xs
xsm
sm
md
lg

แนะเขียนกฎหมายให้สิทธิ “เด็ก-หญิงอุ้มบุญ” ไม่ควรห้ามเชิงพาณิชย์-ปิดกั้นชีวิตคู่เพศเดียวกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
กรรมการสิทธิฯ จัดเสวนา “กฎหมายอุ้มบุญกับความเป็นธรรมทางเพศ” นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ชี้ไม่ควรห้ามเชิงพาณิชย์ อีกทั้งไม่ควรปิดกั้นคู่ชีวิตเพศเดียวกัน - คนโสดไม่ให้มีลูก แต่ควรใช้มาตรการคัดกรอง สัญญา ลายลักษณ์อักษร กำหนดอายุหญิงอุ้มบุญ 20 - 35 ปี ค่าใช้จ่ายเป็นมาตรฐาน ให้สิทธิ์ทราบข้อมูลผู้ว่าจ้าง ด้านนักวิชาการเผยต้องดูเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ชี้ประเด็นสำคัญคือใจของคนอยากเป็นพ่อแม่

วันนี้ (19 ก.ย.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดเสวนาเรื่อง “กฎหมายอุ้มบุญ เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์กับความเป็นธรรมทางเพศ” เพื่อนำเสนอภาพสถานการณ์การใช้เทคโนโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์กับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน อีกทั้งยังเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยและพัฒนาข้อเสนอแนะต่อการออกมาตรการทางกฎหมายดังกล่าวที่มีความรัดกุมเท่าทันสถานการณ์ ครอบคลุมสิทธิหน้าที่และการคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้เกี่ยวข้อง โดยมี นางสุชาดา ทวีสิทธิ์ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา นางกฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล นางนัยนา สุภาพึ่ง มูลนิธิธีรนาถกาญจนอักษร นางชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ นพ.สุพร เกิดสว่าง เป็นวิทยากรการบรรยาย

นางสุชาดา กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. .... ว่า กฎหมายนี้ไม่ควรห้ามการตั้งครรภ์แทนเชิงพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการที่เป็นจริง ไม่ควรปิดกั้นคู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกันหรือบุคคลที่เป็นโสดไม่ให้มีลูกโดยอาศัยเทคโนโลยีดังกล่าว เพียงเพราะผู้เสนอกฎหมายมีอคติกับคนทั้งสองกลุ่มนี้ แต่ควรใช้มาตรการคัดกรองความเหมาะสมของการมีความสามารถในการเป็นพ่อแม่ด้วยวิธีอื่น ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องถูกนำไปใช้กับคนทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานภาพโสด หรือรสนิยมทางเพศ อีกทั้งควรให้การรับรองสัญญา หรือข้อตกลงนั้นต้องทำให้ถูกต้องเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีการลงมือชื่อและมีพยาน และควรระบุแนวทางปฏิบัติแนบท้ายสัญญาให้ครอบคลุมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิสุขภาพของหญิงรับจ้างตั้งครรภ์

นางสุชาดา กล่าวอีกว่า ควรกำหนดอายุของหญิงที่จะรับตั้งครรภ์แทนไว้ให้เหมาะสมคือไม่ต่ำกว่า 20 ปี และไม่เกิน 35 ปี ซึ่งควรสอดคล้องกับข้อกำหนดแพทยสภา ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของหญิงรับตั้งครรภ์แทนและของเด็ก ควรมีการกำหนดราคาค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ และค่าตอบแทนแก่หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนที่เป็นมาตรฐาน โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายทุกด้านที่จะเกิดขึ้นจากกการตั้งครรภ์ รวมทั้งเงินชดเชยการหยุดงาน การเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต เพราะภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ และต้องกำหนดให้มีการทำประกันชีวิต ให้แก่หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และต้องให้สิทธิแก่หญิงรับจ้างตั้งครรภ์ในการตัดสินใจเรื่องการยุติการตั้งครรภ์แต่เพียงผู้เดียว แต่ต้องแจ้งให้ผู้ว่าจ้างทราบการตัดสินใจก่อนการดำเนินการ รวมทั้งให้สิทธิแก่หญิงรับจ้างตั้งครรภ์ได้มีโอกาสรู้จักและทราบข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นจริงเกี่ยวบุคคลที่ว่าจ้าง การปกปิดข้อมูลจะถือเป็นความผิด

