เอพี – สื่อนอกทั่วโลกรายงานการให้สัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะคสช. ที่ทำหน้าที่ผู้นำสูงสุดของประเทศหลังจากการทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยผู้นำคสช.ประกาศ กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของไทยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ในขณะการเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งใหญ่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม 2015
สื่อนอกทั่วโลก เช่น เอพี รายงานในวันเสาร์(28)ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำคณะคสช.และผู้บัญชาการทหารบก ได้ประกาศในวันศุกร์(27)ว่า จะให้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเริ่มบังคับใช้ในเดือนหน้า ซึ่งจะมีผลทำให้มีสภาคณะนิติบัญญัติชั่วคราว และคณะรัฐบาลรักษาการเกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้พลเอกประยุทธ์ยังเปิดเผยว่าสภาปฎิรูปแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้ง และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่จะทำงานควบคู่กันไปในระยะยาวจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2015
นอกจากนี้ผู้นำคสช.แถลงผ่านรายการโทรทัศน์เมื่อวานนี้(27)ว่า จะมีการเลือกตั้งขึ้นไปเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนหลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่มีการเอ่ยถึงการทำประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2007 หลังการทำรัฐประหารโค่นทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เช่นเดียวกันถูกพลเอกประยุทธ์ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ล่าสุดโดยไม่มีการสูญเสีย จากเหตุผลเพื่อนำเสถียรภาพกลับคืนสู่สังคมไทยที่เกิดจลาจลทางการเมืองนานเกือบครึ่งปี และทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 28 คน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องมีสภาพเป็นเป็ดง่อยเพราะต้องตกอยู่ในฐานะรัฐบาลรักษาการ รวมไปถึงอดีตนายกยิ่งลักษณ์ที่ถูกคำสั่งศาลให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ในช่วงท้ายๆ
แต่หลังจากที่เข้าสู่อำนาจ กองทัพไทยยังฉายหนังม้วนเก่า ต่อยอดในสิ่งที่กลุ่มกปปส. ต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเรียกร้อง โดยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทำการปฏิรูปการเมืองก่อนกำหนดการเลือกตั้งทั่วไป และทำการปิดปากกลุ่มคนที่วิพากษ์การทำรัฐประหารด้วยการจับกุม
ทั้งนี้สภาปฎิรูปแห่งชาติที่จะถูกตั้งขึ้นจะพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ยุติธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คำแนะนำแก่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และพลเอกประยุทธ์ย้ำว่าคสช.ต้องการเห็นการเลือกตั้งครั้งใหม่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำลังจะคลอดในอนาคต เพื่อให้การเลือกตั้งนั้นโปร่งใส ยุติธรรม เป็นรากฐานของระบอบประชาธปไตยไทยที่แท้จริง โดยต้องการให้ประชาธิปไตยนำการพัฒนามาสู่ประเทศ ไม่ใช่นำความขัดแย้งเช่นในอดีต
แต่ทว่านักวิจารณ์ต่างโต้แย้งว่า กองทัพต้องการให้กฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่เป็นประชาธิปไตยน้อยลงโดยการลดอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และเพิ่มจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้งเพื่อให้กลุ่มหัวอนุรักษ์ กลุ่มนิยมสถาบัน ที่เป็นปรปักษ์กับทักษิณ ชินวัตร ยังคงมีอำนาจในการปกครองประเทศต่อไป
นอกจากนี้ ในการแถลง พลเอกประยุทธ์ยังได้กล่าวถึงเสียงวิจารณ์การทำรัฐประหารของเขาที่มาจากต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยชาติตะวันตกเหล่านี้ได้คว่ำบาตรไทย รวมไปถึงตัดการให้ความช่วยเหลือต่างๆ “ผมหวังว่าทั้งสหรัฐฯและอียูจะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยเหมือนกับที่คนไทยส่วนใหญ่รับรู้ และผมหวังว่าเพื่อนต่างชาติของเราจะยินดีในทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้” พลเอกประยุทธ์แถลง
ประเทศไทยเกิดแบ่งแยกเป็นฝ่ายอย่างร้าวลึกหลังการทำรัฐประหารในปี 2006 จากการที่ทักษิณถูกโค่นอำนาจลงด้วยข้อกล่าวหาคอรัปชัน ใช้อำนาจโดยมิชอบ และไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะถูกโค่นอำนาจไป ทักษิณที่ขณะนี้หลบหนีคดีอยูในดูไบยังคงเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่อาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกสิกรรมเป็นหลัก รวมไปถึงชนชั้นทำงานในเมืองหลวง และบรรดากลุ่มคนในเมืองคิดว่าประเทศได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมากกว่าหากมีผู้นำเช่น ทักษิณ กุมบังเหียนประเทศ โดยพรรคการเมืองของทักษิณชนะการเลือกตั้งติดต่อกันตั้งแต่ปี 2001
แต่ฝ่ายตรงข้ามที่เกิดจากการรวมตัวกลุ่มหัวอนุรักษ์ กลุ่มอำนาจเดิมที่นิยมสถาบัน และประชาชนชนชั้นกลางในตัวเมือง รวมถึงในกรุงเทพฯ ประชาชนจากภาคใต้ และกลุ่มคนที่เห็นภัยร้ายของการคอรัปชัน โครงการประชานิยม ต้องการขุดรากถอนโคนอำนาจของทักษิณและเครือข่ายออกจากระบบการเมืองไทย โดยชูคำขวัญ “ต้องการประเทศไทยกลับคืนมา”