“บิ๊กตู่” ประชุมบอร์ด SME เห็นชอบ 4 ยุทธศาสตร์เร่งด่วนปี 2558 มอบ 726 ล้านบาท ให้ สสว.ดำเนินการเป็นวาระแห่งชาติ ส่งเสริม พัฒนา SME ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง หวังเพิ่มสัดส่วน GDP ของ SME 38% พร้อมดันจัดงาน ASEN SME EXPO 2015 เพื่อช่วยเหลือเครือข่ายธุรกิจ SME ในอาเซียน ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อสินค้าที่ผลิตในอาเซียนจากผู้ซื้อทั่วโลก หัวหน้า คสช.สั่งทุกคนฟังความคืบหน้าและและการสั่งการในเรื่องต่างๆ ผ่านรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ทุกศุกร์
วันนี้ (29 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SME) ครั้งที่ 2/2557 โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช.และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดการประชุมว่า การปรับปรุงและพัฒนาเอสเอ็มอีมีความสำคัญ ปัจจุบันการคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่เป็นห่วงโซ่สัมพันธ์กับธุรกิจเอสเอ็มอี ดังนั้นจึงต้องพัฒนาให้ความสอดคล้องกัน การส่งเสริมเอสเอ็มอีจะต้องเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในด้วยกันเอง แต่ปัญหาในขณะนี้ยังพบว่าบางธุรกิจไม่ทราบว่าตนเองมีสถานะเป็นเอสเอ็มอีหรือไม่ จึงต้องสร้างความเข้าใจประชาชนและส่งเสริมแหล่งเงินทุนเพื่อให้สัดส่วนระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่กับธุรกิจที่เป็นเอสเอ็มอีมีความเหมาะสม ทั้งนี้ ต้องปรับปรุงและพัฒนาเอสเอ็มอีให้มีความเข้มแข็ง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องร่วมกำหนดยุทธศาตร์และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอีไปให้ได้
หัวหน้า คสช.ย้ำว่า ต้องการรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการฯ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมทั้งขอให้ติดตามฟังรายการคืนความสุขให้คนในชาติทุกคืนวันศุกร์ เพราะจะมีความคืบหน้าและสั่งการในเรื่องต่างๆ ไปด้วย รวมทั้งต้องการให้ประชาชนและข้าราชการได้ปรับตัวเข้าหากัน
นายวิมลการนต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนังงานส่งเสริมรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินการส่งเสริม SME ระยะเร่งด่วนปี 2558 ตามที่ สสว.ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 13 โครงการ เพื่อมุ่งเน้นงานเพื่อสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการบริหารจัดการส่งเสริม SME ให้มีประสิทธิภาพ เอกภาพ ดำเนินงานสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน และมีการสร้างกลไกหรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการสนับสนุนให้ SME สามารถเริ่มต้นธุรกิจและเติบโตได้ตามวงจรธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวเรียกร้องยุทธศาสตร์ 4 P คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การบูรณการการบริหารจัดการภาครัฐเพื่อส่งเสริม SME ให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยการจัดทำแผนการส่งเสริม SME และงบประมาณแบบบูรณาการ เพื่อจัดทำตัวชี้วัดร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้สำนักงบประมาณใช้แผนการส่งเสริม SME เป็นหลักในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความซับซ้อน และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณของภาครัฐ และการจัดทำฐานข้อมูล SME แห่งชาติ โดยบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนติดตามประเมินผลการส่งเสริม SME การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SME โดยการออกแบบการขึ้นทะเบียน การกำหนดสิทธิ ประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียน เพื่อที่จะสะท้อนสถานการณ์ของ SME ได้ชัดเจนและทันเหตุการณ์ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ SME เข้าถึงตลาดการจัดซื้อจ้ดจ้างของภาครัฐ จากเดิมไม่ถึง 40% แต่จะขยับสัดส่วนให้อยู่ที่ 45% เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด และการลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของSME
ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การส่งเสริมและการพัฒนา SME โดยมุ่งเน้นการพัฒนาตามวงจรธุรกิจ ประกอบด้วยการจัดตั้งศูนย์ให้บริการSME ครบวงจรใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ในรูปแบบของ ONE STOP SERVICE CENTER ที่สามารถให้บริการข้อมูลในรอบด้าน รวมถึงการฝึกอบรมให้ตรงกับความต้องการของ SME พัฒนาความรู้ ทักษะ และอำนวยความสะดวก แก่ SME ให้เข้าถึงข้อมูล ความรู้ การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ ธุรกิจ SME ออนไลน์ โดยการจัดทำหลักสูตรให้ความรู้ แก่ SME ตามระดับวงจรธุรกิจ และการจัดทำระบบการเผยแพร่การเรียนการสอนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต พร้อมทั้งสนับสนุนและพัฒนาSME ที่มีศักยภาพสูง โดยคัดเลือก SME ที่มีศักยภาพสูงได้รับการคัดเลือกและส่งเสริมให้เติบโตแบบก้าวกระโดดผ่านการให้ความช่วยเหลือแบบ FAST TRACK เพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ สามารถผลักดันสินค้า ออกสู่สากล และเป็นผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการของ SME ประกอบด้วย โครงการ 1 มหาลัย / 1 อาชีวะ : 100 SME โดยการสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาเป็นกลไกสำคัญที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคแก่ SME เชื่อมโยงงานวิจัย และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการ และพัฒนาการไปสู่การสร้างเครือข่ายกับ SME การจัดทำทำเนียบผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยการรวบรวม และจัดทำระบบสืบค้น รายชื่อผู้เชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา เพื่อเป็นฐานให้ข้อมูล SME สามารถใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 4 เชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนา SME ประกอบด้วย การส่งเสริม SME ให้เป็นสมาชิกองค์การเอกชน โดยการออกกฎหมายการส่งเสริมให้ SMEเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรภาคเอกชนเพื่อผู้ประกอบการให้เกิดการรวมกลุ่มและสร้างพลังการต่อรอง ขณะเดียวกันจะช่วยภาครัฐสามารถติดตามสถานการณ์ SME ได้ทันท่วงที การสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด โดยการสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของเครือข่าย SME ในระดับพื้นที่ โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้ความช่วยเหลือ การสร้างเครือข่ายธุรกิจกับSME ในอาเซียน โดยการจัดงาน ASEN SME EXPO 2015 เพื่อความรากฐานให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง การเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตในอาเซียนจากผู้ซื้อทั่วโลก และส่งเสริมให้ SME ไทยพัฒนาสู่การเป็นผู้จัดการห่วงโซอุปทานในระดับภูมิภาคเพื่อก้าวสู่ยอดพีระมิดการผลิต
ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทางคณะกรรมการเห็นชอบให้ สสว.ใช้งบประมาณจำนวน 726.7 ล้านบาท จากกองทุนส่งเสริม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายในการตอบสนองนโยบายของ คสช. ที่มุ่งให้ความสำคัญ และผลักดันให้การส่งเสริม SME เป็นวาระแห่งชาติโดยการสร้างให้เกิดการบูรณการ งานส่งเสริม SME ของประเทศ และพัฒนา SME ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง คาดว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของ SME (จีดีพี SME) เป็นร้อยละ 38 และสนับสนุนให้มีการจดทะเบียนนิติบุคคล เพิ่มขึ้นจำนวน 50,000 ในปี 2558
นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบการกำหนดประเภทของ SME ที่ควรได้รับการส่งเสริมในช่วงครึ่งหลังของแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 3 ช่วงระหว่างปี 2558-2559 ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนด มาตรการส่งเสริมช่วยเหลือเอสเอ็มอีเฉพาะกลุ่มให้สอดคล้องกับศักยภาพสภาพปัญหาและความต้องการเพื่อให้เอสเอ็มอีเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจไทย โดยพิจารณาจากสาขาธุรกิจที่สร้างประโยชน์และรายได้ให้ประเทศเป็นจำนวนมาก มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ มีศักยภาพในการแข่งขันและมีโอกาสในอนาคต ตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐ รวมทั้งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ศิลปวัฒนธรรม ประกอบด้วย 2 กลุ่มธุรกิจ
1. ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีการเติบโตสูงของประเทศไทย พิจารณาจากข้อมูลจีดีพีจากมูลค่าจีดีพีของเอสเอ็มอีการจ้างงาน รายได้และผลประกอบการ รวมทั้งนโยบายของภาครัฐฯลฯ มีจำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มธุรกิจย่านยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มธุรกิจการบริการด้านการศึกษา กลุ่มธุรกิจด้านพลังงาน กลุ่มธุรกิจภาคเกษตรกรรม กลุ่มธุรกิจขนส่งและลอจิสติกส์ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจการบริการด้านสุขภาพและกลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
2. กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีสาขาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลค่าการส่งออก-นำเข้า จำนวนเอสเอ็มอีและจำนวนแรงงานมีจำนวน 7 กลุ่มได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง