xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าธุรกิจ“อุ้มบุญ” ค่าจ้าง 2-3 แสน/คน นายหน้ารับ 2 หมื่นต่อหัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าขบวนการ "แม่อุ้มบุญ"ผ่านโลกออนไลน์ จ่ายดี 2-3 แสนต่อคน ค่านายหน้า 1-2 หมื่น แถมโปรโมชั่นหลังคลอด ในยุคกฏหมายอุ้มบุญ-ค้ามนุษย์ในไทยยังอ่อนแอ

กำลังมีประเด็น "แม่อุ้มบุญ"คนไทย ที่รับจ้างท้องแทนสามีภรรยาชาวต่างประเทศ แต่กลับมีปัญหาระดับประเทศ กรณีไม่รับบุตรที่มีความพิการ จนเป็นที่สนใจของทั้งคนไทยจะคนต่างประเทศ มีความน่าสนใจว่าขบวนการแม่อุ้มบุญ จากต่างประเทศ ที่ถูกเรียกว่า เอเยนซี่ เข้ามาหากินในประเทศไทยได้อย่างไร กฏหมายไทยให้ดำเนินการถูกต้องหรือไม่

ผู้สื่อข่าว "ASTVผู้จัดการ" ตรวจสอบพบพบว่า กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับแม่อุ้มบุญของไทยนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนของวิปรัฐบาลเท่านั้น หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นกลับมายังรัฐบาล แต่ไม่ปรากฏว่า เป็นวิปรัฐบาลช่วงนั้น บ้างก็ระบุว่า บรรจุเข้าสู้สมัยประชุมรัฐสภาแล้ว แต่อยู่ท้ายๆ เรื่องที่ค้างอยู่หลายร้อยเรื่อง

ตรวจสอบพบว่า กฏหมายอุ้มบุญ เสนอเข้ามาในวันที่11พ.ค.2553 ช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เจ้าของเรื่องคือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมัยนายอิสระ สมชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการ มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็น รมว.สาธารณสุข

"กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นเจ้าภาพ แทนที่จะเป็นกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นเรื่องของการค้ามนุษย์ หรือไม่"

แนวทางของกฏหมาย "ให้ทำได้ในคู่ผัว-เมียที่จดทะเบียนสมรสเท่านั้น ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับเป็นแม่อุ้มบุญผสมอสุจิของพ่อ ป้องกันความรู้สึกผูกพัน"

กฏหมายนี้ยังให้ตั้งกรรมการ คุ้มครองเด็กอุ้มบุญ มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ที่สำคัญในร่างกฏหมายครอบคลุมทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ โดย ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ….. หรือ กฎหมายอุ้มบุญ

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายคือ

1. กำหนดให้ศาลเยาวชนและครอบครัว มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับความเป็นบิดามารดาของผู้ที่เกิดโดยอาศัยการอุ้มบุญ และกำหนดให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว หรือศาลยุติธรรมอื่น

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคพ.) โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีนายกแพทยสภาเป็นรองประธานกรรมการ ส่วนกรรมการโดยตำแหน่งมี 6 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอีก 5 คน

3. กำหนดให้การผสมเทียมต้องกระทำต่อหญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเท่านั้น และต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีการใช้อสุจิจากผู้บริจาค

4. กำหนดวิธีการดำเนินการตั้งครรภ์แทนไว้ 2 กรณีคือ 1. การใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิและไข่ของสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทน และ 2. การใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิหรือไข่ของสามี หรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน กับอสุจิหรือไข่ของผู้อื่น ซึ่งหมายความว่าต่อไปหญิงที่รับอุ้มบุญไม่สามารถใช้ไข่ของตัวเองผสมกับอสุจิของพ่อโดยกฎหมายได้ เพื่อป้องกันความรู้สึกผูกพัน

4. กำหนดให้แพทยสภาโดยความเห็นชอบของกคพ. ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสุขภาพของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนในขณะตั้งครรภ์ การคลอด และหลังคลอด

5. กำหนดความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ไว้เป็นการเฉพาะ และให้ผู้มีส่วนได้เสียมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ปกครองได้ กรณีที่สามีและภริยาที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนถึงแก่ความตายก่อนเด็กเกิด

6. ห้ามใช้ประโยชน์จากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนที่ฝากไว้ในกรณีที่เจ้าของอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนดังกล่าวตายลง ยกเว้นเจ้าของให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ก่อนตาย และต้องใช้อสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนเพื่อบำบัดรักษาภาวะการมีบุตรยากของสามีหรือภริยาที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

