ราษฎรอาวุโสสะกิดการรวมศูนย์อำนาจต้นตอทุกปัญหา แถมรัฐประหารง่าย เชียร์ อปท. ปฏิรูปตัวเองกดดัน คสช. คืนสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น ด้าน “วุฒิสาร” เชื่อปมแต่งตั้ง อปท. มีปัญหาแน่ สุดท้าย คสช. ต้องทบทวน ส่วนนายก ส.ท.ท. โวย “ปนัดดา” แฉ อบจ. ติดหรู รับมีโกงจริง แต่อย่ามาเหมาเข่ง
วันนี้ (27 ส.ค.) ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) ได้จัดงานประชุมวิชาการ การปาฐกถาพิเศษ และเสวนาเรื่อง “การปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลกับการปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีนายกเทศมนตรี นายกเทศมนตรีเมือง และนายกเทศมนตรีที่จะครบวาระในปี 2557 ประธานสันนิบาตจังหวัด ประธานสันนิบาตภาค กรรมาธิการบริหาร ส.ท.ท. และสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และจัดทำความคิดเห็นและข้อเสนอที่เกี่ยวกับกฎหมายด้านการปกครองท้องถิ่น เสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
โดย นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และอดีตประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลกับการปฏิรูปประเทศไทย” ตอนหนึ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครอง เพราะเห็นฝ่ายต่างๆต้องการปฏิรูป จึงตั้ง สนช. ครม. และ สปช. ขึ้นมาเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยทั้งหมด วันนี้ถือเป็นยุคสมัยแห่งการปฏิรูป ไม่เคยมีครั้งใดที่คนไทยจะมีวัตถุประสงค์ตรงกันขนาดนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า ในบรรยากาศอย่างนี้เวลาจะทำอะไรต้องจับหัวใจของการปฏิรูปให้ได้ว่าอยู่ที่ไหน นั่นคือ การคืนอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเองในรูปแบบของชุมชนจัดการกันเอง ท้องถิ่นจัดการกันเอง และจังหวัดจัดการกันเอง
“ปัญหาต่างๆ ในประเทศไทยเกิดขึ้นจากการรวมศูนย์ และการรวบอำนาจปกครองไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไปกว่าร้อยปีแล้ว การปกครองที่รวมศูนย์อำนาจเป็นต้นทางของปัญหาเกือบทุกชนิดในประเทศไทย” นพ.ประเวศ กล่าว
ราษฎรอาวุโส กล่าวอีกว่า ขณะนี้การรวมศูนย์อำนาจส่งผลให้เกิดประเด็นปัญหาอย่างน้อย 6 เรื่องด้วยกัน คือ 1. ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ เพราะรวมศูนย์ไว้ส่วนกลางจนอ่อนแอ พอทำไม่ไหว ทะเลาะกัน ก็นำไปสู่ความรุนแรง โดยหากท้องถิ่นเข้มแข็งจะช่วยงานได้ถึง 80 - 90 เปอร์เซ็นต์ 2. เกิดความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นกับอำนาจที่รวมศูนย์ เพราะวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน แต่อำนาจที่รวมศูนย์ต้องการให้เหมือนกัน จะเกิดความขัดแย้ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3. ระบบราชการอ่อนแอ แต่ละกรมจะใช้อำนาจลงไปทุกตารางนิ้วของประเทศไทย เมื่อใช้อำนาจไปจะไม่ใช้ปัญญา เมื่อไม่มีปัญญาก็อ่อนแอ 4. คอร์รัปชันสูง เพราะอำนาจมากที่ไหน คอร์รัปชันก็มากที่นั่น 5. เกิดการแย่งอำนาจทางการเมือง เนื่องจากใครชนะจะได้กินรวบหมดทั้งประเทศ จึงพยายามแข่งขันใช้ทุกอย่าง ทั้งกลเม็ด เงิน ให้ได้อำนาจตรงนี้มา การแข่งขันเลยรุนแรง กลายเป็นคณาธิปไตย นำไปสู่ปัญหาต่างๆ อย่างที่เห็นวนเวียนกันอย่างนี้ และ 6. เกิดรัฐประหารง่าย เพราะเป็นการรวมศูนย์ ใช้ทหารไม่กี่คนก็ทำได้ แต่ถ้าอำนาจกระจายไปสู่ท้องถิ่นจะทำยาก เพราะไม่รู้จะไปยึดตรงไหน
“การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นเป็นสัจธรรม ประเทศต่างๆ ก็ทำ การคืนอำนาจไปให้ประชาชนปกครองตนเองในรูปของการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่องความถูกต้อง ขณะนี้ถูกระงับการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะ คสช. กลัวจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ต่อไป อปท.ต้องแสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นอารยะคือ ใช้เหตุใช้ผล ไม่มีการสาดโคลนใส่กัน ทำร้ายกัน ต้องทำให้เห็นว่า เรามีความเป็นประชาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยสมานฉันท์ ถ้าทำได้ใครจะมาระงับการเลือกตั้ง อปท. ต่อไปเป็นไม่ได้” นพ.ประเวศ กล่าว
นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า การปฏิรูปไม่ควรเป็นเรื่อง สปช. เท่านั้น เพราะ อปท. เป็นเหมือนฐานของประเทศ ต้องเข้าร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปด้วย หาก อปท. ทำบทบาทตรงนี้ก็จะทำให้ สปช. ดีขึ้นด้วย ตนเสนอว่า ควรจะมีสมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป เตรียมทำเรื่องนโนบายการปฏิรูปให้ดี นักวิชาการต้องช่วยกัน ต้องสังเคราะห์นโยบายเอามาขับเคลื่อน เพราะจะสร้างความเข็มแข็งให้ท้องถิ่น วันข้างหน้าผู้นำท้องถิ่นจะต้องมาเป็นผู้นำระดับชาติ
“ที่ผ่านมาประเทศไทยมีรัฐมนตรีซึ่งไม่มีที่มาที่ไป ถ้าเป็นสหรัฐอเมริกาผู้นำระดับชาติมาจากท้องถิ่นทั้งสิ้น จีนเองแม้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่การคัดเลือกบุคคลที่ผ่านมาล้วนมาจากการเป็นผู้นำท้องถิ่นก่อนและพิสูจน์ตัวเองแล้วว่า มีความสามารถมา แต่ของเรามองไม่ออกว่าเป็นใครมาจากไหน เพราะเราไม่ได้ทำเรื่องท้องถิ่นให้แข็งแรง” นพ.ประเวศ กล่าว
ภายหลังการปาฐกถา นพ.ประเวศ กล่าวตอบคำถามว่า คสช. ควรยกเลิกประกาศ 85/2557 เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเร็วหรือไม่ว่า ขณะนี้ คสช.เกรงว่า หากเลือกตั้งแล้วจะเกิดการต่อสู้ทางการเมือง บ้านเมืองจะวุ่นวายอีก แต่การระงับการเลือกตั้งต้องเป็นการชั่วคราวเท่านั้น เพราะที่สุดแล้วต้องคืนการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นให้ประชาชน ส่วนระยะเวลาที่จะคืนการเลือกตั้งให้ส่วนท้องถิ่นเมื่อใดนั้น อปท. และ คสช. ต้องคุยกันว่าจะเลือกตั้งอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรง ไม่ให้กระทบกระทั่งกันอีก ต้องพัฒนาให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่เป็นอารยะ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การคืนการเลือกตั้งให้ อปท. เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ นพ.ประเวศ กล่าวว่า ควรจะเป็น เรียกว่าเป็นกระบวนการแบบสำเร็จรูปที่จะทำงานร่วมกันน่าจะดีกว่า มาคุยกันปรึกษากันว่าการเลือกตั้งอย่างไรถึงจะเป็นสิ่งที่ดี
นพ.ประเวศ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอเรื่องปฏิรูป ตนได้เสนอให้ อปท. ทราบว่าควรมีสมัชชาองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่อไป และรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ควรบรรจุเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยให้นายกฯ และครม. เข้าร่วมการประชุมกับสมัชชาฯ เพื่อรับทราบนโยบายแล้วนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติ ส่วนข้อเสนอของตนในอดีตสปช.สามารถหยิบไปทำได้ นอกจากนี้ การปฏิรูปประชาชนทั่วประเทศประชาชนควรมีส่วนร่วม ไม่ใช่มีแต่ สปช. เท่านั้น เพราะจะคับแคบไป ทั้งนี้ หากมีกระบวนการประชาชน ทุกภาคส่วนเคลื่อนไหวในการปฏิรูปมีอะไรก็เชื่อมโยงกับ สปช. จะช่วยป้องกันความผิดพลาดได้ ส่วนจะเข้าร่วมเป็นสปช.หรือไม่นั้น ตนขอปฏิเสธเพราะตอนมีอายุมากแล้ว
