xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : คสช. อ่อนข้อประกาศ ฉ.97 เสียงสะท้อนองค์กรสื่อ ขานรับควบคุมกันเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีมข่าวการเมือง ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ... รายงาน

ในที่สุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้มีการผ่อนปรนมาตรการคุมสื่อ จากเดิมห้ามวิจารณ์การทำงาน และมีบทลงโทษถึงขั้นปิดสื่อ มาวันนี้ได้ผ่อนคลายลงโดยคงเหลือเป็นการห้ามวิจารณ์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ และบทลงโทษที่เบาบางลงโดยให้องค์กรสื่อดูแลกันเอง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คสช.ออกประกาศฉบับที่ 97/2557 เรื่องการให้ความร่วมมือกับ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ทำให้เกิดความไม่สบายใจต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะกลายเป็นว่าส่งผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารของประชาชน และเกิดความสับสนซึ่ง คสช.อาจไม่เข้าใจในวิธีการทำงานและนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน

โดยเฉพาะข้อ 3 (3) ที่ระบุให้งดเว้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะการวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. เจ้าหน้าที่ของ คสช. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในข้อ 5 มีบทลงโทษถึงขั้นให้ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตามกฎหมาย

ถือเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ เสมือนว่า “แตะต้องไม่ได้” รวมทั้งบทลงโทษถึงขั้น “ปิดสื่อ” นั้นรุนแรงเกินไป

ในที่สุด ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ 4 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ก็ได้รับเชิญจาก พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าโครงการรับผิดชอบการสร้างความปรองดองของ คสช.เรียกเข้าไปคุยที่กระทรวงกลาโหมเมื่อบ่ายวานนี้

โดยกำหนดให้ตัวแทน 4 สมาคมสื่อ องค์กรละ 2 คน รวม 8 คน เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับปลัดกลาโหม ก่อนที่จะออกมาด้วยท่าทีชื่นมื่น

กระทั่งในช่วงดึกได้มีประกาศฉบับที่ 103/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับที่ 97/2557 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้ยกเลิกความในข้อ 3 (3) ซึ่งจากเดิมคือ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. เจ้าหน้าที่ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ก็ให้เปลี่ยนเป็นคำว่า “การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช.ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ”

และข้อ 5 ที่กำหนดบทลงโทษถึงขั้นปิดสื่อ ก็เปลี่ยนมาเป็น “ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 2 หรือข้อ 3 พนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ”

ซึ่งเท่ากับว่า คสช.จะส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพสื่อที่เป็นสมาชิกสอบสวน โดยใช้มาตรการควบคุมกันเอง แทนการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งมีบทลงโทษรุนแรงถึงขั้นปิดสื่อ

อย่างไรก็ตาม หลังประกาศฉบับนี้ออกมา ดูเหมือนว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจะสบายใจในระดับหนึ่ง ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อบางคนแสดงความขอบคุณ คสช. โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ คสช. ที่รับฟังเสียงสะท้อน และได้ส่งสัญญาณเปิดกว้างในการวิจารณ์ ติชมโดยสุจริตตามหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่ออีกครั้ง

จักรกฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เล่าถึงบรรยากาศให้ฟังในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หลังการพูดคุยทำความเข้าใจกับ พล.อ.สุรศักดิ์ ในฐานะตัวแทนหัวหน้า คสช.ในบรรยากาศแห่งไมตรี เพราะคำสั่งให้ปิดหนังสือพิมพ์และระงับรายการได้ในทันที จึงมีวันนี้ ขอบคุณ คสช.ที่ส่งสัญญาณตอบรับเร็วพลัน จากนี้จะเป็นภาระหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพที่กำกับดูแลเรื่องจริยธรรมตามที่ตนได้ให้คำมั่นไว้

“พลังงานของเหตุและผล เมื่อมนุษย์นั่งลงและพูดจากันด้วยเหตุและผล ยอมรับในความผิดพลาด และแก้ไข นั่นเป็นสิ่งที่วิเศษสุดแล้วสำหรับความเป็นมนุษย์ ขอบคุณหัวใจที่เปิดกว้างของ คสช.” จักรกฤษกล่าวภายหลังจากที่ คสช.ได้ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมออกมา

ด้าน ภัทร คำพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวถึงผลการหารือผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ก่อนที่จะมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 103 ออกมาว่า ตัวแทนองค์กรวิชาชีพเสนอ 3 เรื่องใหญ่ๆ เกี่ยวกับประกาศนี้คือ ข้อ 5 ว่าด้วยการสั่งปิดสื่อนั้น เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะในอดีตนั้นแม้จะมีการคุมสื่ออย่างไรยังมีขั้นตอน สั่งให้แก้ไข ชี้แจง อุทธรณ์ แต่ประกาศ คสช.ฉบับนี้หนักกว่าทุกสมัย