แม้กฏหมายบังคับยังไม่มีการประกาศใช้ แต่กระบวนการอุ้มบุญ ยังต้องผ่านการพิจารณาจาก"แพทยสภา"เท่านั้น การควบคุมทางกฏหมายจึงดำเนินการได้ยาก

ขบวนการอุ้มบุญผ่านโลกออนไลน์

กลับมาที่กรณี หญิงสาว อายุ 21 ปี ที่ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีเป็นแม่อุ้มบุญ หรือรับจ้างตั้งท้องให้กับชายชาวออสเตรเลียและภรรยาชาวจีนมีการระบุว่า

"ก่อนมารับอุ้ม นั้น ได้เล่นเฟซบุ๊กและเห็นโฆษณาว่ามีงานให้ทำ รายได้ดี ประกอบกับตัวเองฐานะทางบ้านขัดสน และมีลูกมาแล้ว 2 คน จึงอยากได้เงินมาจุนเจือครอบครัวและรับจ้างตั้งท้องให้กับสามีภรรยาคู่นี้ที่มีอายุมากแล้ว โดยผ่านเอเยนซี ชื่อจอย ตกลงราคาค่าจ้างไว้ที่ 300,000 บาท หากได้ลูกแฝดจะเพิ่มเป็น 350,000 บาท"

หากดูกระบวนการทำคลอดในปีะเทศไทย ยังสามารถทำคลอดที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง ใช้บัตร 30 บาท เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ได้ด้วย

ผู้สื่อข่าว ตรวจสอบตรวจอย่างกรณีนี้พบเว็บไซต์หนึ่งชื่อ รับอุ้มบุญ.com และแฟนเพจเฟซบุ๊กหนึ่งชื่อ รับสมัครแม่อุ้มบุญ

พบว่าในเว็บมีการแสดงรายละเอียดทั้งวิธีดำเนินการเลือกโรงพยาบาล วิธีทำอุ้มบุญแบบต่างๆ มีภาพแพทย์ชาวต่างชาติแสดงความน่าเชื่อถือ ระบุถึงการให้การแนะนำ ระบุว่า จะไม่หลอกลวง โดยมีเบอร์โทรศัพท์มือถือ 085-236-8181 ให้ติดต่อไว้เท่านั้น ไม่มีการระบุชื่อแพทย์หรือรายละเอียดเกี่ยวกับกฏหมายเลย

ส่วนแฟนเพจ รับแม่อุ้มบุญ พบว่า มีผู้เข้ามากดไลท์จำนวนหนึ่ง บ้างสอบถามและให้ความสนใจ แต่ไม่มีเบอร์โทรติดต่อ แต่ให้สอบถามผ่านโปรแกรมแชทในแฟนเพจว่าจะติดต่อกลับโดยเอเยนซี่

อย่างไรก็ตามเพจนี้ระบุถึงคุณสมบัติ อายุ ค่าตอบแทนหลัก 2-3 แสนบาท มีค่าอาหารเดือนละ2พันบาท แต่ที่สำคัญระบุไว้ว่า คนที่แนะนำคนที่จะอุ้มบุญให้กับเพจนี้จะมีค่าตอบแทนหรือค่านายหน้ารายละ 1-2 หมื่นบาท

ผู้สื่อข่าวยังตรวจสอบพบว่า บางเพจ อ้างว่า หากคลอดแล้วจะได้สิทธิพิเศษจำนวนมาก แต่ไม่ระบุว่าจะเป็นอะไร

ย้อนรอยแก๊งอุ้มบุญในอดีต

หากจำกันได้คดีอุ้มบุญที่สร้างความฮือฮา เมื่อปี 2554 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) บุกทลายวงจรธุรกิจอุบาทว์ เข้าช่วยเหลือสาวชาวเวียดนาม 13 คน พร้อมทั้งจับกุม น.ส.เฉิน ไป่ หวัน อายุ 35 ปี นายซู อุย เฉียน อายุ 31 ปี นายไช่ หลิง อี อายุ 26 ปี น.ส.ไช่ หยู่ หยุน อายุ 25 ปี ซึ่งทั้งสี่เป็นคนสัญชาติไต้หวัน นายหลู ไข่ สัญชาติจีน น.ส.โบ๋ ลุงคำ อายุ 21 ปี และเด็กหญิง (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) อายุ 12 ปี และอายุ 13 ปี สัญชาติพม่า

