xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าธุรกิจ“อุ้มบุญ” ค่าจ้าง 2-3 แสน/คน นายหน้ารับ 2 หมื่นต่อหัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผ่าขบวนการ "แม่อุ้มบุญ"ผ่านโลกออนไลน์ จ่ายดี 2-3 แสนต่อคน ค่านายหน้า 1-2 หมื่น แถมโปรโมชันหลังคลอด ในยุคกฏหมายอุ้มบุญ-ค้ามนุษย์ในไทยยังอ่อนแอ

กำลังมีประเด็น "แม่อุ้มบุญ"คนไทย ที่รับจ้างท้องแทนสามีภรรยาชาวต่างประเทศ แต่กลับมีปัญหาระดับประเทศ ผู้สื่อข่าวASTV ผู้จัดการ ตรวจสอบพบว่า กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับแม่อุ้มบุญของไทยนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนของวิปรัฐบาลเท่านั้น หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นกลับมายังรัฐบาล แต่ไม่ปรากฏว่า เป็นวิปรัฐบาลช่วงนั้น ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า กฏหมายอุ้มบุญ เสนอเข้ามาในวันที่11พ.ค.2553 ช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เจ้าของเรื่อง คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) สมัยนายอิสระ สมชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการ มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็น รมว.สาธารณสุข

"กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นเจ้าภาพ แทนที่จะเป็นกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นเรื่องของการค้ามนุษย์ หรือไม่"

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายคือ

1.กำหนดให้ศาลเยาวชนและครอบครัว มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับความเป็นบิดามารดาของผู้ที่เกิดโดยอาศัยการอุ้มบุญ และกำหนดให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว หรือศาลยุติธรรมอื่น

2.กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคพ.) โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีนายกแพทยสภาเป็นรองประธานกรรมการ ส่วนกรรมการโดยตำแหน่งมี 6 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอีก 5 คน

3.กำหนดให้การผสมเทียมต้องกระทำต่อหญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเท่านั้น และต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีการใช้อสุจิจากผู้บริจาค

4.กำหนดวิธีการดำเนินการตั้งครรภ์แทนไว้ 2 กรณีคือ 1. การใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิและไข่ของสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทน และ 2. การใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิหรือไข่ของสามี หรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน กับอสุจิหรือไข่ของผู้อื่น ซึ่งหมายความว่าต่อไปหญิงที่รับอุ้มบุญไม่สามารถใช้ไข่ของตัวเองผสมกับอสุจิของพ่อโดยกฎหมายได้ เพื่อป้องกันความรู้สึกผูกพัน

5. กำหนดให้แพทยสภาโดยความเห็นชอบของกคพ. ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสุขภาพของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนในขณะตั้งครรภ์ การคลอด และหลังคลอด

6. กำหนดความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ไว้เป็นการเฉพาะ และให้ผู้มีส่วนได้เสียมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ปกครองได้ กรณีที่สามีและภริยาที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนถึงแก่ความตายก่อนเด็กเกิด

7. ห้ามใช้ประโยชน์จากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนที่ฝากไว้ในกรณีที่เจ้าของอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนดังกล่าวตายลง ยกเว้นเจ้าของให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ก่อนตาย และต้องใช้อสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนเพื่อบำบัดรักษาภาวะการมีบุตรยากของสามีหรือภริยาที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

แม้กฏหมายบังคับยังไม่มีการประกาศใช้ แต่กระบวนการอุ้มบุญ ยังต้องผ่านการพิจารณาจาก"แพทยสภา"เท่านั้น การควบคุมทางกฏหมายจึงดำเนินการได้ยาก

****ขบวนการอุ้มบุญผ่านโลกออนไลน์

กลับมากรณีที่เป็นข่าวคึกโครมในตอนนี้ พบว่า จากการตรวจสอบตรวจอย่าง พบเว็ปไซด์หนึ่งชื่อ อุ้มบุญ.คอม และแฟนเพจเฟซบุ๊คหนึ่งชื่อ รับสมัครแม่อุ้มบุญ