ส่วนข้อ 3 เรื่องการห้ามวิพากษ์วิจารณ์ คสช.นั้น คิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นประโยชน์ ถ้ายกเลิกข้อนี้ไปก็จะดี แต่ถ้าคิดว่ามีความจำเป็น ก็อยากให้แก้ไขถ้อยคำให้เปิดกว้างกว่านี้

ส่วนบทบัญญัติอื่นในประกาศ หลายเรื่องมีอยู่ในกฎหมายปกติอยู่แล้ว เช่น เรื่องสถาบัน ไม่น่าจะเอามาใส่ไว้ในประกาศนี้อีก และอีกหลายเรื่อง เช่น การนำเสนอข่าวสารที่เป็นการหมิ่นประมาทบุคคลอื่น หรือการนำเสนอข่าวการขู่ประทุษร้ายบุคคล อันนำไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน เป็นเรื่องที่สื่อเองก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นจริยธรรมของสื่อเอง ประเด็นนี้ก็ไม่ควรเอามาใส่ไว้ ทั้งหลายทั้งปวงนี้ขอให้ คสช.ได้พิจารณา

“พล.อ.สุรศักดิ์ก็บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ร้อนใจมากและรับรู้แล้วว่า ประกาศฉบับนี้มีปัญหา รับว่าหลังรับทราบเรื่องจากเราแล้วก็จะเสนอรายละเอียดให้ คสช.พิจารณาในทันทีเพราะเรื่องสื่อนั้น แม้นาทีเดียวก็จะเสียโอกาส” ภัทรกล่าว

ภัทรเล่าถึงบรรยากาศการพบกันระหว่างปลัดกลาโหม กับ 8 ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อว่า ได้คุยกันตรงไปตรงมา เราบอกว่าประกาศฉบับนี้จะไม่เป็นประโยชน์ต่อบรรยากาศปฏิรูป และทำให้มิอาจขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ระยะที่ 2 ได้ แต่บรรยากาศโดยรวมเข้าใจกันดี

“โดยสรุปอีกทีคือ ต่างฝ่ายต่างเดือดร้อน เพราะปลัดกระทรวงกลาโหมก็ยืนยันว่า วัตถุประสงค์ของ คสช.นั้นต้องการให้สื่อคุมกันเอง อยากให้องค์กรวิชาชีพเข้มแข็ง แต่ตอนรวมประกาศฉบับที่ 14 และ 18 ออกมาเป็นฉบับที่ 97 นั้น อาจจะมีความผิดพลาด ฝ่ายสื่อก็ขอขอบคุณที่ คสช. รับรู้ปัญหาเร็ว และรีบแก้ไขปัญหา เพราะถ้าช้ากว่านี้ ต่างฝ่ายต่างเคลื่อนไหวไปแล้ว มันก็จะลำบากที่จะมาพูดคุยทำความเข้าใจกัน” ภัทรกล่าว

ด้านกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อย่าง สุภิญญา กลางณรงค์ แสดงความขอบคุณองค์กรวิชาชีพสื่อ และ คสช. ที่ปรับแก้ประกาศ คืนเสรีภาพให้สื่อทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐตามหลักธรรมาภิบาลต่อไป และมองว่าภาระและความคาดหวังจากสังคมกลับมาอยู่บนบ่าสื่อมวลชนทุกแขนง ขอให้ใช้เสรีภาพอย่างเป็นอิสระเพื่อประโยชน์สาธารณะ นำความจริงมาให้สังคมสานเสวนากัน

“ในบริบทแบบนี้ เพียงสื่อทำหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริงตามหลักวารสารศาสตร์ และคอยถ่วงดุลอำนาจรัฐได้ก็งดงามแล้ว ส่วนประชาชนเราคอยตรวจสอบสื่ออีกที งานของ กสทช.ก็จะช่วยสนับสนุนสื่อในการกำกับดูแลตนเอง ดูแลกันเองให้เข้มแข็งมากขึ้น แต่ถ้าอันไหนเข้าข่ายผิดกฏหมาย เห็นด้วยว่าต้องบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างจริงจัง” สุภิญญากล่าว

นับจากนี้ เมื่อองค์กรสื่อได้รับความไว้วางใจให้ดูแลกันเองตามประกาศฉบับที่ 103 แล้ว บทบาทไม่ได้มีอยู่เพียงแค่การดูแลเนื้อหาอันเป็นเท็จ หรือยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งแต่เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่องค์กรสื่อกำลังขับเคลื่อน คือ การตระหนักในเรื่องเสรีภาพบนความรับผิดชอบ และการไม่ใช้ภาษาที่นำไปสู่ความรุนแรง เกลียดชัง หรือ Hate Speech นั้น ท้ายที่สุดจะเป็นรูปธรรมมากน้อยขนาดไหน

ท่ามกลางเสียงสะท้อนในอดีตที่มองว่า องค์กรสื่อเป็นเพียงแค่ “เสือกระดาษ” และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสื่อโดยเร็ววัน
กำลังโหลดความคิดเห็น