“ร่างกฎหมายนี้ควรที่จะต้องคุ้มครองสิทธิในการได้มาซึ่งสัญชาติที่เหมาะสมแก่เด็กที่เกิดมาจากเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กตกอยู่ในสภาวะไร้สัญชาติ หรือเสียสิทธิบางอย่างที่ควรจะได้รับจากพ่อแม่ที่มีความเกาะเกี่ยวทางพันธุกรรมเด็ก กฎหมายจึงควรให้เด็กได้เข้าถึงสิทธิความเป็นพลเมืองในรัฐที่เป็นภูมิลำเนาของพ่อแม่ผู้ว่าจ้าง” นางสุชาดากล่าวและว่า หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนไม่ว่าในกรณีรับค่าจ้างหรือไม่รับค่าจ้าง ควรจะได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งสิทธิในการตัดสินใจเรื่องการเจริญพันธุ์ และสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ

ด้าน นางชลิดาภรณ์ กล่าวว่า ถ้าจะมีการใช้เทคโนโลยีนี้ขอให้พิจารณาประเด็นต่อไปนี้ให้ละเอียดคือ เรื่องสิทธิและเสรีภาพ การควบคุมกำกับและการคุ้มครอง และความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เชื่อมโยงต่อกัน จะเห็นได้ว่าการเจริญพันธุ์กว่าจะออกมาเป็นมนุษย์มีขั้นตอนการตัดสินใจหลายขั้นตอน แต่การใช้เทคโนโลยีนี้ทำให้เห็นการตัดสินใจในรายละเอียดมากกว่าเดิม เช่น ใครจะมาอุ้มท้อง คำถามคือ แล้วใครจะมาเป็นผู้ตัดสินใจ แล้วหากคนที่เกี่ยวข้องเป็นคนตัดสินใจต้องถามต่อไปว่าคนที่ตัดสินใจมีความสามารถในการเลือกหรือมีความเข้าใจเชิงเทคนิคเพียงพอหรือไม่ เราต้องระวังว่าจะเป็นการตอบโจทย์แทนคนอื่น และประเด็นนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้ตั้งครรภ์แทน เพราะมีการตอบแทนค่าใช้จ่ายหรืออาจมีการต่อรอง ซึ่งขณะนี้เรายังเห็นสภาพความไม่เป็นธรรมอยู่ในสังคม ถ้าหากรัฐจะเข้ามาช่วยกำกับดูแลต้องระวังว่าจะเป็นการช่วยลดความไม่เป็นธรรมหรือเป็นการผลิตซ้ำความไม่เป็นธรรม

“ประเด็นสำคัญคือเรื่องใจคน ของผู้ที่อยากเป็นพ่อเป็นแม่ ท่ามกลางการแสวงหาผลประโยชน์ มันมีความอาทรอยู่ในนั้น โดยเฉพาะของหญิงที่รับตั้งครรภ์ หากมีการให้บริการเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์แล้วมีแนวโน้มที่จะเกิดสถานการณ์อยู่สองสถานการณ์คือ เด็กที่เกิดมาอาจถูกมองเป็นตัวประหลาด เห็นได้จากการนำเสนอของสื่อกระแสหลักในตอนนี้มีมุมมองว่าเด็กพวกนี้คือตัวประหลาด ประเด็นเหล่านี้ต้องตอบโจทย์ให้ดีเสียก่อนว่าจะมีวิธีแก้ไขปัญอย่างไร”


กำลังโหลดความคิดเห็น