รพ.วังน้ำเย็น ลดป่องวัยเรียนได้ผล จากพบแม่วัยรุ่นรายใหม่ปีละ 190 - 200 ราย เหลือเพียง 75 ราย ชูทำงานแบบสหวิชาชีพทั้งพยาบาล ครู เยาวชน พร้อมมี อปท. หนุน เน้นสร้างทักษะชีวิต - เพศศึกษา ประสาน กศน. รับแม่วัยใสเรียนต่อ เผยตั้งตู้ถุงยางใน ร.ร. แห่งแรกในไทย ประชาคมไม่ต้านหลังคืนข้อมูลปัญหาสู่ชุมชน ปรับทัศนคติตรงกัน
นางประทุม จำปา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานเวชปฏิบัติและครอบครัว โรงพยาบาลวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว กล่าวในการอภิปราย “อปท. บทบาท โอกาสและแนวทางการทำงานกับท้องถิ่น เพื่อการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ในการประชุมระดับชาติ เรื่องสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 1 “การตั้งครรภ์...ในวัยรุ่น” ว่า การแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นจะทำเพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ แต่จะต้องร่วมกันแก้ปัญหาทุกฝ่าย ทั้งส่วนของฝั่งสาธารณสุข ท้องถิ่น และโรงเรียน โดยเฉพาะฝั่งสาธารณสุขจะต้องแสดงข้อมูลการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่เป็นจริง เพื่อสะท้อนไปยังชุมชนและโรงเรียน มิเช่นนั้นทั้งสองฝ่ายจะไม่ทราบปัญหาและไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งพื้นที่วังน้ำเย็นแก้ปัญหาด้วยการตั้งคณะกรรมการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ขึ้นในโรงพยาบาลและเครือข่าย มีการดำเนินงานแบบสหวิชาชีพ ทั้งพยาบาล ครู เด็กและเยาวชน โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่
นางประทุม กล่าวว่า การดำเนินงานในส่วของพยาบาล คือ ทำการเก็บข้อมูลการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี โดยในปี 2554 พบว่า มีแม่วัยรุ่นรายใหม่จำนวน 192 ราย อายุต่ำสุดคือ 11 ปี มีการท้องรอบ 2 จำนวน 8 คน ที่น่าตกใจคือ มีการท้องซ้ำรอบ 4 อีก 1 คน มีการติดเชื้อเอชไอวีในอายุ 14 ปี และ 18 ปี ทั้งยังขาดทักษะในชีวิต เพศ และการวางแผนครอบครัว ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลแล้วก็นำมาวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนการดำเนินงาน โดยคืนข้อมูลดังกล่าวสู่ชุมชนและโรงเรียน จากนั้นจึงได้เข้าไปให้ความรู้เรื่องทักษะชีวิตในกลุ่มเด็กประถม และเพศศึกษาแก่เด็กมัธยม รวมถึงปั้นเด็กให้เป็นวิทยากรแทนผู้ใหญ่ด้วย เพราะจะสามารถสื่อสารกับเพื่อนรุ่นเดียวกันได้ดีกว่า นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรสำหรับพ่อแม่ด้วยเพื่อเพิ่มทักษะในการสื่อสารกับบุตรหลาน
นางประทุม กล่าวว่า ในส่วนของครูนั้น จะมีการประสานช่วยเหลือเด็กที่เกิดพลาดพลั้งตั้งครรภ์ขึ้นมาแล้วให้ได้เรียนต่อ โดยไม่กีดกันเด็ก แต่ประสานกับการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ให้รับเข้าเรียนต่อทันที เพื่อให้ได้เรียนจนจบ โดยจะมีวัยใสจิตอาสานำเอาการบ้านไปให้ทำที่บ้านด้วย คือเราจะไม่ปิดโอกาสอนาคตของเด็กเพราะไม่ใช่ทางออกของปัญหา นอกจากนี้ ในแง่การให้บริการเรื่องการคุมกำเนิดก็ต้องให้วัยรุ่นเข้าถึง ซึ่ง อ.วังน้ำเย็น นั้น ประชาคมมีความเห็นตรงกันให้มีการตั้งตู้บริการถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นแห่งแรกในไทยที่มีการติดตั้งในโรงเรียนวังบูรพา 1 เครื่อง รพ.วังน้ำเย็น 6 เครื่อง ตั้งในหมู่บ้านอีก 1 เครื่อง และเล็งติดตั้งเพิ่มในวิทยาลัยอาชีวะอีก 1 เครื่อง
“ช่วงแรกก็มีแรงต้านจากผู้ปกครอง แต่ด้วยการทำงานแบบประสานกันทุกฝ่าย เรามีการเปลี่ยนทัศนคติคนในชุมชน คือ พูดให้เขาเห็นปัญหาตรงๆ ว่า เลือกให้ลูกท้องแล้วเรียนไม่จบ หรือมีความรู้เรื่องเพศศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติหากมีเพศสัมพันธ์สามารถป้องกันตนเองได้ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง แต่มิใช่จะไม่สอนเรื่องรักนวลสงวนตัวเลย จะเลือกอย่างไร จึงช่วยเปลี่ยนทัศนคติผู้ปกครองได้ ผลสุดท้ายจากการสำรวจในการตั้งครรภ์วัยรุ่นในปีต่อๆ มาพบว่า ปี 2555 มีแม่วัยรุ่นรายใหม่ 190 ราย ปี 2556 203 ราย แต่ปี 2557 เหลือเพียง 75 รายเท่านั้น นับว่าลดปัญหาได้เป็นจำนวนมาก” นางประทุม กล่าวและว่า หลังจากนี้ จะมีการขยายการดำเนินงานดังกล่าวไปยังพื้นที่ใกล้เคียงด้วย ซึ่งพบว่าปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่