โดยชุดสืบสวนดีเอสไอ และชุดสืบสวน สตม. สามารถช่วยเหลือหญิงสาวชาวเวียดนามและจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ที่บ้านเลขที่ 79/86 และบ้านเลขที่ 79/246 หมู่บ้านธารารมณ์ ซอยรามคำแหง 150 ถนนรามคำแหง แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ โดยบ้านเลขที่ 79/86 เปิดเป็นบริษัทชื่อ "บริษัท เบบี้ 101 จำจัด" ประกอบกิจการเกี่ยวกับการดูแลสตรีในระยะตั้งครรภ์และหลังคลอด โดยมี นายเสียง ลุง โล เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งพบหลักฐานหนังสือรับรองว่าได้จดทะเบียนบริษัทดังกล่าว ที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 0105552066382 และจากการตรวจสอบประวัติ นายเสียง ลุง โล เคยถูกตำรวจไต้หวันจับกุมในข้อหาบริการธุรกิจอุ้มบุญโดยผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์

เบื้องหลังการจับกุมและช่วยเหลือเหยื่อทั้ง 13 คนครั้งนี้ มีหญิงสาวชาวเวียดนามจำนวนหนึ่งถูกบังคับและหลอกลวงให้มา "อุ้มบุญ" และพบว่า มีเหยื่อ 7 คน อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังมีเหยื่อ 2 คน มาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลสินแพทย์ และโรงพยาบาลเสรีรักษ์

ขบวนการอุ้มบุญ

ตอนนั้น นายฟาม มินห์ ตวน เลขานุการเอกสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย ได้สอบถามหญิงชาวเวียดนาม ซึ่งยอมรับว่า มีบุตรชายอยู่แล้ว 1 คน ตอนนี้อยู่ที่ประเทศเวียดนาม และได้รับการติดต่อให้มารับจ้างอุ้มบุญในเมืองไทย จึงทำหนังสือเดินทางและเข้ามาอยู่ในเมืองไทยอย่างถูกกฎหมาย

"การตั้งครรภ์ครั้งนี้ ฉันคลอดบุตรชายด้วยวิธีการผ่าตัดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ แต่จนถึงทุกวันนี้ ฉันยังไม่เห็นหน้าบุตรชายที่อุ้มบุญเลย ที่ผ่านมาเพื่อนฉันก็เคยรับจ้างอุ้มบุญแบบนี้ ได้เห็นลูกและกอดลูกไม่ถึง 5 นาที ก็มีคนมาเอาไป" หญิงชาวเวียดนาม กล่าว

หญิงชาวเวียดนามเล่าถึงการเดินทางมารับจ้างอุ้มบุญที่เมืองไทยว่า นายเสียง ลุง โล ติดต่อให้มารับจ้างอุ้มบุญ วันที่เดินทางมาถึงเมืองไทย นายเสียง ลุง โล เดินทางมารับด้วยตนเอง ที่สนามบินสุวรรณภูมิ แล้วเดินทางมาที่บ้านหลังดังกล่าวในหมู่บ้านธารารมณ์ โดยตกลงค่าจ้างว่า ระหว่างที่ยังไม่ตั้งครรภ์จะได้รับเงิน 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือ 1,500 บาท ระหว่างการตั้งครรภ์จะได้รับเงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,000 บาทต่อวัน และหลังคลอดบุตรจะได้ 5,000 ดอลลาร์สรัฐ หรือ 1.5 แสนบาท

ส่วนสถานพยาบาลที่รับทำ "อุ้มบุญ" นั้น หญิงชาวเวียดนามยอมรับว่า ไม่รู้ว่าเป็นโรงพยาบาล หรือคลินิก รู้เพียงว่านั่งรถแท็กซี่ไปประมาณ 30 นาที เมื่อเดินทางไปถึงก็ถูกนำตัวไปขึ้นขาหยั่ง มีผ้าคลุมหน้า จึงไม่เห็นหน้าคนทำ หลังจากนั้นก็มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลแห่งนี้

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ตอนนั้น พร้อมพนักงานสอบสวน ร่วมสอบถาม ทราบว่า ในอดีตแต่ละเดือนจะมีหญิงชาวเวียดนามมาคลอดและมาฝากครรภ์เดือนละประมาณ 2-3 คน ส่วนหญิงชาวเวียดนามรายนี้ มีผู้พามาฝากครรภ์เมื่อหลายเดือนก่อน ตามประวัติเวชระเบียน ระบุว่า "อุ้มบุญ" โดยไม่ทราบว่าคนไข้รายนี้ใช้บริการตั้งครรภ์ตามเทคนิควิธีทางการแพทย์ที่ใด อย่างไรก็ตาม การแจ้งเกิดของบุตรชายของหญิงเวียดนามรายนี้ ทราบเบื้องต้นว่า เอกสารยังไม่พร้อมที่จะให้โรงพยาบาลแจ้งเกิด

ตามข่าว ขบวนการนี้จะมีการติดต่อลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ "อุ้มบุญ" ทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต โดยไม่รู้ว่าหญิงเหล่านี้ไปตั้งครรภ์แบบ "อุ้มบุญ" ที่สถานพยาบาลใด

