วงถก กกต. กับ กปปส. พบ “สมชัย” พยายามเกลี้ยกล่อมยอมให้เลือกตั้ง แต่ให้ รมต. นั่งเกียร์ว่าง แล้วค่อยตกลงอยู่ 1 ปี ปฏิรูปแล้วเลือกตั้งใหม่ เหน็บสู้ให้ชนะประเทศไม่มีทางสงบ ไม่ต่างจากยุค “อภิสิทธิ์” ด้าน “สุเทพ” สวนกลับรับไม่ได้ ลั่นไม่ต้องการนายทุนครอบงำประเทศ ต้องปฏิรูปการเลือกตั้ง ชี้เสียเวลาแต่ได้มาตรฐานก็คุ้มค่า ยันไม่แทรกแซงเพราะเป็นสภานิติบัญญัติ เผยถ้าฝืนเลือกตั้งประชาชนไม่เอาด้วยก็ล้มเหลว
วันนี้ (15 พ.ค.) กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้นำมวลชนเดินทางมาพบกับกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมี นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง นายประวิช รัตนเพียร กกต. ด้านการมีส่วนร่วม และ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. ต้อนรับและรับฟังข้อเสนอของนายสุเทพ ซึ่งนายสุเทพ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกลไกการเลือกตั้งให้พรรคการเมือง และนักการเมืองไม่ตกเป็นเครื่องมือของนายทุน เอาผิดกับนโยบายประชานิยมที่ทำลายประเทศชาติ โดยให้ กกต. ดำเนินการทั้งการแก้ไขระเบียบหรือกฎหมายในประเด็นเหล่านี้ รวมถึงการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จ จึงค่อยจัดการเลือกตั้ง ถึงตอนนั้นทางประชาชนจะพร้อมไปเลือกตั้ง
จากนั้นประธาน กกต. ได้มอบหมายให้นายสมชัย ในฐานะที่รับผิดชอบดูแลงานด้านบริหารงานเลือกตั้ง นำเสนอแนวทางการเลือกตั้ง โดย นายสมชัย ได้ขอให้มีการแบ่งช่วงการปฏิรูปเป็นสองช่วง ช่วงแรกปฏิรูปในส่วนที่สามารถปรับแก้ในระเบียบกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนของการเลือกตั้งก่อน แล้วให้มีการเลือกตั้ง โดยมีข้อตกลงให้มีรัฐบาลที่ได้รับเลือกมาทำหน้าที่ปฏิรูป และลาออกใน 1 ปี เพื่อเลือกตั้งใหม่ ซึ่งการปฏิรูปทำได้สองส่วน ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง เมื่อยังไม่มีสภา สิ่งที่ต้องแก้กฎหมายก็ยังทำไม่ได้ ทำได้เพียงข้อจำกัดตามอำนาจของ กกต. ในการออกระเบียบ ส่วนกติกาใหญ่จำเป็นต้องใช้สภา จึงไม่อาจคิดได้ว่าจะปฏิรูปได้เสร็จทั้งหมดก่อนวันเลือกตั้ง
นายสมชัย ย้อนถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ กปปส. จะยอมให้มีการเลือกตั้งในเวลาที่ไม่ช้าเกินไป อาจเป็น 3 - 5 เดือน ภายใต้เหตุการณ์ที่สังคมช่วยสร้างเงื่อนไขว่าการเลือกตั้งนั้นไม่ทำให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ไม่เป็นผลว่าจะไม่ให้นักการเมืองที่เป็นปัญหาเข้ามา เพราะหากกำหนดนานเกิน ฝ่ายสนับสนุนการเลือกตั้งคงยอมไม่ได้ หากทุกฝ่ายตกลงได้ เช่น ยอมให้ 3 เดือน ก็อาจเป็นช่วงที่ฝ่ายการเมืองต้องไม่มีอำนาจกำกับดูแลข้าราชการประจำ ยอมให้กลุ่มเฉพาะกิจมาดูแลระบบราชการ โดย กกต. ดูแลการเลือกตั้งให้สำเร็จ
“เมื่อเช้ายังได้ถามนายนิวัฒน์ธำรง ว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่ารัฐมนตรีทั้งคณะไม่ต้องลาออก แต่ไม่ต้องทำงาน จะลากิจลาป่วยไป แล้วให้ปลัดกระทรวงทำงานไป แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ผมยังมองว่าถ้า กปปส. ยอมรับเงื่อนไข ก็จะเป็นโจทย์ใหม่ที่ กกต. สามารถไปคุยกับรัฐบาล และไปกำหนดวันเลือกตั้งที่ทำให้ทุกฝ่ายเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง และยอมรับกติกาที่ กกต. กำหนด และช่วยกันสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยการเลือกตั้ง ไม่ขัดขวางฝ่ายใดไปหาเสียงในทุกพื้นที่ มวลชนทั้งสองฝ่ายยอมหยุด หรือจากนั้นอาจมีข้อตกลงว่าเลือกตั้งแล้วอยู่ 1 ปี ปฏิรูปแล้วยุบสภาก็ว่ากันไป” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวอีกว่า หากไม่ให้มีทางออก ปัญหาจะตกอยู่ที่ประเทศชาติ หากถอยหลังไปเรื่อยๆ ประเทศไทยจะอยู่ไม่ได้ในภูมิภาคนี้ เพราะการลงทุนชะงักงันไปหมด ถามว่าประเทศไทยจะทนไปได้อีกนานแค่ไหน ซึ่งถ้า กปปส. รับข้อเสนอนี้ตนก็จะส่งข่าวไปยังรัฐบาล
ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับจากนายสุเทพ โดย นายสุเทพ กล่าวว่า ประชาชนไม่อาจทนให้พรรคการเมืองที่มีนายทุนเป็นเจ้าของเข้ามาครอบงำประเทศอีกแล้ว หาก กกต. แก้ไขปัญหาให้พรรคการเมืองไม่เป็นพรรคของนายทุนได้ เช่น คุมการใช้จ่ายเงินของพรรคว่าเงินนั้นต้องได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ใช้เงินผิดต้องยุบพรรค ยุบแล้วเปลี่ยนชื่อตั้งพรรคอีกไมได้ ไม่ให้นักโทษหนีคดีไปต่างประเทศมาบงการพรรคการเมืองในประเทศได้ จนทำให้ฆาตกร คนชั่วร้าย เจ้าของอาบอบนวดก็เข้าไปเป็น ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อได้ ประชาชนจึงจะยอมไปเลือกตั้ง
“ผมอาจเห็นต่างจากอาจารย์สมชัย ว่า ถ้าจะต้องเสียเวลามาก แต่ทำให้กระบวนการได้มาตรฐาน ผมว่ามันคุ้มค่า ไม่ใช่แค่ทำตามหน้าที่ให้ได้ ทั้งที่รู้ว่าผลจะออกมาแย่ ผมว่าไม่ทำดีกว่า ผมเห็นด้วยว่าเปลี่ยนแปลงยาก แต่ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงเราและคนรุ่นลูกหลานเราก็จะอยู่กันลำบาก” นายสุเทพ กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องชั่งน้ำหนักคือ แนวทางที่ 1 มีการเลือกตั้งใน 3 เดือนข้างหน้า ภายใต้หลักประกันพอสมควร และมีเงื่อนไขผูกพันว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะต้องทำอะไรต่อ หรือแนวทางที่สอง ต้องมีรัฐบาลตัวจริง มาจากไหนไม่รู้ อยู่ไป 1-2 ปี ค่อยแก้ปัญหา หลังจากนั้นค่อยให้ประชาชนเลือกอีกที ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าแนวทางไหนที่จะประสบความสำเร็จ การที่ กปปส. สู้ต่อไปเรื่อยๆ อาจได้รัฐบาลตามที่ต้องการ แต่ยังมีการสู้ต่อในสังคมไทยต่อไปๆ อีกฝ่ายก็ระดมมวลชนเข้ามาต่อสู้ 2 ปี ก็ไม่มีทางสงบ รัฐบาลใหม่ก็ต้องหนีรายวัน ไม่มีเวลาแก้ปัญหาได้ เหมือนกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กปปส. จึงต้องคิดว่า อะไรเป็นแนวทางที่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ
นายสุเทพ กล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่ต้องปฏิรูปต้นน้ำ คือ พรรคการเมือง เมื่อพรรคชั่วก็ส่งคนชั่วลงเลือกตั้ง ประชาชนก็ไม่มีโอกาสเลือกคนดี แก้เล็กแก้น้อยไม่มีปัญหา แต่แก้แล้วได้คนดีหรือไม่ ถ้าต้องรอ 10 ปีประเทศจะเสียอะไรก็ไม่เท่า 2-3 ปี ที่ผ่านมา เขาโกงจนเสียหายไปถึงลูกหลาน ถ้ากลัวคนจะประท้วงไม่สงบ ก็ประท้วงแบบพวกตนสิ จะไปเสียหายอะไร
“พวกผมยังนั่งลุ้นว่าพรุ่งนี้วุฒิสภาจะกล้าตัดสินใจรับภาระหานายกฯ คนใหม่ให้ประเทศหรือไม่ ถ้าได้อย่างนั้นก็โชคดี ได้แล้วจะอยู่ทำงานนานแค่ไหน พวกผมไม่เข้าไปแทรกแซง เพราะเขาเป็นสภาบันนิติบัญญัติ สิ่งนี้พวกผมรับได้ แต่หากหากพรุ่งนี้ค่ำๆ ประธานวุฒิสภาบอกว่าทำไม่ได้ ก็เป็นกรรมของพวกผมที่ต้องทำเอง ต้องทำต่อ นัดประชาชนรวมพลทั้งประเทศ ถึงเวลาทวงคืออธิปไตย เพราะต้องทำให้ถึงที่สุด มีสองอย่างคือทำสำเร็จก็ได้ประเทศที่ดี ถ้าไม่สำเร็จคือพวกผมก็ไปเข้าคุก เพราะวันนี้ถือว่าประชาชนสู้กับศัตรูของประเทศอยู่” นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ ยังกล่าวว่า ขอให้ กกต. ทำการบ้านไว้สำหรับการต้องแก้กฎหมายเพื่อปฏิรูปการเลือกตั้ง เพราะหากสถานการณ์เดินหน้าเลือกตั้งไม่ได้ วุฒิสภาก็น่าจะทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ภายใต้แนวคิดในภาวะที่ไม่ปกติ ที่ต้องใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ได้
“การเลือกตั้งแบบที่ กกต. คิดอาจต้องใช้เวลาถึง 10 เดือน 11 เดือน ซึ่งประเทศชาติก็เสียหาย เพราะคน 15-20 จังหวัดอย่างน้อยก็ยังไม่พร้อมที่จะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง และไม่คิดว่า กกต. จะทำยังไงให้เลือกตั้งสำเร็จได้ ผมอยู่ในสนามเลือกตั้งมานาน ถ้าประชาชนไม่เอาด้วยการเลือกตั้งก็ไม่มีทางเดินหน้าได้ ผมเชื่อว่าอย่างน้อย 5 เดือน 6 เดือน จัดไม่ได้” นายสุเทพ กล่าว
นายแซมดิน เลิศบุศย์ แกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) กล่าวว่า ถึง กกต. จะไปหารือฝ่ายรัฐบาล แต่ขอบอกว่าจะสูญเงินงบประมาณเปล่าๆ โอกาสที่จะได้ ส.ส. ครบ 95% เรียกว่าไม่มีเลย หากประชาชนไม่เอาด้วย ขอให้ช่วยทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงก่อน
ภายหลังการหารือ นายสมชัย แถลงว่า ในการหารือระหว่าง กกต. กับรัฐบาลช่วงเช้า ว่า รัฐบาลมีท่าทีคล้อยตามกับข้อเสนอที่ กกต. จะขอเพิ่มข้อความว่า หากเกิดเหตุสุดวิสัยให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ. เลื่อนวันเลือกตั้งตามที่ กกต. ร้องขอไว้ใน พ.ร.ฎ. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ได้ แต่ในส่วนของผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ. หรือไม่ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งคงต้องมีการนัดหมายกับรัฐบาลกันใหม่ในสัปดาห์หน้า โดย กกต. กำลังรอรัฐบาลนัดหมายอยู่ ซึ่งก็จะมีผลให้กำหนดที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. ไม่น่าจะเป็นไปได้แล้ว เพราะระยะเวลาที่เหลือนับจากนี้จนถึงวันที่ 22 พ.ค. ที่จะต้องให้ พ.ร.ฎ. มีผลบังคับใช้นั้น เหลืออยู่แค่ 7 วัน แต่ กกต. กับรัฐบาลยังไม่มีการคุย และยังไม่มีการทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ. ส่วนวันเลือกตั้งใหม่ ยังไม่สามารถประมาณการได้ ต้องรอการหารือร่วมระหว่าง กกต. กับรัฐบาลก่อน
ส่วนการหารือกับนายสุเทพ กกต. พยายามเสนอแนวทางแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วต่างคนก็ต้องต่างทำหน้าที่ ส่วนจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ขึ้นกับการคุยกับรัฐบาลก่อน