พบว่าในเว็บมีการแสดงรายละเอียดทั้งวิธีดำเนินการเลือกโรงพยาบาล วิธีทำอุ้มบุญแบบต่างๆ มีภาพแพทย์ชาวต่างชาติแสดงความน่าเชื่อถือ ระบุถึงการให้การแนะนำ ระบุว่า จะไม่หลอกลวง โดยมีเบอร์โทรศัพท์มือถือ 085-236-8181 ให้ติดต่อไว้เท่านั้น ไม่มีการระบุชื่อแพทย์หรือรายละเอียดเกี่ยวกับกฏหมายเลย

ส่วนแฟนเพจ รับแม่อุ้มบุญ พบว่า มีผู้เข้ามากดไลท์จำนวนหนึ่ง บ้างสอบถามและให้ความสนใจ แต่ไม่มีเบอร์โทรติดต่อ แต่ให้สอบถามผ่านโปรแกรมแชทในแฟนเพจว่าจะติดต่อกลับโดยเอเยนซี่

อย่างไรก็ตามเพจนี้ระบุถึงคุณสมบัติ อายุ ค่าตอบแทนหลัก2-3แสนบาท มีค่าอาหารเดือนละ2พันบาท แต่ที่สำคัญระบุไว้ว่า คนที่แนะนำคนที่จะอุ้มบุญให้กับเพจนี้จะมีค่าตอบแทนหรือค่านายหน้ารายละ1-2หมื่นบาท

ผู้สื่อข่าวยังตรวจสอบพบว่า บางเพจ อ้างว่า หากคลอดแล้วจะได้สิทธิพิเศษจำนวนมาก แต่ไม่ระบุว่าจะเป็นอะไร

****ย้อนรอยแก๊งอุ้มบุญในอดีต

ทั้งนี้ คดีอุ้มบุญที่สร้างความฮือฮา เมื่อปี 54 ที่บุกทลายวงจรธุรกิจอุบาทว์ เข้าช่วยเหลือสาวชาวเวียดนาม 13 คนที่ถูกบังคับและหลอกลวงให้มา"อุ้มบุญ" พร้อมทั้งจับกุมผู้ต้องหาที่ร่วมขบวนการ

ในส่วนของประเทศไทย ก็พบว่า ต่างประเทศให้ความสนใจทำอุ้มบุญ โดยทีมข่าว CLICK ได้ทำรายงาน เรื่อง"แม่อุ้มบุญ" เผยแพร่เมื่อช่วงปี2553 ซึ่งการอุ้มบุญนี้เคยเป็นที่กล่าวขานกันมากในสังคม เพราะก่อนหน้านี้เคยเกิดปัญหาข้อขัดแย้งผู้ที่อุ้มบุญเกิดความรักในตัวเด็กที่อุ้มท้องมา จนไม่ต้องการมอบให้แก่ผู้ที่มาขอให้ทำการอุ้มบุญ

***คุณแม่ที่ใช้บริการ 'อุ้มบุญ'

เป็นที่รับรู้ในวงกว้างว่า ธัญญ่า-ธัญญาเรศ เองตระกูล (รามณรงค์) คืออีกหนึ่งกรณีที่ใช้บริการ 'อุ้มบุญ' เนื่องจากตัวเธอเองมีปัญหาเรื่องมดลูกจึงไม่สามารถอุ้มท้องเองได้ ทั้งเธอและสามี (สัณชัย เองตระกูล) พยายามใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยเพื่อที่จะอุ้มท้องลูกตัวเองได้ แต่ก็ล้มเหลวมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยใช้เวลาร่วม 4 ปีในการพยายามที่จะมีลูกแต่ก็ไม่สำเร็จ

ใจจริงแล้วธัญญาเรศอยากที่จะอุ้มท้องเอง ในเมื่อมีลูกทั้งทีก็อยากได้ความเป็นแม่เต็มร้อย แต่เมื่อสภาพร่างกายไม่พร้อม จึงต้องหาวิธีและหาคนที่ดีที่สุดมาอุ้มบุญให้แทน

“มีพี่สาว ซึ่งเป็นญาติกันเป็นฝรั่งแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ เขามาเสนอตัวว่าถ้าอยากท้องเขาท้องให้ไหม คือใช้วิธีอุ้มบุญ เราก็คิดว่าจะดีไหมคิดอยู่นานปีหนึ่งกว่าจะตัดสินใจ ก็เลยลองวิธีนี้ดูก็ได้ เราอาจจะโชคดีได้ลูกมาด้วยวิธีนี้ สรุปก็ตัดสินใจทำ แล้วได้ลูกสาวมาสมใจ”

