xs
xsm
sm
md
lg

เวลากับสารัตถะ

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

วันนี้เราคงจะเริ่มคุ้นกับเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทยให้ดี

เนื้อเพลงเขียนเบื้องต้นโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบอกว่าวันนี้ชาติและพระมหากษัตริย์มีภัย ขอเวลาให้ท่านเข้ามาแก้ปัญหาสักหน่อย ไม่อย่างนั้นจะสายเกินไป อีกไม่นานบ้านเมืองจะดีเหมือนเดิม

วันที่ชาติและองค์ราชา มวลประชาอยู่มาพ้นภัย
ขอดูแลคุ้มครองด้วยใจ นี่คือคำสัญญา
วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย ไฟลุกโชนขึ้นมาทุกครา
ขอเป็นคนที่เดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป
เพื่อนำรักกลับมา ต้องใช้เวลาเท่าไร
โปรดจงรอได้ไหม จะข้ามผ่านความบาดหมาง
เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน
แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา
เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา
แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน
วันนี้ต้องเหน็ดเหนื่อยก็รู้ จะขอสู้กับอันตราย
ชาติทหารไม่ยอมแพ้พ่าย นี่คือคำสัญญา
วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย ไฟลุกโชนขึ้นมาทุกครา
ขอเป็นคนที่เดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป


ในคำแถลงของหัวหน้าคณะรักษาความสงบก็จะเน้นย้ำอยู่บ่อยๆ ถึงปฏิทินหรือโรดแมปว่ามี 3 ระยะ

ระยะแรกที่จะใช้อำนาจในฐานะคณะรัฐประหารไปอย่างนี้จะไม่เกิน 3 เดือนนับแต่ในที่ 22 พฤษภาคม 2557 ระยะนี้ยังไม่มีรัฐบาล ไม่มีสภาฯ แต่จากนั้นไปภายในเดือนกันยายน 2557 รับรองว่ามีรัฐบาลแน่

ส่วนตัวผมไม่ได้สนใจเวลาในระยะแรกหรือระยะต่อไปสักเท่าไรนัก

ถ้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.จะครองอำนาจเต็มในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งด้านบริหารและนิติบัญญัติแบบ ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ (ประโยคหนึ่งในเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย) ไป 3 เดือนค่อยมีธรรมนูญการปกครอง นายกรัฐมนตรี และสภาฯ แล้วใช้เวลานับจากนั้นในระยะที่ 2 ไปอีกประมาณ 1 ปี ก็ไม่ถือว่านานหรอกหากเทียบกับในอดีต

คณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ใช้เวลา 3 เดือน 8 วัน นับจากวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2502 จึงมีธรรมนูญการปกครองฯ และมีสภาฯ มีนายกรัฐมนตรีในอีกไม่กี่วันถัดมา

ออกประกาศคณะปฏิวัติไป 57 ฉบับ

รัฐบาลที่เกิดขึ้นตามมาอยู่ต่อเนื่องถึง 9 ปีจึงมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและการเลือกตั้ง

แต่คณะปฏิวัติชุดต่อมาของจอมพลถนอม กิตติขจรที่รัฐประหารตัวเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ใช้เวลาระยะแรกนานกว่านั้นมาก คือกว่าจะประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองฯ ก็เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปีเต็มกับอีกเกือบๆ 1 เดือน นับจากวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2515 ทีเดียว

ยุคนั้นสร้างสถิติประเทศออกประกาศคณะปฏิวัติรวมแล้วถึง 364 ฉบับ

โดย 1 ใน 364 ฉบับนี้คือฉบับที่ 299 ที่เผลอเข้าไปก้าวก่ายอำนาจตุลาการด้วยจนเป็นเรื่องใหญ่เมื่อปลายปี 2515 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลที่เกิดขึ้นอยู่ได้อีกเพียง 10 เดือนเท่านั้น สั้นกว่าช่วงเวลาที่ใช้ในระยะแรกเสียอีก ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ใช้เวลานานเท่าไร!

เพราะตัวเวลาเองไม่สำคัญเท่ากับว่าใช้เวลานั้นไปทำในสิ่งที่ควรทำหรือไม่?


