รายงานการเมือง
โศกนาฏกรรมบนขบวนรถไฟที่เกิดกับเด็กหญิงวัยเพียง 13 ปี แม้จะจับตัวคนร้ายที่ก่อเหตุได้แล้วแต่อารมณ์ของผู้คนในสังคมดูจะไม่จบลงง่ายๆ โดยจากกระแสที่เคลื่อนตัวอย่างเข้มข้นในโลกโซเชียลมีเดียมีอยู่สองกระแสหลัก คือ
กระแสเรียกร้องให้มีการกำหนดในกฎหมายให้การข่มขืนต้องลงโทษด้วยการ “ประหารชีวิต” เท่านั้น กับอีกกระแสหนึ่ง คือ การเรียกร้องให้ “ประภัสร์ จงสงวน” ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในฐานะผู้บริหารและจากพฤติกรรมบิดเบือนข้อมูลปัดความรับผิดชอบโดยระบุว่าคนร้ายไม่ใช่เจ้าหน้าที่การรถไฟ แต่หลักฐานมัดว่าพูดโกหก ซึ่งกรณีที่สองได้รับการตอบสนอง คสช.ปลดประภัสร์ไปแล้ว
เหตุรุนแรงที่เกิดในที่สาธารณะเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง และทุกครั้งสังคมไทยก็จะจมอยู่กับพายุอารมณ์ในสองประเด็นที่ไม่แตกต่างไปจากกรณีล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นสุดท้ายเรื่องก็เงียบไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นในกอไผ่รอเวลาให้เกิดเรื่องใหม่เพื่อกลับเข้าสู่วงจรเดิมอีกครั้งจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราไม่ใช้บทเรียนที่เกิดให้ความรู้แก่ ประชาชนทั้งในเชิงป้องกันและการเข้าถึงสิทธิที่พึงจะได้จากรัฐตามความคุ้มครองที่กฎหมายกำหนด
โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
เชื่อว่าคนไทยจำนวนมากกว่าครึ่งประเทศ ไม่เคยรู้จัก “พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544” ซึ่งเป็นกฎหมายรับรองสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐแต่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้มาแล้ว 13 ปีกลับมีผู้ยื่นคำขอรับค่าตอบแทนความเสียหายเพียงแค่ร้อยละ 38 เมื่อเทียบจากสถิติคดีอาชญากรรมทั้งหมด
ที่สำคัญคือ ตามกฎหมายนี้ไม่ได้ให้สิทธิเฉพาะเรื่องค่าตอบแทนความเสียหายแต่ยังระบุ “หน้าที่ให้ช่วยเหลือในเรื่องคดีให้กับผู้เสียหาย” ด้วย ซึ่งประเด็นนี้แทบไม่เคยปรากฏให้เห็น เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบเองก็มุ่งที่จะวัดผลงานด้วยการจ่ายเงินมากกว่าการช่วยเหลือคดีในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม
ล่าสุด คดีฆ่าข่มขืนบนรถไฟที่ครึกโครมอยู่เวลานี้ พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นตัวแทนของศูนย์เยียวยาเหยื่ออาชญากรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้มอบเงินสดจำนวน 100,000 บาทให้กับมารดาของเหยื่อ ในสถานที่เดียวกับที่มีการจัดฉากให้ครอบครัวขอบคุณตำรวจจนถูกประจานว่าส่งสคริปต์ให้ญาติสร้างภาพให้ตำรวจ
สถานการณ์ดังกล่าวไม่เพียงสะท้อนปัญหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ถนัดจัดฉากมากกว่าการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนเท่านั้น แต่ยังตอกย้ำด้วยว่ากระบวนทัศน์ของข้าราชการไทยยังคงคับแคบ วนเวียนอยู่กับการเอาหน้า ใช้ความเสียหายของประชาชนมาประชาสัมพันธ์หน่วยงานตัวเอง
แทนที่จะดำเนินการทุกอย่างตามหน้าที่และยุติบทบาทของตัวเองลงทันทีเมื่อการจัดอีเวนต์มอบเงินให้ญาติผู้เสียหายเหมือนการมอบรางวัลในเกมโชว์ ทั้งๆ ที่การดูแลเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายในเรื่องคดีเป็นเรื่องจำเป็นที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเยียวยาด้วยเงิน