ตอนนั้นตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเชื่อว่า น่าจะมีการลักลอบอุ้มบุญในเมืองไทยมานานแล้ว จากการตรวจค้นพบเอกสารสัญญาการรับจ้างตั้งครรภ์, เอกสารการดูแลครรภ์, เครื่องประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ และเอกสารที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนการช่วยเหลือและจับกุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากหญิงสาวชาวเวียดนาม 4 ใน 13 คน แอบร้องขอความช่วยเหลือผ่านอินเทอร์เน็ตไปยังสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย ทางสถานทูตจึงติดต่อไปยัง "ดีเอสไอ" ให้เข้ามาช่วยเหลือ โดยพบหญิงสาวมีการตั้งครรภ์ทั้งหมด 7 คน

ย้อนรอยคนไทย ต่างประเทศสนใจทำอุ้มบุญ

ทั้งนี้ ทีมข่าว CLICK เลยทำรายงาน เรื่องแม่อุ้มบุญ เผยแพร่เมื่อช่วงปี2553 ไว้น่าสนใจ โดยมีใจความดังนี้

มีคำกล่าวกันว่า การที่สามีภรรยาจะมีชีวิตคู่ที่สมบูรณ์นั้นต้องมี 'โซ่ทองคล้องใจ' มาเกี่ยวรัดเติมเต็มความเป็นครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
แต่ใช่ว่าการมีลูกเป็นโซ่ทองมาคล้องใจนั้นจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ กับคู่แต่งงาน สามีภรรยาทุกคู่เสมอไป บางคู่แต่งงานกันไม่ทันไรก็ท้องซะแล้ว หรือบางคู่แต่งงานอยู่กินจนหม้อข้าวดำแล้วดำอีกก็ยังไม่มีลูกออกมาให้เชยชมสักที ทำให้คู่แต่งงานบางคู่ชักท้อ และก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ท้อแท้ต่อโชคชะตา แต่ยังพยายามหาวิธีทำลูกให้สมใจหมายให้ได้

เมื่อใช้วิธีธรรมชาติไม่ได้ผล จึงขอพึงวิธีวิทยาศาสตร์ดูสักตั้ง ดังนั้นบรรดาคนที่อยากเป็นคุณพ่อ คุณแม่ต่างจูงมือกันไปปรึกษาแพทย์เป็นการด่วน
เพื่อตอบสนองโจทย์ตรงนี้วงการแพทย์จึงสรรหาวิธีมาแก้ไขให้แก่คู่สมรสที่มีบุตรยากเหลือเกิน ด้วยวิธีทางการแพทย์ที่เรียกว่า เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ โดยใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยและพัฒนา จนปัจจุบันมีหลากหลายวิธีให้เลือกมากมาย เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว การทำกิฟต์ ทำซิฟต์ ทำอิ๊กซี่ รวมถึงการตั้งครรภ์แทน หรือที่คนไทยเรียกว่า 'อุ้มบุญ'

ซึ่งการอุ้มบุญนี้เคยเป็นที่กล่าวขานกันมากในสังคม เพราะก่อนหน้านี้เคยเกิดปัญหาข้อขัดแย้งผู้ที่อุ้มบุญเกิดความรักในตัวเด็กที่อุ้มท้องมา จนไม่ต้องการมอบให้แก่ผู้ที่มาขอให้ทำการอุ้มบุญ

แต่ในต่างประเทศแล้ว ก็มีคนดังจำนวนมากที่เคยใช้บริการการอุ้มบุญมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น ไมเคิล แจ็กสัน หรือริกกี้ มาร์ติน ส่วนในเมืองไทยเองก็พอมีอยู่บ้าง โดยเฉพาะคนที่มีฐานะ แต่ไม่ค่อยออกมาเป็นข่าวเท่านั้นเอง
จนเมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวออกมาว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการสืบพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ....หรือเด็กอุ้มบุญแล้ว และขั้นตอนต่อไปก็รอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก็เท่ากับว่าอีกไม่ช้านานเมืองไทยจะมีกฎหมายอุ้มบุญใช้ (ใช่หรือไม่)

ถ้าว่ากันตามจริงกฎหมายฉบับนี้มีความครอบคลุมทั้งฝ่ายสามี ภรรยา เด็ก และผู้หญิงรับอุ้มบุญแค่ไหน สามารถรองรับแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้น และปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาได้มากน้อยเพียงใด

คุณแม่ที่ใช้บริการ 'อุ้มบุญ'

