สะเก็ดไฟ
เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับธรรมนูญปกครองที่กำลังจะคลอดออกมาเป็นกติกาสูงสุดชั่วคราวในการบริหารประเทศ
หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และหัวหน้า คสช.ทำการรัฐประหารเพื่อควบคุมอำนาจการบริหารประเทศเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยมีประกาศ คสช.ออกมาเป็นเครื่องมือในการบริหารรวม 74 ฉบับ และคำสั่ง คสช.อีก 67 ฉบับ
สำหรับธรรมนูญปกครองที่มี “เนติบริกร” อย่าง วิษณุ เครืองาม เป็นหัวเรือใหญ่ในการยกร่างซึ่งยังไม่มีใครทราบว่าเนื้อหาในธรรมนูญดังกล่าวจะกำหนดขอบเขตอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีรัฐบาลเอาไว้อย่างไร และจะวางบทบาท-อำนาจระหว่างนายกรัฐมนตรีกับหัวหน้า คสช.ให้มีการยึดโยงกันอย่างไร
หากพิจารณาจากท่วงท่าการบริหารตลอดจนประกาศและคำสั่งของ คสช. จะเห็นได้ว่า คสช.คงไม่ปล่อยมือให้การบริหารไปอยู่กับ ครม.ชุดใหม่ง่ายๆ เว้นแต่ ครม.ที่จะเกิดขึ้นกับ คสช.ที่มีบทบาทในการบริหารด้านต่างๆ จะเป็นชุดเดียวกัน
ในการรัฐประหารปี 2534 และ 2549 มีการเปลี่ยนรูปตัวคณะรัฐประหารเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปยังรัฐบาลคือในปี 2534 รสช.เปลี่ยนรูปเป็นสภา รสช. ส่วนปี 2549 คปค.เปลี่ยนรูปเป็นคณะมนตครีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. มีจุดเชื่อมโยงการบริหารประเทศไว้ที่มาตรา 34 คือ
ประธานคณะมนตรีฯ อาจขอให้มีการประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแก้ปัญหาใดๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เช่นเดียวกับในปี 2534 ก็มีการกำหนดอำนาจให้ รสช.เข้าไปมีบทบาทในการบริหารของรัฐบาลได้เช่นเดียวกัน “กรณีที่เห็นสมควร ประธานสภา รสช. หรือนายกรัฐมนตรีอาจขอให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อร่วมพิจารณาและแก้ไขปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน”
จึงต้องจับตาดูว่า ธรรมนูญปกครองยุค พล.อ.ประยุทธ์ จะให้น้ำหนักกับ คสช.ในการเข้าไปครอบงำการบริหารประเทศของรัฐบาลในอนาคตอย่างไร
แต่สิ่งที่น่าจะไม่แตกต่างจากการรัฐประหารทั้งสองครั้งที่ผ่านมา คือ คณะรัฐประหารคือผู้คัดเลือกบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเท่ากับว่า คสช.จะเป็นผู้ควบคุมการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ต่างจากสภาปฏิรูปที่จะมีขึ้นในอนาคตแม้จะออกแบบให้มาจากการสรรหาจากหลากหลายสาขาอาชีพ
แต่สุดท้ายก็ต้องจบลงที่มือของ คสช.อยู่ดี
ขณะเดียวกัน สิ่งที่จะมีผลโดยตรงต่อระบบการปกครองต่อจากนี้ไป คือ การกำหนดอำนาจของหัวหน้า คสช.-นายกรัฐมนตรีว่าจะมีขอบเขตอย่างไรจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนที่เคยบัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองยุคจอมพลสฤษดิ์ปี 2502 ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 หรือไม่ ซึ่งมีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่จะมีการกำหนดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเอาไว้เพียงแต่จะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาตามประกาศและคำสั่งของ คสช.ทั้งหมดสะท้อนว่ารัฐบาลใหม่ที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้นนั้นไม่มีอิสระในการกำหนดนโยบายหลักให้แก่ประเทศมากนักเนื่องจากทั้ง คสช.ได้วางแนวทางไว้ครอบคลุมเกือบหมด ทั้งในรายละเอียดและภาพกว้างที่กำหนดเป็นโรดแมปบริหารประเทศ 3 ระยะ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการรัฐประหารในยุคจอมพลสฤษดิ์ ที่คณะรัฐประหารคือผู้บริหารประเทศเองโดยกำหนดแผนการดำเนินงานไว้ในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ดังนี้
