xs
xsm
sm
md
lg

“อิสสระ” ชี้รัฐบาลปูเบรก กม.อุ้มบุญ แนะ พม.ชงใหม่ให้คลุมทั้ง “หมอ-คนจ้าง-ผู้รับจ้าง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อิสระ สมชัย (แฟ้มภาพ)
อดีต รมว.การพัฒนาสังคมฯ เผย พม.ชงร่าง พ.ร.บ.อุ้มบุญไว้แล้วในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ พร้อมผ่าน ครม.เรียบร้อยก่อนส่งสภาดำเนินการ แต่ยุบสภาก่อน จากนั้นถูก “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เบรกจนตกไป แนะ พม.ดันเข้าสภาฯอีกรอบ ให้ครอบคลุมทั้งแพทย์ คนจ้าง และคนรับจ้าง

นายอิสสระ สมชัย อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึง กรณีปัญหาที่มีหญิงไทยรับจ้างชาวต่างชาติเป็นแม่อุ้มบุญซึ่งขณะนี้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดประเทศไทยจึงไม่มีกฎหมายรองรับกรณีดังกล่าวว่า ปัจจุบันการอุ้มบุญจะมีประกาศของแพทยสภาซึ่งจะควบคุมเฉพาะจรรยาบรรณแพทย์ ตนในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่ง รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เห็นว่าเรื่องนี้ควรจะมีกฎหมายเพื่อครอบคลุมทั้งแพทย์ ผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้าง เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะในบางครั้งผู้รับจ้างอุ้มบุญ เมื่อคลอดทารกออกมาก็ไม่ยอมให้กับผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้

นายอิสสระกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนในฐานะเจ้ากระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เคยเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น 1. ผู้ว่าจ้างจะต้องเป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎมาย ที่มีสภาพจิตใจที่พร้อมจะเป็นบิดามารดา 2. ผู้รับจ้าง จะต้องไม่ใช่ บิดา มารดา หรือผู้สืบสันดานของผู้รับจ้าง 3. ผู้รับจ้าง จะต้องผ่านการมีบุตรมาแล้ว และต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นสามี 4. เชื้อที่ได้จะต้องมาจากคู้สามีภรรยาผู้ว่าจ้างเท่านั้น จะใช้เพียงรังไข่ของผู้รับจ้างเท่านั้น เป็นต้น

นายอิสสระกล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้นำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. มีการแก้ไขโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา และ ครม.ได้ส่งเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 เพื่อพิจารณาบรรจุวาระในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการยุบสภาก่อนที่ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมา จากนั้นรัฐบาล ส.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้ให้คำรับรองร่างกฎหมายต่างๆ ที่ค้างจากรัฐบาลเดิม ทำให้ร่างกฎหมายทุกฉบับตกไป รวมถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย

“รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ผมคิดว่าหากมีการดำเนินต่อ กฎหมายฉบับนี้คงได้นำมาบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้กำลังจะมีสภาปฏิรูป หากเจ้ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือผู้รักษาการ เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยไม่ต้องผ่านกฤษฎีกา หาก ครม.เห็นชอบก็สามารถส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น