ผ่าประเด็นร้อน
ได้เห็นโผรายชื่อคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” กันไปแล้ว มีเสียงยืนยันกลับมาว่าส่วนใหญ่เริ่มนิ่งสนิทแล้ว โดยเฉพาะในตำแหน่งหลักๆ สำคัญๆ ที่สงวนเอาไว้สำหรับ “พี่ๆ น้องๆ” ที่เคยผลักดันหนุนส่งกันมาในกองทัพ บางคนแม้จะเกษียณอายุราชการพ้นออกไป เมื่อได้จังหวะคราวนี้ก็ต้องทำตามสัญญาไม่ผิดคำพูด
เพื่อทบทวนกันอีกครั้งว่ามีใครกันบ้างที่คาดว่าจะมาเป็นรัฐมนตรีเน้นเฉพาะในโควตาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมไปถึงความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลักๆ ที่แย้มรายชื่อออกมาก่อนก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษา คสช. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” จะเป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายความมั่นคงจะเป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ จะเป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือง รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายสังคม จะเป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายกิจการพิเศษ จะเป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก “พี่รองบูรพาพยัคฆ์” จะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช.จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการบก รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ดูแลเรื่องการปรองดองและปฏิรูปของ คสช.จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นต้น
นี่ว่ากันเฉพาะระดับ “บิ๊กเนม” แบบหัวกะทิที่ต้องมาก่อน และขาดไม่ได้ ว่ากันเฉพาะตำแหน่งสำคัญ ว่าไปแล้วล้วนมาตามสาย “ความมั่นคง” ล้วนๆ รวมไปถึงความมั่นคงของ คสช. ความมั่นคงของรัฐบาล รวมทั้งความมั่นคงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างแน่นอน
แม้ว่าหากรายชื่อและตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นไปตามโผดังกล่าว อาจถูกตั้งคำถามในเรื่องคุณสมบัติตรงตามตำแหน่งหรือเปล่านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขณะเดียวกัน เชื่อว่าหลายคนคงต้องจับตามองเป็นพิเศษไปที่ตำแหน่งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เพราะถือว่านับวันยิ่งมีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะรายแรกที่ว่ากันว่า “อยู่เบื้องหลัง” แทบทุกเรื่อง หากพิจารณาย้อนหลังไปนับตั้งแต่มี คสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมเป็นต้นมา เนื่องจากมีการประเมินกันว่าการเข้าควบคุมอำนาจที่ผ่านมา “เขา” นี่แหละเป็นหัวเรี่ยวแรงสำคัญคนหนึ่งที่ทำให้ “ทุกอย่างเรียบร้อย”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังมีอิทธิพลสูงต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ “นายเก่า” ที่ผลักดันเกาะเกี่ยวกันมาตั้งแต่สมัย “ราบ21” เป็น “ทหารเสือราชินี” มาก่อน และสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนล่าสุดก็คือ “งานวันเกิด” ที่เพิ่งผ่านไปไม่กี่วัน พล.อ.ประยุทธ์ได้นำ ผบ.เหล่าทัพตบเท้าเข้าคารวะอวยพรกันอย่างยิ่งใหญ่ และเห็นบารมีกันอีกครั้งในวันก่อตั้ง “มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด” ก็มีนายทหารเข้าร่วมกันอย่างคึกคัก
ถัดมาก็พิสูจน์ให้เห็นชัดก็คือ การ “คืนความสุข” ให้แก่น้องชาย คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ โดยมีคำสั่ง คสช.คืนให้ความชอบกลับคืนมาอย่างรวดเร็วหลังจากถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 7 ตุลาคม 2551 จากนั้นก็มีบทบาทสำคัญในการสกรีนรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างน้อยก็ได้เห็นนายทหารคนสนิท คนใกล้ชิด และน้องชาย ญาติพี่น้องเข้ามาดำรงตำแหน่งได้หลายคน นี่ยังไม่นับตำแหน่งประธานคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฝ่ายการเมือง และต่อมาก็มีการเรียกประชุมคณะกรรมการสรรหาทุกด้านนัดแรกไปแล้ว ดังนั้นความหมายก็คือ เขากำลังเป็นประธานกรรมการสรรหาทั้ง 11 ฝ่ายนั่นแหละ
หากโฟกัสกันเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ต้องบอกว่าทำหน้าที่ด้านความมั่นคงให้กับ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึงทำหน้าที่ด้านความมั่นคงให้กับ คสช.อีกด้วย
นั่นเป็นภาพด้านความมั่นคงที่นาทีนี้ถือว่า “แน่นปึ้ก” แน่นจนบางครั้งอาจดู “โอเวอร์” เสียด้วยซ้ำไป แต่ในสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ก็อาจสมเหตุสมผล แล้วแต่มุมมอง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงกลับกลายเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ที่ล่าสุดตัวเลขที่รายงานเข้ามาเริ่มไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ว่าจะมีความเชื่อมั่นกลับมา แต่ตัวเลขการส่งออกเดือนล่าสุด คือเดือนกรกฎาคม ที่รายงานโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า มีมูลค่า “ติดลบ” ร้อยละ 0.85 ขณะที่ตัวเลขการส่งออกในรอบ 7 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) ลดลงร้อยละ 0.42 แม้ว่ายังหวังว่ายอดการส่งออกทั้งปีจะทำได้ตามเป้าหมายคือร้อยละ 3.5 แต่นั่นต้องทำให้รายได้การส่งออกเดือนละ 2.09 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป แต่ถ้าทำได้แค่เดือนละ 2 หมื่นล้านเหรียญฯก็จะขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 1.4-1.9 เท่านั้น
ที่น่าสนใจก็คือ สินค้าส่งออกหลักทั้งสินค้าเกษตรหลักอย่างเช่น ยางพารา ส่งออกลดลงต่ำกว่าร้อยละ 23 สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นแค่ร้อยละ 1 ขณะที่สินค้ากลุ่มอื่นลดลงร้อยละ 8.3
แม้ว่าทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยจะคาดการณ์ว่าทั้งปีจะโตได้ร้อยละ 2 แต่น้ำเสียงก็อ่อนลงไปเรื่อยๆ แต่ที่ฟันธงไปแล้วก็คือสภาพัฒน์จะว่าทั้งปีจะโตแค่ร้อยละ 1.5 เท่านั้น ซึ่งความหมายก็คือหากเศรษฐกิจโตต่ำกว่าร้อยละ 2 นั่นก็มีผลต่อภาวะการ “จ้างงาน” จะมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นซึ่งมีรายงานออกมาแล้วว่าในเดือนที่ผ่านมามีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1
นั่นล้วนเป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมยาก แต่ตราบใดที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำขายไม่ได้ราคา มันก็มีคนต่อรายได้ของคนส่วนใหญ่ ชักหน้าไม่ถึงหลัง หนี้สินครัวเรือนเพิ่ม และที่สำคัญปัญหาเศรษฐกิจมันควบคู่แบบแยกไม่ออกกับเรื่องความมั่นคง และการเมือง ซึ่งหากสิ่งใดอ่อนแอมันก็จะฉุดดึงลงมาสู่ความเสี่ยงมากขึ้น
ดังนั้นได้แต่หวังว่าจะสามารถระดมมือดีเข้ามาช่วยเหลือกอบกู้ได้ทันการณ์ เพราะเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องสำคัญมีผลต่อสถานะของรัฐบาลอย่างแน่นอน!!