ต่อมามีการเสวนาในหัวข้อ “การปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลกับการปฏิรูปประเทศไทย” โดย นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวช่วงหนึ่งว่า เบื้องต้นทางสถาบันพระปกเกล้าได้ส่งชื่อตนเข้ารับการสรรหาเพื่อเป็นสมาชิก สปช. ถ้าได้รับการสรรหาก็พร้อมทำงาน อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องการปฏิรูปโจทย์ใหญ่คือ การปกครองประเทศที่ผ่านมาการกระจายอำนาจก้าวหน้าไประดับหนึ่งแล้ว เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป เป็นการแก้ปัญหาที่ใกล้ปัญหา ถ้ายึดกรอบนี้การปฏิรูปจะง่ายขึ้น การกระจายอำนาจเป็นเหมือนยานพาหนะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะระบบราชการไม่สามารถลงไปถึงใกล้ได้เท่าประชาชนเอง
“ปัญหาวันนี้คือ การกระจายอำนาจไม่ได้สมดุล ยังมีปัญหาเยอะ แต่ปัญหามีไว้แก้ไข ไม่ใช่ยกเลิก หรือยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเป็นองค์กรของประชาชน ดังนั้นเราต้องปฏิรูปตัวเอง อย่ารอคนอื่นมาปฏิรูป ต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผมเห็นด้วยหากท้องถิ่นใดมีปัญหาคอร์รัปชั่นต้องจัดการ ลงโทษโดยเร็ว เอาให้เด็ดขาด และประณามด้วย แต่คนที่ดีอย่าไปกล่าวหาว่าเขาไม่ดี ต้องมองด้วยความเข้าใจ” นายวุฒิสาร ระบุ
นายวุฒิสาร กล่าวอีกว่า ประเด็นสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นตามประกาศ คสช. ตนเชื่อว่าในที่สุดอาจจะมีการทบทวน เพราะขณะนี้เริ่มเกิดปรากฏการณ์ได้คนที่เป็นข้าราชการจำนวนมาก ทั้งอัยการจังหวัด อดีตข้าราชการครูมาเป็นสมาชิกสภา แต่ละอำเภอได้คนที่อยู่คนละอำเภอมา เราอาจจะเห็นว่าผู้ที่มาเป็นสมาชิกสภาวันนี้ขาดการยึดโยงประชาชน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้ไม่มีความสามารถ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีคือ ความเข้าใจในวิถีชีวิตและวิธีคิดของชาวบ้าน ตนยังไม่บอกว่าเกิดความเสียหาย เพราะเพิ่งเกิดปรากฏการณ์ขึ้น แต่ต้องติดตามว่าสภาเหล่านี้จะแก้ปัญหาได้เหมือนกับสภาเดิมได้หรือไม่ ซึ่งก็อย่าเพิ่งด่วนสรุป แต่เราเห็นแล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้นของการสรรหาครั้งนี้ เริ่มมีคนที่อยู่ห่างมากจากประชาชนมาทำหน้าที่ วันนี้ต้องดู เมื่อองค์ประกอบเป็นแบบนี้การบริหารจะมีปัญหาหรือไม่
ขณะที่ นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายก ส.ท.ท. กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายระบุว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหาคอร์รัปชัน ใช้เงินฟุ่มเฟือยว่า ส่วนตัวไม่เคยนั่งเครื่องบินเฟิร์สคลาส เพราะมีกฎกระทวงมหาดไทยกำหนดอยู่แล้วว่า เราขึ้นเครื่องบินชั้นไหนก็ได้ การออกมาพูดแบบนี้เหมือนดิสเครดิสท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นตกเป็นจำเลยว่าเป็นคนทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ต้องยอมรับว่า การทุจริตต้องมีเกือบทุกภาคส่วน ขึ้นอยู่ว่าจะมากหรือน้อย อปท. มีกว่า 7,000 แห่ง หากไปเจอสัก 50 - 60 แห่ง แล้วมากล่าวหากัน ก็ไม่เป็นธรรม