เป็นที่รับรู้ในวงกว้างว่า ธัญญ่า-ธัญญาเรศ เองตระกูล (รามณรงค์) คืออีกหนึ่งกรณีที่ใช้บริการ 'อุ้มบุญ' เนื่องจากตัวเธอเองมีปัญหาเรื่องมดลูกจึงไม่สามารถอุ้มท้องเองได้ ทั้งเธอและสามี (สัณชัย เองตระกูล) พยายามใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยเพื่อที่จะอุ้มท้องลูกตัวเองได้ แต่ก็ล้มเหลวมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยใช้เวลาร่วม 4 ปีในการพยายามที่จะมีลูกแต่ก็ไม่สำเร็จ

ใจจริงแล้วธัญญาเรศอยากที่จะอุ้มท้องเอง ในเมื่อมีลูกทั้งทีก็อยากได้ความเป็นแม่เต็มร้อย แต่เมื่อสภาพร่างกายไม่พร้อม จึงต้องหาวิธีและหาคนที่ดีที่สุดมาอุ้มบุญให้แทน

“มีพี่สาว ซึ่งเป็นญาติกันเป็นฝรั่งแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ เขามาเสนอตัวว่าถ้าอยากท้องเขาท้องให้ไหม คือใช้วิธีอุ้มบุญ เราก็คิดว่าจะดีไหมคิดอยู่นานปีหนึ่งกว่าจะตัดสินใจ ก็เลยลองวิธีนี้ดูก็ได้ เราอาจจะโชคดีได้ลูกมาด้วยวิธีนี้ สรุปก็ตัดสินใจทำ แล้วได้ลูกสาวมาสมใจ”

แรกเริ่มในหัวอกคนเป็นแม่ก็ต้องมีความกังวลใจ กลัวว่าเมื่อลูกเกิดมา จะรักลูกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนแม่ทั่วไปรักกันหรือไม่ แต่ด้วยความที่สามี และพี่สาวที่รับอุ้มท้องได้ช่วยพูดให้คลายกังวลลงได้

“พอเรารู้ว่าพี่สาวเราท้องก็ตื่นเต้น ยิ่งกว่าท้องเองด้วยซ้ำ เพราะว่ารู้ว่าเขาท้องเมื่อไหร่เราต้องได้ลูกแน่นอน เพราะมดลูกเขาแข็งแรง มีลูกมาแล้ว 3 คน เราก็เห็นการเจริญเติบโตและติดตามเขามาตลอด จนถึงวันที่ใกล้คลอดเราตื่นเต้นมาก เราได้เป็นคนอุ้มเขาคนแรก ตัดสายสะดือ ได้ความผูกพันแบบเต็มร้อย โดยที่พี่สาวจะไม่ยุ่งเลย”

ขั้นตอนการทำอุ้มบุญ เนื่องจากพี่สาวของธัญญาเรศเป็นคนต่างชาติ อาศัยในประเทศสหรัฐฯ แต่มาทำการอุ้มบุญที่เมืองไทย และกลับไปใช้ชีวิตช่วง 9 เดือนที่สหรัฐฯ และคลอดที่นั่น

“ไปหาเขาสองครั้งแต่คุยกันตลอด เขาอยู่อเมริกาเราไว้ใจเขา เพราะเขาเป็นคนรักษาสุขภาพมากทานของที่มีประโยชน์ ”

เมื่อถึงเวลาลูกเกิดขึ้นมา ธัญญาเรศก็รับเป็นแม่ทันที โดยการดูแลเขาทุกวินาทีตั้งแต่เขาออกมา

“ช่วงที่อยู่อเมริกา เหนื่อยและมีความสุขมาก ไม่มีผู้ช่วยเลย มีแม่คนเดียวช่วยกันเลี้ยง ต้องทำเองทุกอย่าง เขาตื่นตอนไหนก็ต้องตื่นกับเขาดูแลทุกอย่าง ”

พอเสร็จสิ้นภารกิจอุ้มบุญแล้ว ก็เป็นปกติของผู้ที่เป็นคนอุ้มต้องมีความรักและผูกพันกับตัวเด็กแน่นอน ซึ่งธัญญาเรศก็เชื่ออย่างนั้น

“แน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ พี่สาวเราเขายังแอบร้องไห้ แต่แค่ใจหายท้องมา 9 เดือน แต่น้องต้องมาอยู่เมืองไทยคิดถึง”

อุ้มบุญทำอย่างไร?

