xs
xsm
sm
md
lg

ยุคการเมืองผลัดใบ จัดแถวตำรวจ-อัยการ เช็กบิลคดี “ชินวัตร-เพื่อไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หลายคดีเดินหน้า ผลจาก คสช.ปรับต้นทางกระบวนการยุติธรรม “ตำรวจ-อัยการ” ให้ตรง ชัดๆ คดี “บรรยิน” พลิก “โอ๊ค” เกือบรอด แถมรัฐบาลนี้เร่งบี้ค่าชดเชยรัฐเสียประโยชน์จาก AIS ชี้หากเพื่อไทยยังครองอำนาจคดีเหล่านี้เงียบ จากนี้ลุ้นคดีสมชายสลายการชุมนุมพันธมิตร ทุจริตจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” เมื่ออำนาจเปลี่ยนตอนนี้ได้เวลากวาดบ้าน หมดหวังรอให้นักการเมืองด้วยกันแก้

นับตั้งแต่การเข้ามายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา มีการเปลี่ยนแปลงตัวข้าราชการระดับสูงในตำแหน่งสำคัญต่างๆ หลายหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมกับ 2 หน่วยงานที่ถูกจับตาจากประชาชนมากที่สุดคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุด

หลังจากที่การทำงานของ 2 หน่วยงานนี้มักเป็นไปในทิศทางที่ตอบสนองแนวทางของรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก จนทำให้เกิดข้อครหาในเรื่องความไม่เป็นธรรม คดีใดที่เป็นบวกกับพรรคการเมืองนี้ทุกอย่างถูกเร่งดำเนินการทันที ส่วนคดีที่เป็นความผิดของเครือข่ายของรัฐบาลมีการดำเนินการอย่างล่าช้าหรือบางครั้งก็ไม่มีการฟ้อง

แม้ในบางโอกาสจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์บ้าง ทั้ง 2 หน่วยงานก็เลือกวิธีนิ่ง จนมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นเพื่อไทยอีกครั้ง วนเวียนอยู่อย่างนี้ และนี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการออกมาเคลื่อนไหวของภาคประชาชนขับไล่รัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย

ผลของการยึดอำนาจมีการเปลี่ยนตัวอัยการสูงสุดจากนายอรรถพล ใหญ่สว่าง มาเป็นนายตระกูล วินิจฉัยภาค ส่วนตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนจากพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว มาเป็นพลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ที่เข้ามารักษาการราว 5 เดือนและได้พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง มารับหน้าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

สิ่งที่ตามมาคือ คดีความที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองที่เคยเงียบหายไปก็มาเข้าสู่กระบวนการ หลายคดีที่เกือบจะหมดอายุความก็ได้ทราบผลของการพิจารณาคดี หรือบางคดีเมื่อมีการสอบสวนใหม่รูปคดีก็พลิกจากเดิมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

“ตำรวจ-อัยการ” เดินตรง-ยุติธรรม

“เมื่ิิอต้นทางหลักของกระบวนการยุติธรรมถูกจัดให้เข้าที่เข้าทางทุกอย่าง ความยุติธรรมก็จะกลับคืนมา ที่ผ่านมาหากหน่วยงานตั้งต้นของกระบวนการยุติธรรมไม่บิดเบี้ยวไป ปัญหาของบ้านเมืองก็จะไม่มากเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าในระยะหลังเราได้เห็นกระบวนการยุติธรรมเดินหน้าได้ดี ใครที่กระทำความผิดไว้ก็ได้รับการพิจารณาโทษตามกฎหมาย” นักกฎหมายระดับประเทศรายหนึ่งกล่าว

ทั้งหมดนี้ที่เกิดขึ้นได้เพราะมีการหยุดอำนาจของนักการเมืองที่เข้ามาครอบงำใน 2 หน่วยงานหลักนี้

อย่างคดีการเสียชีวิตของนายชูวงษ์ แซ่ตั้ง นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่เดิมระบุว่าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ซึ่งในเหตุการณ์มีพันตำรวจโทบรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จากพรรคเพื่อไทย เป็นคนขับรถ เมื่อญาติร้องขอให้มีการสอบสวนใหม่โดยตำรวจกองปราบปราม จึงพบเงื่อนงำของคดีแตกต่างไปจากคดีที่อยู่ในท้องที่ของสถานีตำรวจนครบาลอุดมสุข กลายเป็นการตั้งข้อหาอดีตรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยรายนี้ เนื่องจากมีการพบการโอนหุ้นมูลค่า 300 ล้านบาทให้กับบุคคลอื่นก่อนที่จะเสียชีวิต

จะเห็นได้ว่าหากจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมทำงานอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ก็จะลดปัญหาความไม่เป็นธรรมให้กับผู้คนในสังคมได้ ตรงนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ต้องไปสอบสวนว่าทำไมตอนแรกรูปคดีจึงเป็นแบบนั้น เจ้าพนักงานของรัฐอยู่กับกฎหมายย่อมทราบดีว่าอะไรคือจุดอ่อนของคดี
พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์(ขวา) เดินทางรับทราบข้อกล่าวหาจาก พล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม
หรือคดีที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทในเครือกฤษดามหานคร ระหว่างปี 2546-2547 จนทำให้อดีตผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยถูกตัดสินจำคุก ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อ 26 สิงหาคม 2556 ส่วนจำเลยที่ 1 คือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ศาลจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว

แต่ปมที่ยังสงสัยกันต่อมาคือไม่ดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายทักษิณ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยาทักษิณ นายวันชัย หงษ์เหิน สามีนางกาญจนา และนายมานพ ทิวารี บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี อดีต ส.ส.เพื่อไทย เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว

อัยการสูงสุดออกมาชี้แจงว่าบุคคลทั้ง 4 มิได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องแยกฟ้องต่อศาลอาญาที่มีเขตอำนาจต่อไป

โดยคดีของพานทองแท้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษมาตั้งแต่ปี 2550 รับเป็นคดีพิเศษเฉพาะข้อหาฟอกเงิน แต่เกือบ 8 ปีทุกอย่างก็เงียบ เพิ่งจะเริ่มดำเนินการอีกครั้งในรัฐบาลปัจจุบัน

พรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลตั้งคนของตัวเองเข้ามาเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถามว่าเขาจะเร่งรัดคดีนี้หรือไม่ อย่างมากก็ปล่อยให้เรื่องเงียบจนคดีขาดอายุความ แม้บางช่วงจะมีพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาลหากถูกเร่งรัดก็มีกลวิธีในการถ่วงเวลา หรือทำให้พรรคคู่แข่งต้องพ้นจากเส้นทางด้วยวิธีการต่างๆ

ถ้าไม่มีการยึดอำนาจและไม่มีการเอาจริงเอาจังกับคดีเหล่านี้ แค่นักการเมืองด้วยกันคงไม่มีทาง สุดท้ายคนกระทำผิดก็รอดไป

บี้ AIS-เดินเครื่องสมชาย-นปช.

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 15 กันยายน 2558 เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปเร่งรัดให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เร่งรัดขอชดเชยค่าเสียประโยชน์จากคู่สัญญาสัมปทานใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส

หลังจากศาลฎีกาและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาแล้วเห็นว่าการแก้ไขสัญญาสัมปทานของเอไอเอสและทีโอทีเมื่อปี 2533 ทั้งนี้สัญญาสัมปทานดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายนนี้ และยังมีเรื่องจากการแปลงรายได้จากค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต มีผลทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์ 7.2 หมื่นล้านบาท

นี่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่รัฐบาลต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ จากการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ อีกทั้งบริษัทเอกชนที่ได้รับประโยชน์ก็เคยเป็นกิจการของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาก่อน คดีนี้เคยมีการติดตามเรื่องมาในปี 2554 ช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เมื่อเลือกตั้งใหม่พรรคเพื่อไทยเข้ามาเรื่องนี้ก็เงียบหายไป คงต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีและกระทรวงการคลังในฐานะผู้เสียประโยชน์คงต้องเข้าไปติดตามเรื่องนี้กับทางบริษัทเอกชนคู่สัญญาอย่างเอไอเอส

คดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อ 7 ตุลาคม 2551 ในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจาก ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจโทสุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะจำเลย กรณีคดีกล่าวหาการสั่งสลายการชุมนุม คดีนี้อัยการเห็นว่าสำนวนคดียังมีความไม่สมบูรณ์ทำให้ ป.ป.ช.ต้องยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาลเอง

ทั้งนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงมติ 8 ต่อ 1 เสียง เห็นว่าพนักงานอัยการไม่มีอำนาจเป็นทนายความแก้ต่างให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์กับพวก

นอกจากนี้เมื่อ 16 กันยายน 2558 ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุก นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กรณีนำม็อบบุกบ้านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เมื่อปี 2550 คุกคนละ 4 ปี 4 เดือน

จำเลยทั้ง 4 คน ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 5 แสนบาทขอปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์สู้คดี โดยศาลอนุญาตและมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
ผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเมื่อ 7 ตุลาคม 2551
เคลียร์ทุกเรื่อง

การเข้ามาดำเนินการเพื่อลดความขัดแย้งของคนไทยในชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติยังต้องเข้าไปแก้ปัญหาในส่วนอื่นๆ อีกเพื่อลดปัญหาและสร้างความเป็นธรรมขึ้นมา เช่น

คำสั่งปิดสถานีวิทยุเสียงประชาชน Voice People Radio FM 100.00 MHz และ FM 100.75 MHz ของกลุ่มคนเสื้อแดงจังหวัดอุดรธานี เมื่อ 16 กันยายนที่ผ่านมา

ในวันเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจมาตรา 44 ให้นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ นั่งในตำแหน่งประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป จนกว่ากรรมการชุดใหม่จะมาทำหน้าที่ พร้อมปลดล็อกให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