ถ้าทำในสิ่งที่ควรทำที่ไม่สามารถและไม่อาจทำได้ในระบอบเดิม เวลาที่ประกาศออกมาประชาชนอาจเห็นว่าน้อยเกินไปด้วยซ้ำ

ประชาชนที่ต้องการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงไม่ได้สนใจเรื่องเวลาเท่ากับเนื้อหาที่ต้องตรงเป้าเข้าประเด็น

ยังไม่อาจบอกได้ว่าทิศทางของ คสช.จริงๆ แล้วจะเดินหน้าไปอย่างไร

เพราะขณะนี้ท่านกำลังจะพยายามวางตัวเป็นกลางอยู่เหนือความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ เหมือนๆ กับว่าบ้านเมืองในช่วง 8 – 10 ปีที่ผ่านมามีปัญหาเพราะกลุ่มต่างๆ ขัดแย้งแตกแยกกัน ไม่ใช่เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งสร้างปัญหาขึ้นมาแล้วมีคนกลุ่มอื่นในบ้านเมืองลุกขึ้นต่อต้าน การเรียกคนไปรายงานตัวจึงต้องเรียกทุกกลุ่ม การปิดสื่อจึงต้องปิดทุกกลุ่ม

คสช.จะคิดอย่างนี้จริงๆ หรือเป็นความจำเป็นที่ต้องอำพรางความคิดที่แท้จริงไว้เพื่อให้เกิดแรงต่อต้านน้อยที่สุดก็ยากที่จะตอบได้ในวันนี้

เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า คสช.คิดจริงๆ อย่างไรและทำตรงเป้าเข้าประเด็นหรือไม่

ประเทศไทยมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในระดับปฏิวัติมาครั้งหนึ่งในรัชสมัย รัชกาลที่ 5 อาจจะถือตลอดรัชสมัยของพระองค์ หรือจะถือปีปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ในปี 2435 ก็ได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างชนิดเกือบจะรอบด้าน จากนั้นก็มีการรัฐประหารของข้าราชการทหารพลเรือนที่มีลักษณะปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่จากนั้นเพียงไม่ถึง 1 ปีก็เกิดการรัฐประหารเงียบ แล้วก็รัฐประหารกลับ และเกิดการต่อสู้กันในหมู่คณะที่ก่อการมาด้วยกันจนเกิดการรัฐประหารครั้งสำคัญในปี 2490 ประชาธิปไตยที่ได้มาจึงมีเพียงรูปแบบ ทั้งครึ่งๆ กลางๆ และลุ่มๆ ดอนๆ ต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2500 ก็เกิดการรัฐประหารพลิกประเทศกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหารเสียเกือบ 20 ปี การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ จึงกลับมาอีกครั้งแต่ก็ไม่ยั่งยืน

สภาพทางเศรษฐกิจประเทศไทยก้าวไปไกลบนหนทางทุนนิยมเสรี แต่สภาพทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยยังพิกลพิการ

ลักษณะขัดแย้งกันเช่นนี้คือบ่อเกิดแห่งความรุนแรงที่คุกรุ่นมาโดยตลอด

หลังการนองเลือดเดือนพฤษภาคม 2535 เราพูดกันมากถึงการปฏิรูปการเมือง และการปฏิรูปสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ผลที่ได้ล่าช้าและเบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์เดิม รัฐธรรมนูญ 2540 แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี แต่ก็ถูกนายทุนที่มั่งคั่งที่สุดคนหนึ่งของประเทศที่เข้ามาแสวงอำนาจทางการเมืองอาศัยช่องว่างบิดเบือนจนตายไปก่อนที่จะถูกฉีกในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ต่ำกว่า 2 ปี เรามีการนองเลือดถึง 2 ครั้งในเดือนเมษายน 2552 และเดือนพฤษภาคม 2553 แต่รัฐบาลก็ไม่ใช้โอกาสนั้นดำเนินการปฏิรูปใหญ่

วันนี้เป็นโอกาสที่ใกล้เคียงที่สุดอีกครั้ง

ก็ได้แต่หวังว่าความสุขแท้จริงจะได้กลับคืนสู่ประเทศไทยเสียทีไม่ใช่หลุดลอยไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น