หลายคนอาจจะสงสัยว่าการทำอุ้มบุญคืออะไร มีกรรมวิธีอย่างไร พ่อแม่หรือสามีภรรยาที่อยากมีลูกและแม่ผู้รับอุ้มบุญนั้นต้องมีคุณสมบัติเช่นไร ถึงจะเข้าข่ายสามารถทำเรื่องอุ้มบุญได้

ในเรื่องนี้ นพ.ชาญชัย เลาหประสิทธิพร แพทย์หัวหน้าศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลพญาไท 3 อธิบายถึงวิธีการอุ้มบุญว่าคือ การที่หญิงซึ่งไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยมดลูกของตัวเองได้ ใช้ไข่ของตัวเองและอสุจิของสามีไปผสมเพื่อให้เกิดตัวอ่อนขึ้นในครรภ์ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน
โดยหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนไม่มีเชื้อสายทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับหญิงเจ้าของไข่ ซึ่งสาเหตุที่หญิงเจ้าของไข่ไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยตัวเองได้ อาจเกิดจากการที่มดลูกมีปัญหา ผ่าตัดมดลูกไปแล้วแต่ยังมีรังไข่อยู่

สำหรับขั้นตอนการอุ้มบุญ เริ่มต้นจากการเตรียมตัวอ่อน ด้วยการกระตุ้นไข่โดยใช้ยาฉีดเพื่อให้ไข่สุก จากนั้นเจาะไข่ออกมาข้างนอกตัวของหญิงผู้เป็นแม่ เพื่อเอาเชื้ออสุจิของผู้เป็นพ่อไปปฏิสนธิจนได้เป็นตัวอ่อนแตกตัวออกมา อาจมีการนำตัวอ่อนไปแช่ไว้ก่อนเพื่อรอให้มดลูกของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีความพร้อม ก่อนทำการละลายเพื่อนำไปฝังตัวที่มดลูก หรือหากมดลูกของหญิงที่รับตั้งครรภ์มีความพร้อมก็อาจละลายตัวอ่อนไปฝังได้เลยทันทีไม่ต้องรอ

หญิงเจ้าของไข่ สามีเจ้าของอสุจิ และหญิงที่รับอุ้มบุญต้องผ่านการตรวจเช็กโรคดังนี้

“หญิงอุ้มบุญต้องตรวจโรคติดต่อ กามโรค ตับอักเสบบี เอชไอวี ซิฟิลิส บางครั้งอาจต้องตรวจหัดเยอรมันด้วย ส่วนหญิงเจ้าของไข่ต้องตรวจโรคที่ติดต่อทางพันธุกรรม เช่น โรคเลือด โครโมโซมผิดปกติหรือไม่ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปติดหญิงที่รับอุ้มบุญ และตรวจคนเป็นพ่อด้วย” นพ.ชาญชัยกล่าว

นอกจากนั้น สุขภาพของหญิงที่รับอุ้มบุญต้องแข็งแรง อายุอยู่ในเกณฑ์ที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์น้อย คืออายุ 20 กว่า หรือ 30 กว่า หากอายุ 30 ปลายๆ ไม่มีโรคแทรกซ้อน และเคยตั้งครรภ์สำเร็จมาแล้วจะยิ่งดีมาก เหมาะกับการอุ้มบุญอย่างยิ่ง

แม้การผดุงครรภ์ของหญิงที่รับอุ้มบุญจะมีความยุ่งยากมากกว่าหญิงที่ตั้งครรภ์ปกติ เพราะลูกมีสิทธิ์หลุดไปหรืออาจแท้งลูกได้มากกว่า แต่การอุ้มบุญมีความปลอดภัยไม่ต่างจากการตั้งครรภ์ปกติ และโอกาสที่เด็กจะเกิดมาพิกลพิการก็มีไม่ต่างจากการตั้งครรภ์ปกติ

กฎหมาย ‘อุ้มบุญ’ ครอบคลุมทั่วถึง

ศ.นพ.ประมวล วีรุตมเสน ที่ปรึกษาหน่วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และหนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการด้านเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรือ กฎหมายอุ้มบุญ กล่าวถึงความเป็นมาก่อนที่จะมาเป็นร่างพ.ร.บ.อุ้มบุญว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ที่มาจากหลายภาคส่วนมีการพูดคุย และตั้งประเด็นขึ้นมาว่าเคยมีเหตุการณ์การขัดแย้งเรื่องบุตรที่เกิดมาจะเป็นของใคร และไปกระทบกระเทือนเรื่องสิทธิผลประโยชน์ของเด็กและแม่ และเมื่อกลับไปดูก็ปรากฏว่าไม่เคยมีกฎหมายแบบนี้ออกมารองรับ

