อดีต ส.ส.ปชป.ติง คสช.เห็นชอบโครงข่ายรถไฟฟ้าระหว่างเมือง และรถไฟทางคู่สายใหม่ ชี้ตั้งราคาเท่ารถไฟความเร็วสูงในแผนเงินกู้ 2 ล้านล้าน แนะทบทวนวงเงิน เพราะอาจคิดราคาคลาดเคลื่อน
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นท้วงติงกรณีที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบยุทธศาสตร์ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ปีงบประมาณ 2558-2565 รวม 4 ด้าน 5 แผนงาน ประกอบด้วยแผนงานที่ 1 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ซึ่งประกอบด้วยโครงการดังต่อไปนี้ 1. รถไฟทางคู่สายเดิม (สร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้นอีก 1 ทาง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 1 ทาง) ประกอบด้วย 1. ชุมทางถนนจิระ (โคราช) - ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 26,007.20 ล้านบาท 2. ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,292.53 ล้านบาท
3. นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,038.43 ล้านบาท 4. ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 24,842.44 ล้านบาท 5. มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ (โคราช) ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 29,855.08 ล้านบาท และ 6. หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 89 กม. วงเงิน 9,436.51 ล้านบาท โดยแต่ละเส้นทางดังกล่าวข้างต้นมีวงเงินโครงการ ทั้งค่าก่อสร้าง+ค่าที่ดิน+ค่าที่ปรึกษา เท่ากับวงเงินก่อสร้างรถไฟทางคู่ในแผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท
2. รถไฟทางคู่สายใหม่ 2 ทางเป็นการก่อสร้างรถไฟทางคู่โดยใช้รางกว้าง 1.435 เมตร เท่ากับรางของรถไฟความเร็วสูง แต่มีความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งน้อยกว่ารถไฟความเร็วสูงที่มีความเร็วสูงสุด 250-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 2 เส้นทาง คือ 1. หนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด รวมระยะทาง 737 กิโลเมตร วงเงิน 392,570 ล้านบาท และ 2. เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี-แหลมฉบัง รวมระยะทาง 655 กิโลเมตร วงเงิน 348,890 ล้านบาท วงเงินโครงการของรถไฟทางคู่สายใหม่ทั้ง 2 สาย มีราคาเฉลี่ย 532.66 ล้านบาท เท่ากันทั้งสองเส้นทาง ถือว่าเป็นราคาค่อนข้างสูงเพราะมีราคาพอๆ กับวงเงินโครงการรถไฟความเร็วสูงในแผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แต่การก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั้ง 2 สายดังกล่าวไม่ใช่เป็นการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ดังนั้นวงเงินโครงการควรจะต้องถูกกว่า
“ดังนั้นผมขอให้ปลัดกระทรวงคมนาคมทบทวนวงเงินก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ทั้ง 2 สาย ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนในการคิดราคา”
ทั้งนี้ วงเงินโครงการรถไฟความเร็วสูงในแผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 1. สายกรุงเทพฯ -เชียงใหม่ 521 ล้านบาทต่อกิโลเมตร 2. สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 666 ล้านบาท ต่อกิโลเมตร 3. สายกรุงเทพฯ-หัวหิน 553 ล้านบาทต่อกิโลเมตร และ 4. สายกรุงเทพฯ-ระยอง 456 ล้านบาทต่อกิโลเมตร