แรกเริ่มในหัวอกคนเป็นแม่ก็ต้องมีความกังวลใจ กลัวว่าเมื่อลูกเกิดมา จะรักลูกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนแม่ทั่วไปรักกันหรือไม่ แต่ด้วยความที่สามี และพี่สาวที่รับอุ้มท้องได้ช่วยพูดให้คลายกังวลลงได้

“พอเรารู้ว่าพี่สาวเราท้องก็ตื่นเต้น ยิ่งกว่าท้องเองด้วยซ้ำ เพราะว่ารู้ว่าเขาท้องเมื่อไหร่เราต้องได้ลูกแน่นอน เพราะมดลูกเขาแข็งแรง มีลูกมาแล้ว 3 คน เราก็เห็นการเจริญเติบโตและติดตามเขามาตลอด จนถึงวันที่ใกล้คลอดเราตื่นเต้นมาก เราได้เป็นคนอุ้มเขาคนแรก ตัดสายสะดือ ได้ความผูกพันแบบเต็มร้อย โดยที่พี่สาวจะไม่ยุ่งเลย”

***อุ้มบุญทำอย่างไร?

นพ.ชาญชัย เลาหประสิทธิพร แพทย์หัวหน้าศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลพญาไท 3 อธิบายถึงวิธีการอุ้มบุญว่าคือ การที่หญิงซึ่งไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยมดลูกของตัวเองได้ ใช้ไข่ของตัวเองและอสุจิของสามีไปผสมเพื่อให้เกิดตัวอ่อนขึ้นในครรภ์ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน

สำหรับขั้นตอนการอุ้มบุญ เริ่มต้นจากการเตรียมตัวอ่อน ด้วยการกระตุ้นไข่โดยใช้ยาฉีดเพื่อให้ไข่สุก จากนั้นเจาะไข่ออกมาข้างนอกตัวของหญิงผู้เป็นแม่ เพื่อเอาเชื้ออสุจิของผู้เป็นพ่อไปปฏิสนธิจนได้เป็นตัวอ่อนแตกตัวออกมา อาจมีการนำตัวอ่อนไปแช่ไว้ก่อนเพื่อรอให้มดลูกของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีความพร้อม ก่อนทำการละลายเพื่อนำไปฝังตัวที่มดลูก หรือหากมดลูกของหญิงที่รับตั้งครรภ์มีความพร้อมก็อาจละลายตัวอ่อนไปฝังได้เลยทันทีไม่ต้องรอ

นอกจากนั้น สุขภาพของหญิงที่รับอุ้มบุญต้องแข็งแรง อายุอยู่ในเกณฑ์ที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์น้อย คืออายุ 20 กว่า หรือ 30 กว่า หากอายุ 30 ปลายๆ ไม่มีโรคแทรกซ้อน และเคยตั้งครรภ์สำเร็จมาแล้วจะยิ่งดีมาก เหมาะกับการอุ้มบุญอย่างยิ่ง

***กฎหมาย ‘อุ้มบุญ’ ครอบคลุมทั่วถึง

ศ.นพ.ประมวล วีรุตมเสน ที่ปรึกษาหน่วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และหนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการด้านเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรือ กฎหมายอุ้มบุญ กล่าวถึงความเป็นมาก่อนที่จะมาเป็นร่างพ.ร.บ.อุ้มบุญว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ที่มาจากหลายภาคส่วนมีการพูดคุย และตั้งประเด็นขึ้นมาว่าเคยมีเหตุการณ์การขัดแย้งเรื่องบุตรที่เกิดมาจะเป็นของใคร และไปกระทบกระเทือนเรื่องสิทธิผลประโยชน์ของเด็กและแม่ และเมื่อกลับไปดูก็ปรากฏว่าไม่เคยมีกฎหมายแบบนี้ออกมารองรับ

“เรามีกฎหมายแพ่งที่ระบุว่า ลูกที่เกิดจากหญิงคนใดก็ควรเป็นลูกของหญิงคนนั้น แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าจะมีกฎหมายอื่นมาเพิ่มเติมหรือรองรับ รวมทั้งเคยมีแต่ประกาศ ข้อบังคับของแพทยสภาเพื่อควบคุมมาตรฐานการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ดังนั้นคณะอนุกรรมาธิการฯ จึงหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา และได้ก่อเกิดเป็นร่าง พ.ร.บ.เพื่อไปแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้น และสอดคล้องของการดูแลรักษาพยาบาล”

นพ.ประมวล บอกต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็น พ.ร.บ.ฉบับแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้สิทธิ และข้อจำกัดบางประเด็นด้านการดูแลรักษาพยาบาลของคนที่มีบุตรยาก โดยเจ้าของพันธุกรรมหรือเจ้าของไข่และอสุจิจะเป็นพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็ก ไม่ใช่ผู้ที่คลอดหรือแม่อุ้มบุญเป็นเจ้าของ

“รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีนี้ไปเพื่อการทำสำเนาหรือ การทำโคลนนิ่งให้เป็นมนุษย์ไม่ได้ แต่ก็มีอีกว่าการศึกษาวิจัยโคลนนิ่งนี้ทำเพื่อการรักษาพยาบาลได้ และห้ามใช้ไข่ อสุจิไปผสมกับสัตว์เพื่อทดลอง หรือสามารถใช้ไข่อสุจิของสามี ภรรยาที่แช่แข็งไว้ได้ ถ้าเผอิญฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่กรรมและมีการเขียนบอกไว้ อีกฝ่ายที่ยังมีชีวิตสามารถเอาไข่และอสุจินั้นมาใช้ได้

“และยังเขียนครอบคลุมไปด้วยว่าห้ามเอาไข่และอสุจิไปจำหน่าย จ่าย แจกกับต่างประเทศหรือจะนำเข้าก็ไม่ได้ หรืออาจจะพูดง่ายๆ ว่ากฎหมายนี้มีการรองรับครอบคลุมหมดเลยไม่ว่าจะเป็นคู่สามี ภรรยา เด็ก และหญิงรับอุ้มบุญ”

สำหรับหลักเกณฑ์ของหญิงอุ้มบุญ นพ.ประมวล บอกว่า จะเขียนแบบกว้างๆ โดยอยากให้คนที่จะมาเป็นแม่อุ้มบุญนั้นเป็นญาติไม่ว่าจะทางฝ่ายสามีหรือฝ่ายภรรยา เพื่อจะไม่ให้เกิดการแตกแยกต่อรองกัน เพราะจุดประสงค์ของกฎหมายนี้เพื่อดูแลเด็กที่เกิดมาให้มีคุณภาพ

***'จริยศาสตร์' สำคัญที่สุด

รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ผู้อำนวยการศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความกระจ่างว่า เรื่องจริยศาสตร์ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในประเด็นนี้ เพราะหากทำอะไรลงไปโดยไม่ได้มีการศึกษาให้ดีก่อน ก็อาจจะมีปัญหาเกิดตามมาหลายเรื่อง

“ทางออกที่อาจจะเป็นไปได้ ก็อาจจะเช่นเป็นไปได้ไหมที่เด็กคนหนึ่งจะมีแม่หลายคน เช่น แม่คนนี้เป็นคนที่ตั้งท้องมา แม่คนนี้เป็นเจ้าของไข่ที่ทำให้เกิดแม่”

อีกปัญหาหนึ่งที่ รศ.ดร.โสรัจจ์ แสดงความเป็นห่วง ก็คือบางคนอาจจะมองว่า การทำเช่นนี้เทียบได้กับการซื้อขายมนุษย์หรือไม่ เพราะถ้าดูบริบทแล้ว การตั้งครรภ์แทนก็อาจจะเข้าข่ายในเรื่องนี้เหมือนกัน

แต่กระนั้น แม้ตอนนี้กฎหมายอุ้มบุญจะยังไม่ประกาศใช้ แต่หวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะยึดถึงผลประโยชน์สิทธิของเด็ก(อุ้มบุญ)ให้มากที่สุด เพื่อให้เขาเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ไม่เป็นภาระของสังคมหรือรับกรรมในสิ่งที่เขาไม่ได้ก่อเหมือนในอดีต.
กำลังโหลดความคิดเห็น