตามเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล กกพ. โดยประธาน กกพ.จึงได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 เพื่อขยายระยะเวลาการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัย ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 1 เดือน

ผู้ที่สนใจในกลุ่มบ้านอยู่อาศัยสามารถยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าฯ ได้ที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามแต่ละเขตพื้นที่ที่จะติดตั้งแผงได้จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ยกเว้นวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดทำการของการไฟฟ้าระหว่างเวลา 09.00 - 15.00 น.

“ประชาชนให้ความสนใจโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยได้สอบถามถึงรายละเอียด หลักเกณฑ์ และวิธีการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้ากับ Call Center 1204 และเว็บไซต์ (www.erc.or.th) ของสำนักงาน กกพ.เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากโครงการ Solar PV Rooftop เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ดังนั้น กกพ.จึงมีความเห็นให้มีการขยายระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าฯ ออกไปเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีความสนใจมีเวลาในการเตรียมเอกสารประกอบการยื่นขอขายไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ. จะร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสถาบันการเงิน จัดงานเสวนาให้ความรู้และความเข้าใจกับประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ พร้อมโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการให้สินเชื่อภายในงานด้วย ซึ่งคาดว่าการขยายระยะเวลาการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าในครั้งนี้ จะทำให้ยอดการยื่นแบบคำขอในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 100 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ถ้ามีความคืบหน้าของการจัดงานเสวนาฯ อย่างไรจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบในโอกาสต่อไป” ศ.กิตติคุณ ดร.ดิเรก กล่าว
ศ.กิตติคุณ ดร.ดิเรก กล่าวต่อถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftopว่า ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาทต่อการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 1 กิโลวัตต์ ซึ่งจะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 1,300 หน่วยต่อปี และจะสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยประมาณ 8,000-9,000 บาทต่อปีและจุดคุ้มทุนจะอยู่ประมาณ6-7 ปี ซึ่งการลงทุนอาจจะดูสูงเมื่อเทียบกับรายได้ต่อ 1 กิโลวัตต์ต่อปี แต่หากมองในระยะยาวซึ่งมีอายุของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าครอบคลุมถึง 25 ปีด้วยเหตุนี้ จึงเป็นความคุ้มค่าทั้งในด้านราคา และด้านการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ เพราะราคาไฟฟ้าที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ3.75บาทต่อหน่วยแต่ขณะเดียวกันผู้ที่ติดตั้ง Solar PV Rooftop ในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย สามารถขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้ในราคา 6.96 บาทต่อหน่วย กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดเล็กราคา 6.55 บาทต่อหน่วย และกลุ่มอาคารธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ราคา 6.16 บาทต่อหน่วย

“โครงการนี้ นอกจากจะสร้างรายได้ให้แก่ผู้ติดตั้งแล้ว ยังถือว่าเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของการลดภาระการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 70% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด” ศ.กิตติคุณ ดร.ดิเรกกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น