xs
xsm
sm
md
lg

“อุดมเดช” คุย บก. แจงต้องปิดต่อสื่อมีภาพขัดแย้ง-พร้อมพิจารณาให้เปิดใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลขาธิการ คสช.นั่งหัวโต๊ะประชุมทำความเข้าใจผู้บริหารสื่อมวลชน แจงตั้งทีมดูแลสื่อ ช่วยกันดูแลความถูกต้อง ยังจำเป็นต้องปิดสื่อที่มีภาพหรือสัญลักษณ์ความขัดแย้งจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และพร้อมพิจารณาให้กลับมาเปิดใหม่ ระบุเพียงสื่อเดียวโจมตี คสช.ก็ไปไม่รอด

วันนี้ (27 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พร้อมด้วย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะผู้บริหาร คสช. ที่ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชน ได้ร่วมพบปะหารือกับผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ 46 สำนัก

เลขาธิการ คสช. ได้กล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่เข้าใจในสถานการณ์และให้ความร่วมมือกับ คสช. เป็นอย่างดี ตั้งแต่เริ่มต้นจนปัจจุบัน อีกทั้งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลและสร้างความเข้าใจต่อประชาชน พร้อมทั้งได้ย้ำถึงเหตุผล และความจำเป็นในการเข้าควบคุมการบริหารประเทศของ คสช. แผนการบริหารประเทศใน 3 ระยะ ที่ คสช.มีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขและทำให้ประเทศมีความสงบสุข ทำให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าและขับเคลื่อนประเทศภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่าย

ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ (คตข.) นั้น การทำงานของ คตข. จะเป็นการเสริมการทำงานของสื่อ โดยเป็นเพียงการนำข้อมูลที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณะ และประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ มาพิจารณาเพื่อการชี้แจงและกำหนด หรือปรับทิศทางการทำงานของ คสช. ให้ตรงกับความต้องการของสังคม

ในขณะเดียวกัน ได้ยืนยันในบทบาทของ คสช.ต่อการดูแลสื่อต่างๆ นั้น เป็นการทำงานในลักษณะตัวกลาง เชื่อมการทำงานของสื่อกับ กสทช., กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบ ในเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริง โดยสื่อมวลชนยังคงสามารถนำเสนอข่าวสารได้ตามบทบาทที่เคยเป็น ภายใต้วิจารณญานอันเหมาะสมต่อการเสริมสร้างความรักสามัคคีและประโยชน์ส่วนรวม มิได้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อแต่อย่างใด

เลขาธิการ คสช.ยังได้กล่าวในตอนท้ายของการหารือด้วยว่าการประชุมครั้งนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในการนำเสนอข่าวสารสู่สาธารณะ คสช.ไม่ขอให้สื่อมายืนเคียงข้างแต่ขอให้สื่อได้ยืนเคียงข้างประเทศไทยและคนไทย คสช.เคารพหลักการทำงานของสื่อที่คงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ขอให้สื่อทำหน้าที่อย่างสบายใจในการคัดกรองข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อีกทั้งขอให้ร่วมกันนำเสนอข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในประเทศต่อสายตาชาวโลกด้วย

พล.อ.อุดมเดชยังได้กล่าวถึงเหตุผลของการเข้ามารัฐประหารของ คสช.ว่า ทุกคนต่างก็ทราบว่าเป็นเรื่องที่บ้านเมืองไปต่อไม่ได้ วันนี้สามารถเข้ามาทำอะไรได้หลายอย่างที่ไม่สามารถทำได้ก่อนหน้านี้ เมื่อ คสช.เข้ามาแล้วก็จะพยายามดำเนินการตามโรดแมปที่ได้ประกาศออกไป ระยะแรกเป็นการทำประเทศให้มีความสงบเรียบร้อยโดยจะกินเวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อนำไปสู่การปรองดองของสังคม และเตรียมการปฎิรูปไปพร้อมๆ กัน ทุกอย่างจะเดินไปด้วยเหตุด้วยผล จากนั้นจะเป็นระยะที่ 2 จะมีธรรมนูญปกครองประเทศมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูป วางแผนแก้ปัญหาต่างๆ และมีรัฐบาลบริหารประเทศ ระยะเวลาส่วนนี้จะใช้เวลาราวๆ 1 ปี และจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ต่อไป คือการมีการเลือกตั้ง

พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ในเรื่องความร่วมมือของสื่อขอยกประเด็นเรื่องการตั้งคณะทำงานดูแลสื่อ เมื่อสองวันก่อนก็พูดคุยกันว่าอึดอัดหรือไม่ แต่ตั้งแต่ คสช.เข้ามาก็มีการดำเนินการมาเรื่อยๆ แต่ไม่ชัดเจน ตรงนี้น่าจะเป็นการเสริมช่วยกันดูแลความถูกต้องมากกว่า เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและเกิดการประสานงานกัน บางสื่อขอให้ชะลอการดำเนินการและต่อมาก็เปิดให้ดำเนินการต่อ ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือ ตอนนี้มีสื่อที่ถูกปิดอยู่ขอเรียนว่ายังมีความจำเป็นอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากภาพหรือสัญลักษณ์ที่เกิดความขัดแย้งอยู่ จึงจะต้องขอปิดต่อจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทั้งนี้ หากสื่อแม้เพียงหนึ่งเดียวโจมตีทาง คสช.ก็ไปไม่รอด

ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า ที่ผ่านมากว่า 1 เดือนเท่าที่สัมผัสโดยเฉพาะเชียงใหม่ที่ผูกพันเห็นว่า บ้านเมืองกลับเข้าสู่สังคมที่สงบสุข เพราะฉนั้นหากเราจะเข้าสู่การเลือกตั้งก็จะเป็นประชาธิปไตยที่ไม่แบ่งพวก แบ่งสี หรือขัดแย้ง

ต่อคำถามที่ว่าสื่อที่ถูกปิดอยู่มีหลักเกณฑ์อย่างไรที่จะทำให้กลับมาเปิดใหม่ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ยังมีความจำเป็นบางช่องที่มีภาพลักษณ์เดิมๆ อยู่ เรารู้ว่าบุคลากรที่ทำงานหลักร้อยหลักพันเดือดร้อนอยู่ ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาถ้าสามารถมีการปรับเปลี่ยนได้

ด้าน บก.สถานีโทรทัศน์ดีเอ็เอ็น และเอเชียอัพเดท ถามว่าจะมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมอย่างไร พล.อ.อุดมเดช กล่าวยันว่ายังต้องขอประวิงเวลา เพราะที่ผ่านมาทราบดีว่าเป็นการนำเสนอเพื่อสร้างความขัดแย้งอย่างไรเช่นเดียวกับบลูสกายคู่กรณี แต่อนาคตต้องให้เปิดแต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเวลาที่เหมาะสมเมื่อไหร่

ต่อมา นายเถกิง สมทรัพย์ ผู้บริหารบลูสกายทีวีถามว่า บลูสกายที่เสนอข่าวสถานการณปัจจุบันน่าจะได้ออกอากศและใช้หลักเดียวกันกับฟรีทีวี มีเงื่อนไขอะไรบ้าง พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ติดเงื่อนไขที่เรียนมาที่ยังทำให้ไม่ได้ แต่ก็รับเงื่อนไขเพื่อจะมาดูผังรายการ และพูดคุยกันเร็วๆ นี้ ขณะที่นางอัมพา สันติเมทนีดล ผู้ดำเนินรายการ"เจาะข่าววงใน"ทางเอเอสทีวี กล่าวว่า เราต้องสร้างสรรร่วมกัน และยินดีที่จะพูดคุย

หลังจากนั้นตัวแทนโทรทัศน์ดาวเทียมช่องต่างๆ ที่ยังถูกปิดอยู่ ได้ผลัดกันสอบถามเรื่องการกลับมาออกอากาศ ซึ่งก็ได้คำตอบจาก พล.อ.อุดมเดชว่า พร้อมรับไว้พิจารณา























































กำลังโหลดความคิดเห็น