อึ้ง! แม่วัยรุ่น 880 คน คลอดซ้ำซากถึงท้อง 3 เฉลี่ย 2 วัน มีเด็กคลอดซ้ำ 1 คน นักวิชาการชี้ต้องมีมาตรการช่วยเหลือก่อนแม่วัยรุ่นป่องถึงหลักสองแสนคน เน้น ศธ. ให้ความรู้เรื่องเพศเหมาะสม อย่าปล่อยเด็กค้นเองจากเน็ต สธ. เพิ่มอุปกรณ์ป้องกัน พม. ให้ความช่วยเหลือ
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี คณะทำงานเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund - UNFPA) ประจำประเทศไทย กล่าวในงานประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 1 เรื่อง ว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นปัญหาคู่สังคมไทย ที่น่าห่วงคือมักถูกละทิ้งให้รับปัญหาคนเดียว ทั้งที่ยังขาดวุฒิภาวะ โดยข้อมูลปี 2555 จากการสำรวจข้อมูลการคลอดในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ โดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า แม่วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ที่คลอดลูกมีจำนวน 130,000 คน โดย 15,000 คน มีการคลอดลูกซ้ำ และในจำนวนดังกล่าวมี 880 คน คลอดลูกซ้ำเป็นท้องที่ 3 ที่น่าตกใจคือเมื่อวิเคราะห์ลงไปพบว่า ทุก 1 ชั่วโมง มีวัยรุ่นคลอดซ้ำ 1 คน หรือทุก 2 วัน มีเด็กคลอดซ้ำ 1 คน หรือเฉลี่ยแม่วัยรุ่นทุก 9 คน คลอดซ้ำ 1 คน
“ ปัญหาเหล่านี้ถูกละเลยมานาน คนส่วนใหญ่มองว่าเด็กที่เกิดมากับแม่วัยรุ่นเป็นปัญหา แต่ไม่เคยมองว่า หากเราไม่มีมาตรการช่วยเหลือ หรือให้ความรู้อย่างถูกต้องจะยิ่งเพิ่มพูนปัญหาอีก เนื่องจากแม่วัยรุ่นไม่มีความรู้ในการเลี้ยงดูลูก ไม่รู้จะสอนลูกในเรื่องเพศศึกษาอย่างไร ขณะที่สภาพแวดล้อมก็ยังไม่พร้อม ทั้งฐานะทางการเงิน ความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้เด็กที่คลอดออกมาเป็นกลุ่มเปราะบาง เสี่ยงเกิดปัญหาในอนาคต กล่าวคือ จากแม่วัยรุ่น 130,000 คน อาจเพิ่มเป็น 200,000 กว่าคนได้ โดยผลการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า เด็กที่คลอดจากแม่วัยรุ่นมีโอกาสมีปัญหาในสังคม ทั้งก่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีปัญหายาเสพติด มีภาวะอารมณ์ไม่คงที่ ที่สำคัญในผู้หญิงมีแนวโน้มตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ไม่แตกต่างจากแม่วัยใสเลย ” น.ส.ณัฐยา กล่าว
น.ส.ณัฐยา กล่าวอีกว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม และป้องกันแม่วัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างเหมาะสม และเข้าถึงวัยรุ่นจริงๆ ไม่ใช่ปล่อยให้เรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต และต้องรู้เท่าทันโลกด้วย ไม่อิงความรู้เก่าๆ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องมีมาตรการเชิงรุกในการดูแลสวัสดิการแม่วัยรุ่นและเด็ก ส่วนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์ในการป้องกันโรคจากเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ และต้องทำให้วัยรุ่นเข้าถึงอุปกรณ์ดังกล่าวด้วย โดยทั้งหมดหากมีการบูรณาการร่วมกันจะทำให้การขับเคลื่อนแก้ปัญหาเดินหน้าได้
“ การจะเดินหน้าเรื่องนี้สิ่งหนึ่งคือ ต้องมีกฎหมายบังคับใช้ โดยที่ผ่านมากรมอนามัย เคยเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ พ.ศ. ... เสนอเพื่อแก้ปัญหาภาพรวม แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีกลับ กรมอนามัยจึงนำกลับมาทบทวนอีกครั้ง โดยทราบมาว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการระดมความคิดเห็นเพิ่มเติมก่อนจะเสนอต่อรัฐบาลใหม่ต่อไป ซึ่งเนื้อหาหลักจะเน้นให้สิทธิทุกคนในการป้องกันตนจากภาวะท้องไม่พร้อม การคุมกำเนิดโดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ปกครอง ซึ่งต่างประเทศให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะถือเป็นสิทธิพึงมี โดยอาจกำหนดอายุ 18 ปี เป็นต้น อย่างอังกฤษและสหรัฐฯ มีกฎหมายให้เด็กอายุ16 ปีรับบริการได้โดยไม่ต้องขอผู้ปกครอง ” น.ส.ณัฐยา กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่