สบส. ตื่น! ต่างชาติแห่ทำเด็กหลอดแก้วเลือกเพศในไทย ทั้งขายไข่ รับจ้างอุ้มบุญ ชี้ผิดกฎหมายและจริยธรรมแพทย์ ด้าน บก.ปคบ. เตรียมสอยสถานพยาบาลเอกชน 12 แห่ง คาดทำผิดกฎหมาย แพทยสภาลั่นโทษสูงสุดเพิกถอนใบอนุญาต ห่วงขายสเปิร์มผ่านเน็ตเจอเชื้อเอดส์ ประสาน อย. ออกประกาศควบคุมการนำเข้า ด้านหมอสูติฯห่วงพวกขายไข่ ถูกฉีดยาเร่งไข่ปริมาณมาก เสี่ยงตอบสนองต่อยามาก อาจหัวใจล้มเหลวถึงตาย
วันนี้ (22 ก.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวจัดระเบียบคลินิกเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ “เลือกเพศ ขายไข่ อุ้มบุญ” หลังมีการเสนอข่าวชาวจีนนิยมเข้ามาในประเทศไทย เพื่อใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือการทำเด็กหลอดแก้ว โดยมีการขายไข่และสามารถเลือกเพศชายได้ ว่า สถานพยาบาลที่จะดำเนินการในเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จะต้องขึ้นทะเบียนจาก สบส. ก่อน ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 45 แห่ง กำลังขอขึ้นทะเบียนอีก 7 - 8 แห่ง นอกจากนี้ แพทย์ที่จะดำเนินการก็จะต้องขึ้นทะเบียนกับทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยด้วย หากมีการขายไข่ หรือกระบวนการค้าตัวอ่อนถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายการค้ามนุษย์ ส่วนการเลือกเพศในการทำเด็กหลอดแก้วถือว่าผิดตามจรรยาบรรณตามประกาศของแพทยสภา และสถานพยาบาลที่ดำเนินการก็มีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541
“สบส. จะเชิญคลินิกเฉพาะทางด้านสูติกรรมประมาณ 300 แห่ง มาชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ ประกาศแพทยสภา กฎหมายของ สบส. รวมถึงกองบังคับการปราปรามการกระทำผิดเกี่ยวการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ซึ่งหลังจากชี้แจงจะมีการติดตามว่าได้ทำตามระเบียบหรือไม่ เพื่อเสริมความมั่นใจในการให้บริการ” อธิบดี สบส. กล่าว
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จะทำในคนที่มีปัญหามีบุตรยาก หรือคนแต่งงานช้า ซึ่งพยายามมีบุตรแล้ว แต่ยังไม่สามารถมีบุตรได้ ส่วนคนที่จะมารับอุ้มบุญกรณีที่ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์เองไม่ได้นั้นจะต้องเป็นหญิงที่ผ่านการคลอดบุตรมาแล้ว อายุระหว่าง 20 - 34 ปี สุขภาพแข็งแรง เพื่อให้การคลอดบุตรง่าย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตนเองและทารกที่เกิดมา ที่สำคัญต้องเป็นญาติโดยสายเลือด แต่มิใช่บุพการี หรือผู้สืบสันดานของทั้งสามีและภรรยาผู้ประสงค์จะมีบุตร และต้องไม่มีการซื้อขาย เลือกเพศ และรับจ้างอุ้มบุญ เพราะเป็นเรื่องผิดจริยธรรมตามประกาศแพทยสภา หากพบว่าแพทย์มีการดำเนินการเรื่องนี้จะต้องมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบ หากพบว่าผิดจริงโทษสูงสุดถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การทำเด็กหลอดแก้วให้ผู้มีบุตรยาก หรือจำกัดการอุ้มบุญเฉพาะญาติสายตรงนั้น เพราะมีปัญหาเรื่องการนำตัวอ่อนไปทำสเต็มเซลล์ โดยมีการอวดอ้างการรักษาโรคต่างๆ ซึ่งผิดกฎหมายและยังเป็นการฆ่าตัวอ่อนด้วย ที่น่าห่วงคือมีการทำธุรกิจขายไข่ - สเปิร์ม เพื่อนำไปใช้ในงานวิจัยต่างๆ และการโฆษณาอุ้มบุญด้วย ซึ่งล่าสุดมีการโฆษณาขายสเปิร์มทางเว็บไซต์ แต่กลับพบว่ามีการติดเชื้อเอดส์ ทำให้มีความกังวลในเรื่องการนำสเปิร์มเข้ามายังประเทศไทย เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายในการควบคุมการนำเข้า แพทยสภาจึงได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ออกประกาศควบคุมการนำเข้าสารคัดหลั่งรวมถึงสเปิร์มด้วย เพื่อเพิ่มความปลอดภัย นอกจากนี้ จะเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ... ด้วย ซึ่งผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
รศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ ประธานอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แพทย์จะต้องส่งรายงานการดำเนินงานการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ให้ราชวิทยาลัยสูติฯทุกปี ซึ่งพบว่าแต่ละปีมีการใช้เทคโนโลยีนี้ประมาณ 6,000 ราย ทั้งนี้ สำหรับกระบวนการในการทำเด็กหลอดแก้วนั้นจะมีการฉีดยาเร่งไข่ให้แก่ฝ่ายหญิงเป็นเวลา 10 วัน หากไข่เจริญเติบโตก็จะนำไข่ออกมานอกร่างกายฝ่ายหญิง นำมาผสมกับอสุจิของฝ่ายชาย เพื่อให้เกิดตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ จากนั้น 3 - 5 วัน จึงนำตัวอ่อน 1 - 2 เซลล์ใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้ฝังตัวและเจริญเป็นทารกต่อไป ส่วนการอุ้มบุญกระบวนการจะเหมือนกัน แต่นำตัวอ่อนไปใส่ไว้ในโพรงมดลูกของผู้ที่ทำการอุ้มบุญ
รศ.นพ.กำธร กล่าวอีกว่า กระบวนการดังกล่าวมีเรื่องที่ต้องระวัง เนื่องจากพบว่าประมาณ 10% ของผู้ที่รับการฉีดจะมีภาวะการตอบสนองต่อยาที่มากเกินไป (Hyper Stimulation Syndrom) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในร่างกาย เลือดมีความเข้มข้นขึ้น น้ำจึงเข้าไปอยู่ในช่องอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ช่องท้อง ก็จะมีอาการท้องอืด บวมน้ำ หรือน้ำท่วมปอด หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งแพทย์จะต้องมีการตรวจติดตามในเรื่องนี้ หากพบว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดอาการขึ้น อาจปรับลดการให้ยา หรือเปลี่ยนยา หรืออาจถึงขั้นยกเลิกการทำเด็กหลอดแก้ว ที่น่าห่วงคือหากเป็นการซื้อขายไข่ เมื่อมีการจ่ายเงินแล้วเข้าสู่วงจรของธุรกิจ เขาจะมีการฉีดยาเร่งไข่มากๆ เพื่อให้ได้ไข่มากๆ ซึ่งถือว่าอันตราย อาจเกิดภาวะตอบสนองต่อยามากเกินไปได้ ซึ่งผู้ที่มาขายไข่หรือมารับจ้างอุ้มบุญไม่รู้ถึงความอันตรายนี้
ศ.คลินิก พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูติฯ กล่าวว่า การบริจาคไข่สามารถทำได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัว แต่ขอให้ตัดสินใจและตรวจสอบข้อมูลให้ดี เพราะปัจจุบันมีการรักษาในเชิงพาณิชย์มากขึ้า หาผลประโยชน์มากขึ้น ไม่รับผิดชอบกับเด็กที่เกิดมา รวมทั้งอาจเกิดปัญหาสังคมด้วย เมื่อเด็กที่เกิดขึ้นจากไข่คนอื่นแล้วไม่ถูกใจพ่อแม่ที่แท้จริงด็จะเกิดปัญหาถูกทอดทิ้ง ไม่ดูแลเอาใจใส่ ขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องดูแลควบคุมเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตามให้ทันกับปัญหาที่มาจากเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่
พ.ต.ท.ฉัตรมงคล วศินอมร รอง ผกก.4 บก.ปคบ. กล่าวว่า หากพบว่ามีการขายไข่ รับจ้างอุ้มบุญ หรือเลือกเพศ จะดำเนินการจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งผู้ว่าจ้าง บุคลากรทางการแพทย์ และผู้มีส่วนร่วมทั้งหมด เพราะเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ซึ่งมีโทษจำคุก 15 ปี ซึ่งเร็วๆ นี้ บก.ปคบ. จะร่วมกับตำรวจและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกตรวจสถานพยาบาลที่ให้บริการเหล่านี้ ซึ่งมีเป้าหมายพร้อมเข้าตรวจสอบว่าจะมีการดำเนินการผิดกฎหมาย 12 แห่ง เป็นสถานบริการเอกชนทั้งหมด เพื่อดำเนินคดีด้วย
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่