xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” ยื่นผู้ตรวจฯ เสนอศาล รธน.วินิจฉัย คำสั่ง คสช.ให้อนุมัติโครงการก่อนทำอีไอเอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นผู้ตรวจฯ เสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช.ให้อนุมัติโครงการก่อนทำอีไอเอ ขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่


วันนี้ (21 มี.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่าน นายธาวิน อินทรจำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายพร้อมเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ในการออกคำสั่งที่ 9/2559 เรื่องจากแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับลงวันที่ 7 มี.ค. 2559 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 6 มาตรา 14 มาตรา 15 มาตรา 21 มาตรา 25 ประกอบมาตรา 4 มาตรา 5 หรือไม่ รวมทั้งเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ด้วยหรือไม่

นายศรีสุวรรณระบุว่า การที่หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจโดยออกคำสั่งเพิ่มข้อความในวรรคสี่ ของมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่ระบุว่า ในกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่รับผิดชอบโครงการ อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติให้ดำเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือสิทธิกับเอกชนผู้ดำเนินการหรือกิจการไม่ได้

ดังนั้น เห็นว่า 1. คำสั่งดังกล่าว ไม่มีเหตุผลแห่งความจำเป็นที่ คสช.จะต้องเร่งรีบ เนื่องจากการปฏิบัติตามขั้นตอน วิธีการ และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 สามารถดำเนินการตามขั้นตอนวิธีปกติได้อยู่แล้ว อีกทั้งหากมีข้อปัญหาที่เป็นอุปสรรคใดหน่วยงานราชการ หรือรัฐบาลปกติก็สามารถใช้อำนาจทางปกครองแก้ไขปัญหาได้โดยวิธีการปกติ (fast Track) เพื่อให้ขั้นตอนดำเนินการไปพร้อมกับการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ EIA ผ่านความเห็นชอบก่อน

2. คำสั่งของ คสช.ยังสร้างความขัดแย้งและทำลายความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติอย่างชัดเจน เพราะประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้มีโอกาสในการมีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะและตัดสินใจ เพราะรัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมไว้แล้ว ดังนั้น การที่หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 44 ได้ให้อำนาจไว้ เพียงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเอกชนที่จะเข้ามาประมูลงาน และ 3. การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อหลักการตามระบอบประชาธิปไตย แม้ คสช.จะเป็นผู้ใช้อำนาจตามรัฐฐาธิปัตย์ แต่ก็ต้องดำเนินการภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยการออกกฎหมาย ทั้งที่เป็นอำนาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการออกกฎหมายและบัญญัติกฎหมาย ดังนั้นการิออกคำสั่งของ คสช.จึงขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตร 6

“การออกคำสั่งแทนการออกกฎหมายโดย สนช. และให้กฎหมายที่มีอยู่ภายใต้บังคับของคำสั่งแทน จึงเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ควรจะเป็นการออกกฎหมายโดยวิธีปกติทั่วไป เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบกระเทือนชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก เมื่อหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจออกคำสั่งโดยไม่มีเหตุผลยอมรับ ไมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 4 สมาคมฯ และประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจึงขอใช้สิทธิและขอร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 45 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 มาตรา 14(1) เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไป”


กำลังโหลดความคิดเห็น