xs
xsm
sm
md
lg

คนข่าวแถลงถูกจำกัดสิทธิ กอ.รส.รุกคุมสื่อออนไลน์ "ลีน่าจัง"โวยทีวีถูกปิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์ร่วม ชี้คำสั่ง กอ.รส. กระทบรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่รับรองสิทธิเสรีภาพสื่อ หลังสั่งปิด 14 ทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน เรื่อยไปถึงจำกัดการเสนอข่าวของสื่อออนไลน์ แนะโยน กสทช. จัดการแทน และต้องยกเลิกคำสั่งห้ามสื่อสัมภาษณ์แหล่งข่าว พร้อมวอนสมาชิกเครัดครัดในวิชาชีพ ด้าน กอ.รส. ตั้งคณะทำงานคุมสื่อออนไลน์แล้ว ดึงไอซีที ตำรวจเข้าร่วม มั่นใจปิดเว็บผู้ทำผิดได้ภายใน 1 ชั่วโมง "ลีน่าจัง"ออกตัวโวยทันควัน หลังทีวีถูกปิด

หลังจากที่กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ได้มีประกาศคำสั่งออกมาหลายฉบับเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทั้งทางสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ สื่อออนไลน์ ตามคำสั่งฉบับที่ 3/2557 คำสั่งฉบับที่ 6/2557 คำสั่งฉบับที่ 7/2557 คำสั่งฉบับที่ 8/2557 และคำสั่งฉบับที่ 9/2557 และได้มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องนั้น

ล่าสุด วานนี้ (21 พ.ค.) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ,สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ,สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วม ขอให้ กอ.รส. ทบทวนการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน เพราะคำสั่งของ กอ.รส. มีเนื้อหาที่กระทบกับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่รับรอง "เสรีภาพแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาหรือการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น" อยู่หลายประการ

ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เสนอแนะว่า การขอความร่วมมือให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 14 แห่ง และสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามที่กฎหมายกำหนด ให้ระงับการออกอากาศจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงนั้น อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงควรให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดูแลแทน และขอเรียกร้องให้ กอ.รส. พิจารณาอย่างรอบคอบในการใช้อำนาจสั่งปิดสื่อที่อาจเข้าข่ายก่อให้เกิดการขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับสังคม ซึ่งเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อมวลชนอย่างรุนแรง

ส่วนคำสั่งที่ห้ามเชิญบุคคลให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อประเภทต่างๆ ขอให้ยกเลิกทันที เพราะเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นและไม่สอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างและกองบรรณาธิการสื่อต่างๆ ก็มีดุลพินิจที่จะเชิญบุคคลให้แสดงความเห็นหรือสัมภาษณ์ที่ไม่นำไปสู่การขยายความขัดแย้งและความรุนแรงได้อยู่แล้ว

สำหรับการประกาศใช้กฎอัยการศึก เห็นว่า มีผลกระทบต่อเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างกว้างขวาง กอ.รส.ควรประกาศเจตนารมณ์ให้ชัดเจนว่าจะสนับสนุนและไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกแขนง พร้อมทั้งให้ความเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการนำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ถูกต้องครบถ้วนและรอบด้าน รวมทั้งเคารพเสรีภาพของสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งการแสดงจุดยืนดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน และได้รับการยอมรับในสายตาของนานาชาติที่กำลังจับตามองความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้

นอกจากนี้ ขอเรียกร้องมายังผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกคนให้ตระหนักว่าต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อ่อนไหว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สื่อทุกแขนงต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูงในการปฏิบัติงาน เพื่อจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด ตลอดจนทำงานด้วยความรับผิดชอบและยึดมั่นในหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพโดยเคร่งครัด

วันเดียวกันนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เรียกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) เข้ามาหารือหลังจากที่ กอ.รส. ได้ขอความร่วมมือสื่อออนไลน์ และสื่อสังคมออนไลน์ ในการเสนอเนื้อหาบนสื่อ ที่ห้ามมีการเสนอข่าวเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือ ไม่เคารพกฎหมาย และไม่เคารพการปฏิบัติงานของ กอ.รส.

นายฐากรกล่าวว่า กอ.รส. ได้ขอความร่วมมือในการเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์ และสื่อสังคมออนไลน์ โดยกอ.รส. ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลในกรณีดังกล่าวแล้ว มีตัวแทนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนจาก กอ.รส. โดยกระทรวงไอซีทีจะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการติดตามเนื้อหาบนสื่อออนไลน์และรายงานผลมายัง กอ.รส.ต่อไป

ทั้งนี้ ความร่วมดังกล่าว เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และสถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัว จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ในการนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคม

ส่วน กสทช. จะมีหน้าที่ประสานงานด้านต่างๆ หากมีการร้องขอ และจะเป็นผู้ดูแลอีกชั้นหนึ่งเพื่อความรอบคอบ โดยในเบื้องต้นหากมีการตรวจสอบพบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมจะสามารถดำเนินการปิดเว็บไซต์ดังกล่าวภายใน 1 ชั่วโมงภายหลังตรวจพบ โดยวานนี้ (21 พ.ค.) ทางไอเอสพีของทรูได้เปิดเผยว่ามีการปิดเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมไปแล้วจำนวน 6 เว็บไซต์ด้วยกัน แต่เว็บไซต์ที่มีเซร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ เช่น Youtube คงเป็นเรื่องยาก หากผู้กระทำผิดนำเนื้อหาหนีไปลงบนช่องทางนี้ ซึ่งต้องแจ้งปัญหาดังกล่าวให้กับ กอ.รส. รับทราบเพื่อหาทางออกต่อไป

อย่างไรก็ตาม กอ.รส. จะขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Twitter, Youtube และ Line เพื่อเข้ามาหารือ และร่วมเป็นคณะอนุกรรมการของคณะทำงานตรวจสอบเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ด้วย

สำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เข้าร่วมการประชุม มีจำนวนทั้งหมด 105 ราย เช่น บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)หรือเอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท กสท โทรคมนาคม, บริษัท ทีโอที, บริษัท ทรูอินเตอร์เน็ต จำกัด ในเครือ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และซี เอส ล็อกซอินโฟ, ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต, จัสมิน อินเตอร์เน็ต, สามารถ อินโฟเนต และไวด์ แอ็คเซ็ส เป็นต้น

วันเดียวกันนี้ นางลีน่า จังจรรจา เจ้าของสถานีโทรทัศน์ HOT TV ได้เดินทางมายังที่ทำการ กอ.รส. สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อขอพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รส. หลังจากมีประกาศระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ HOT TV

นางลีน่าจังกล่าวว่า การปิดสถานีโทรทัศน์ของตน ทำให้ตนได้รับความเดือดร้อน พร้อมตะโกนท้าให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาหา แต่สุดท้าย นางลีน่าจัง ก็ได้เดินทางกลับจากสโมสรกองทัพบก
กำลังโหลดความคิดเห็น