“เรามีกฎหมายแพ่งที่ระบุว่า ลูกที่เกิดจากหญิงคนใดก็ควรเป็นลูกของหญิงคนนั้น แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าจะมีกฎหมายอื่นมาเพิ่มเติมหรือรองรับ รวมทั้งเคยมีแต่ประกาศ ข้อบังคับของแพทยสภาเพื่อควบคุมมาตรฐานการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ดังนั้นคณะอนุกรรมาธิการฯ จึงหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา และได้ก่อเกิดเป็นร่าง พ.ร.บ.เพื่อไปแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้น และสอดคล้องของการดูแลรักษาพยาบาล”

นพ.ประมวล บอกต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็น พ.ร.บ.ฉบับแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้สิทธิ และข้อจำกัดบางประเด็นด้านการดูแลรักษาพยาบาลของคนที่มีบุตรยาก และสาระสำคัญของกฎหมายนี้จะเน้นเรื่องผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยเกิดจากเทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ หรือการอุ้มบุญ
“โดยเจ้าของพันธุกรรมหรือเจ้าของไข่และอสุจิจะเป็นพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็ก ไม่ใช่ผู้ที่คลอดหรือแม่อุ้มบุญเป็นเจ้าของ และมีสาระสำคัญอื่นๆ อีกเยอะ เช่น คู่สามีภรรยาที่ไม่มีไข่หรืออสุจิของตัวเอง สามารถใช้ไข่และอสุจิของคนอื่นได้ การดำเนินการของการอุ้มบุญต้องทำตามข้อชี้บ่งทางการแพทย์ ไม่ใช่ดำเนินการเชิงการค้า

“รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีนี้ไปเพื่อการทำสำเนาหรือ การทำโคลนนิ่งให้เป็นมนุษย์ไม่ได้ แต่ก็มีอีกว่าการศึกษาวิจัยโคลนนิ่งนี้ทำเพื่อการรักษาพยาบาลได้ และห้ามใช้ไข่ อสุจิไปผสมกับสัตว์เพื่อทดลอง หรือสามารถใช้ไข่อสุจิของสามี ภรรยาที่แช่แข็งไว้ได้ ถ้าเผอิญฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่กรรมและมีการเขียนบอกไว้ อีกฝ่ายที่ยังมีชีวิตสามารถเอาไข่และอสุจินั้นมาใช้ได้

“และยังเขียนครอบคลุมไปด้วยว่าห้ามเอาไข่และอสุจิไปจำหน่าย จ่าย แจกกับต่างประเทศหรือจะนำเข้าก็ไม่ได้ หรืออาจจะพูดง่ายๆ ว่ากฎหมายนี้มีการรองรับครอบคลุมหมดเลยไม่ว่าจะเป็นคู่สามี ภรรยา เด็ก และหญิงรับอุ้มบุญ”

สำหรับหลักเกณฑ์ของหญิงอุ้มบุญ นพ.ประมวล บอกว่า จะเขียนแบบกว้างๆ โดยอยากให้คนที่จะมาเป็นแม่อุ้มบุญนั้นเป็นญาติไม่ว่าจะทางฝ่ายสามีหรือฝ่ายภรรยา เพื่อจะไม่ให้เกิดการแตกแยกต่อรองกัน เพราะจุดประสงค์ของกฎหมายนี้เพื่อดูแลเด็กที่เกิดมาให้มีคุณภาพ

นอกจากนี้จากข้อสงสัยที่ว่าพ่อแม่ที่มีบุตรอุ้มบุญแล้ว กฎหมายที่จะมีการประกาศใช้ในไม่ช้านี้จะคุ้มครอง รองรับหรือไม่ นพ.ประมวล อธิบายว่า คนที่อุ้มบุญมาแล้วก่อนที่กฎหมายจะประกาศใช้มีสิทธิได้รับการคุ้มครองสามารถไปร้องเรียนขอรับรองเป็นบุตรจริงได้ ตามที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล

“จะมีเขียนไว้เลยว่าพ่อแม่สามารถไปยื่นเรื่องได้ เปลี่ยนจากบุตรบุญธรรมเป็นบุตรจริงตามกฎหมาย อย่างที่รู้กันว่าสิทธิต่างๆ ของลูกบุญธรรมจะได้ไม่เท่ากับลูกจริง โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สมบัติ”

'จริยศาสตร์' สำคัญที่สุด

อย่างไรก็ตามก็ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่เป็นห่วงว่าถ้าการผลักดันเรื่องกฎหมายอุ้มบุญเป็นผลสำเร็จ จะขัดต่อหลักจริยศาสตร์หรือไม่อย่างไร เพราะอย่างที่รู้ว่าสังคมไทยค่อนข้างอ่อนกับเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างมาก
รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ผู้อำนวยการศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความกระจ่างว่า เรื่องจริยศาสตร์ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในประเด็นนี้ เพราะหากทำอะไรลงไปโดยไม่ได้มีการศึกษาให้ดีก่อน ก็อาจจะมีปัญหาเกิดตามมาหลายเรื่อง