1. เนื่องจากการกระทำครั้งนี้เป็นการปฏิวัติไม่ใช่เพียงรัฐประหารอย่างที่เคยกระทำกัน
มาในครั้งก่อนๆ คณะรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นในชั้นนี้จึงจะเป็นรัฐบาลปฏิวัติในระยะ
หัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลปฏิวัติจะประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีมีจำนวนตามสมควรแก่กิจการที่จะต้องบริหารดังจะได้ประกาศรายนาม
ให้ทราบต่อไป
2. จะได้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ให้เหมาะสมกับสถานการณ์รายชื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้ประกาศต่อไป
3. นอกจากหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วจะได้ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่
เป็นสภานิติบัญญัติในระยะเวลาปฏิวัติอีกด้วยการออกกฎหมายในระยะนี้ต้องผ่าน
สภานี้ นอกจากนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจหน้าที่อย่างอื่นซึ่งจะได้บัญญัติ
ไว้ในประกาศตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ
4. จัดการแก้ไขและปรับปรุงเศรษฐกิจแห่งชาติให้ดีขึ้นและเข้าสู่มาตรฐานที่พึงพอใจ
โดยนำเอาหลักนิยมในระบอบประชาธิปไตยมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่
ของประชาชนชาวไทย ทั้งในทางกสิกรรมและอุตสาหกรรมสำหรับงานนี้จะได้ตั้ง
คณะกรรมการวางแผนการเศรษฐกิจแห่งชาติทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้เป็น
แผนการถาวร ซึ่งรัฐบาลที่ตั้งขึ้นภายหลังจะต้องยึดถือเป็นทางปฏิบัติสืบเนื่องกัน
ไม่ยกเลิกหรือเปลี่ยนใหม่ง่ายๆตามอารมณ์ของผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาล จะได้ประกาศ
ชี้แจงให้ราษฎรทราบและเข้าใจแผนการและผลที่ทำสำเร็จเป็นปีๆ ไป
5. เพื่อให้ได้ผลดังกล่าวในข้อ 4. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้แผนการเศรษฐกิจเป็นแผนการถาวรที่รัฐบาลจะต้องปฏิบัติสืบเนื่องกันไป จะต้องให้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในระหว่างรัฐธรรมนูญกับแผนการเศรษฐกิจและจะต้องเอาหลักการเศรษฐกิจเข้าบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเท่าที่จะทำได้และจะต้องประกาศแผนดำเนินการเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญหรือในเวลาใกล้ชิดกัน
6. แก้ไขปรับปรุงระเบียบการคลัง การปกครองการศึกษา และอื่นๆ บรรดาที่อยู่ใน
ลักษณะงานปฏิวัติ โดยออกเป็นกฎหมายผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ
7. เมื่อได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างขึ้นแล้วการบริหาร
ประเทศก็จะได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้น
เชื่อว่าแนวทางของ คสช.ก็คงไม่แตกต่างไปจากยุคจอมพลสฤษดิ์เท่าใดนักนอกจากเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูป ซึ่งคสช.แยกส่วนให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติและให้สภาปฏิรูปทำหน้าที่ในการกำหนดประเด็นและกฎหมายที่ต้องปฏิรูปไปจนถึงประเด็นในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีคณะกรรมการยกร่างตามมาในภายหลังแต่ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ใช้สภาเดียวทำทุกอย่างในนามของสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนการบริหารงานด้านต่างๆ คสช.ก็กำหนดไว้ในประกาศฉบับต่างๆ ไปแล้วโดยมีหัวหน้าคสช.และรองหัวหน้า คสช.ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการชุดต่างๆ
จนน่าสงสัยว่า ครม.ชุดใหม่จะมีอำนาจอะไรในการบริหารหรือเป็นเพียงแค่ได้ชื่อว่าเป็นคณะรัฐมนตรีเท่านั้น