ความเจ็บปวดของสาวปริญญาโทที่ถูกพนักงานการรถไฟข่มขืนบนรถไฟเมื่อปี 2544ซึ่งถ่ายทอดความรู้สึกผ่านจดหมายถึงหัวหน้า คสช.เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความขมขื่นของคนตัวเล็กๆ ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเองอย่างโดดเดี่ยวเสียทั้งชื่อเสียง หน้าที่การงาน และสุดท้ายยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาใดๆ เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมานานถึง 13 ปี
สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ต้องไม่หยุดการช่วยเหลือเพียงแค่การจ่ายเงินหนึ่งแสนบาทแต่ต้องเป็นเจ้าภาพช่วยประสานติดตามให้การรถไฟฯ จ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสมแก่ผู้เสียหายหากมีความจำเป็นต้องฟ้องร้องก็ต้องจัดเจ้าหน้าที่มาดูแลคดีให้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดไม่ใช่ให้ผู้เสียหายต้องดิ้นรนเอาเอง
ขณะเดียวกัน ผู้มีอำนาจควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนต่อกรณีที่ศาลตัดสินให้หน่วยงานรัฐจ่ายชดเชยให้แก่ผู้เสียหายว่าไม่ควรจะมีการยื่นทุเลาคดีเพราะนอกจากทำให้เกิดความล่าช้าแล้วยังยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหายด้วย
“หลายท่านคงไม่รู้ว่า หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนชีวิต และสุขภาพดิฉันไปตลอดกาลอย่างสิ้นเชิง ท่านรู้หรือไม่? ดิฉันต้องถูกบีบบังคับให้ออกจากงานที่กำลังไปได้ดีเพราะในสายตาของผู้บริหาร ดิฉันได้นำความเสื่อมเสียมาสู่องค์กรเพราะในการเดินทางครั้งนั้น ดิฉันไปทำงานในนามของบริษัท ดิฉันต้องเข้าโรงพยาบาลทางจิตติดต่อกันมาหลายปี มีอาการประสาทหลอน ควบคุมสติไม่ได้ ต้องเข้าบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง ทุกคืนวันดิฉันมีอาการฝันร้ายผวาและหวาดกลัวคนรอบข้าง ไม่ไว้วางใจผู้คน วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่านานนับหลายปี ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีอาการสั่นของมือ และเมื่อมีเหตุการณ์อะไรที่กระทบกระเทือนจิตใจ แม้แต่เพียงเล็กน้อย ดิฉันจะมีภาวะตระหนก ควบคุมตนเองไม่ได้ และหลายต่อหลายครั้งถึงกับหน้ามืดเป็นลมหมดสติ ซึ่งอาการเหล่านี้แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานถึง 13 ปี ดิฉันก็ยังประสบความยากลำบากที่จะมีชีวิตเยี่ยงคนปกติ ด้วยความอ่อนแอทางสุขภาพจิตและการต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องหลายปี ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การต้องประสบกับความอับอายในสังคม ทำให้ดิฉันต้องระเห็จมาตั้งต้นชีวิตใหม่ในต่างประเทศอย่างยากลำบาก และรอคอยกระบวนการยุติธรรมที่ถูกทำให้ล่าช้าอย่างไม่เห็นแก่มนุษยธรรมของท่าน”
ข้อความข้างต้น...คือเสียงจากเหยื่อที่ยังมีลมหายใจซึ่งน่าจะกระตุกให้ผู้มีอำนาจและคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้ตระหนักว่าการช่วยเหลือในทางคดีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย และผู้เสียหายไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ ให้คนมีอำนาจกรีดกรายมาโหนกระแสถ่ายภาพให้เป็นข่าวผ่านสื่อเท่านั้น