“ปัญหาหนึ่งที่ตรงไปตรงมาที่สุด ก็คือผู้หญิงที่ตั้งท้องก็มักจะมีต้นทุนทางอารมณ์เยอะ เพราะตั้งท้องมา 9 เดือน คลอดก็เจ็บอีก แต่พอลูกออกมากลายเป็นลูกของคนอื่น มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกอะไรบางอย่างที่ขัดกับความรู้สึกปกติของเรา เพราะผู้หญิงคนหนึ่งตั้งท้อง มีความผูกพันกับเด็ก แต่ตัวเองไม่ใช่แม่ มันก็ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า ตกลงแล้วคำว่าแม่นั้นหมายความว่าอย่างไร ระหว่างเจ้าของพันธุกรรม หรือคนที่คลอดออกมา กลายเป็นความซับซ้อนขึ้นมา ทั้งทางด้านจริยธรรมและกฎหมาย ซึ่งสังคมต้องหาทางเคลียร์ให้ได้ก่อน

“ทางออกที่อาจจะเป็นไปได้ ก็อาจจะเช่นเป็นไปได้ไหมที่เด็กคนหนึ่งจะมีแม่หลายคน เช่น แม่คนนี้เป็นคนที่ตั้งท้องมา แม่คนนี้เป็นเจ้าของไข่ที่ทำให้เกิดแม่”

อีกปัญหาหนึ่งที่ รศ.ดร.โสรัจจ์ แสดงความเป็นห่วง ก็คือบางคนอาจจะมองว่า การทำเช่นนี้เทียบได้กับการซื้อขายมนุษย์หรือไม่ เพราะถ้าดูบริบทแล้ว การตั้งครรภ์แทนก็อาจจะเข้าข่ายในเรื่องนี้เหมือนกัน

“สมมติผมเป็นผู้หญิงมีอาชีพรับจ้างตั้งท้อง คำถามที่ตามมาเลยก็คือ มันเหมาะสมไหม มีได้หรือเปล่า แล้วอย่างนี้คุณค่าของมนุษย์อยู่ที่ไหนล่ะ แล้วการเช่ามดลูกมันจะถูกต้องหรือเปล่า ซึ่งสำหรับผมแล้ว เรื่องแบบนี้ ถ้าเราไม่มุ่งแต่หาผลประโยชน์ และตกลงกันได้ ปัญหาข้อขัดแย้ง การเอาเปรียบก็คงไม่เกิดขึ้น”

สำหรับประเด็นที่หลายคนมองว่าเรื่องนี้อาจจะขัดกับหลักธรรมชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาก็มองว่าเรื่องพวกนี้ต้องใช้เวลา อย่างเด็กหลอดแก้ว ในช่วงแรกอาจจะเป็นที่ถกเถียงกันค่อนข้างมาก แต่สุดท้ายเมื่อทุกคนชินกันแล้ว เรื่องนี้ก็กลายเป็นธรรมดาไปในที่สุด เรื่องเทคโนโลยีการอุ้มบุญก็คงจะไปในทำนองเดียวกัน

เมื่อถามว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยพร้อมหรือยังที่จะเปิดรับเทคโนโลยีอุ้มบุญเข้ามาอย่างเต็มที่ ก็ได้รับคำตอบทันทีว่า น่าจะพร้อม หากมีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง และมีการไตร่ตรอง และพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อตกลงและกติกาที่ชัดเจนระหว่างทุกฝ่าย

“เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีการประท้วงกัน เพราะมักเอาเทคโนโลยีไปผูกกับผลประโยชน์ ผมคิดว่าความลงตัวในเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ความเข้าใจและไว้ใจซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายต่างๆ มีความตั้งใจซึ่งกันและกัน อย่างผู้หญิงที่ตั้งท้องแทน ก็ต้องมองว่าตัวเองช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ขณะที่หมอเองก็ต้องมองให้ไกลกว่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะหมอถึงเป็นศูนย์กลางของเรื่องนี้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาทางสังคมขึ้นมาได้”

……….

แม้ตอนนี้กฎหมายอุ้มบุญจะยังไม่ประกาศใช้ แต่หวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะยึดถึงผลประโยชน์สิทธิของเด็ก(อุ้มบุญ)ให้มากที่สุด เพื่อให้เขาเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ไม่เป็นภาระของสังคมหรือรับกรรมในสิ่งที่เขาไม่ได้ก่อเหมือนในอดีต


ประกาศรับสมัครแม่อุ้มบุญ และให้บริการอุ้มบุญ ที่มีการเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก

กำลังโหลดความคิดเห็น