นอกเหนือจากเรื่องคดีความแล้วการเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังได้เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องสลากกินแบ่งที่ขายเกินราคา ที่เป็นผลมาจากการมีเอเยนต์รายใหญ่ที่มีฐานการเมืองเข้ามามีผลประโยชน์ ซึ่งรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้ มีการจัดระบบสลากกันใหม่ให้รายย่อยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น การยกเลิกรางวัลแจ็กพอต เพิ่มรางวัล 3 ตัวหน้า ส่งผลให้ราคาสลากกินแบ่งสามารถขายได้ที่ 80 บาทเท่ากับราคาที่กำหนดไว้

รวมไปถึงผลต่อเนื่องจากเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์เมื่อช่วงค่ำวันที่ 17 สิงหาคม 2558 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ติดตามผู้ต้องสงสัยและพบว่าผู้ก่อเหตุที่เป็นชาวต่างชาติได้เข้ามาในประเทศไทยด้วยช่องทางตามชายแดน โดยพลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ออกมาตำหนิการทำงานของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพร้อมเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป

ทนายแดงทดสอบฝีมือตำรวจ

อย่างไรก็ตามในการคลี่คลายคดีระเบิดกลางกรุงครั้งนี้ การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังถูกทดสอบจากนายชูชาติ กันภัย ทนายความของคนเสื้อแดงจากสมาคมทนายความ ได้เข้ามาเป็นทนายความให้กับนายอาเด็ม กาเซ็ม ผู้ต้องหาครอบครองวัตถุระเบิด ได้ออกมาให้ข้อมูลว่าลูกความของเขาเข้ามาเมืองไทยหลังเกิดเหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์และหลักฐานสารประกอบระเบิดในห้องพักของเขาก็ไม่มี เสมือนเป็นการจับแพะและสร้างหลักฐานขึ้นมาเพื่อเอาผิดกับผู้ต้องหา แต่ต่างจากข้อมูลของฝ่ายตำรวจที่เข้าไปจับกุม

เพราะการเดินเข้ามาของทนายความเสื้อแดงครั้งนี้ คงไม่ใช่การเข้ามาทำหน้าที่ทนายความเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมิติทางการเมืองของขั้วอำนาจเก่าเข้ามาด้วย การดิสเครดิตการทำงานของตำรวจก็เท่ากับเป็นการดิสเครดิตการทำงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไปในตัว งานนี้คงต้องเป็นหน้าที่ของตำรวจว่าจะมีหลักฐานที่รัดกุมมากน้อยเพียงใด
โครงการรับจำนำข้าวนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย (ที่มา เอกสารจากพรรคเพื่อไทย)
ช่วงเวลากวาดบ้าน

นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าต่อไปได้และการทำงานของข้าราชการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

“จะมองว่าเป็นการกวาดบ้านครั้งใหญ่ก็ได้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายถูกเลือกใช้และไม่ใช้ตามความต้องการของนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาล ข้าราชการบางส่วนกลัวถูกย้าย บางส่วนทำงานสนองเพื่อความก้าวหน้า บางคนทำเพื่อหวังเป็นรัฐมนตรี สังคมไทยจึงบิดเบี้ยวมาตลอด” ที่ปรึกษารัฐบาลรายหนึ่งกล่าว

หากปล่อยให้นักการเมืองกันเองเข้ามาแก้ปัญหานี้ คงไม่มีทางสำเร็จ ข้าราชการที่ชอบพรรคหนึ่งแม้จะได้รัฐบาลอีกพรรคหนึ่ง บางส่วนก็เลือกที่จะนิ่งหรือทำให้งานทุกอย่างเดินช้าที่สุดด้วยการใช้ช่องว่างของกฎระเบียบต่างๆ เพื่อรอให้มีการเปลี่ยนรัฐบาล

ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ที่รัฐบาลด้วยว่าจะมีคุณธรรมหรือไม่ ภายนอกดูเหมือนทำเพื่อประชาชนแต่สุดท้ายประโยชน์ทุกอย่างไหลกลับไปที่เถ้าแก่ของพรรค

วันนี้อำนาจเปลี่ยนไปและโอกาสกลับมาของพรรคการเมืองบางพรรคอาจจะเหลือน้อยลง ไม่ใช่เพราะใครกลั่นแกล้ง แต่เป็นเรื่องของการกระทำผิดที่ผ่านมาและกระบวนการยุติธรรมทำงานได้อย่างตรงไปตรงมา คราวนี้ทั้งลูกพรรคและข้าราชการที่เคยร่วมมือกันเพื่อตอบสนองต่อคำสั่งของเถ้าแก่พรรค คงต้องได้รับบทเรียนกันอีกหลายคน

เรื่องของคดีความนั้นไม่ใช่เฉพาะเน้นไปที่คนเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่กระบวนการทางกฏหมายทำไปกับทุกคดี ทุกฝ่าย อย่างการปิดสนามบินสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตร ศาลพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหาย 600 ล้านบาท คดีความของคนในพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงดำเนินต่อไป

อีกไม่นานคดีความต่างๆ ที่อยู่ในการพิจารณาของศาลก็จะทยอยออกมา ทั้งคดีสลายการชุมนุมของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่โดนทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง

กำลังโหลดความคิดเห็น