วุฒิสภาเชิญ หน.ส่วนราชการและตัวแทนเหล่าทัพร่วมหารือหาทางออกประเทศ เสธ.เหล่าทัพร่วมวงพรึ่บ ต่อจากนั้นถกกับภาคประชาสังคมและสื่อ ชมรม ส.ส.ร.50 ออกแถลงการณ์ต้องมีรัฐบาลบริหารประเทศ เห็นสมควรใช้มาตรา 3 ให้อำนาจวุฒิฯ ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายกฯ ได้ ตามประเพณีการปกครอง
วันนี้ (15 พ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.30 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา เชิญหัวหน้าส่วนราชการ และตัวแทนเหล่าทัพ จำนวน 25 หน่วยงานร่วมหารือหาทางออกประเทศ โดยมีตัวแทนจาก 17 หน่วยงานเข้าร่วมหารือ อาทิ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.อักษา เกิดผล เสนาธิการทหารบก พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ เสนาธิการทหารเรือ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง เสนาธิการทหารอากาศ โดย พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะทำงานประชาสัมพันธ์ และคณะกรรมการด้านประสานงานองค์กร กล่าวเริ่มต้นการประชุมว่า สิ่งที่ ส.ว. ดำเนินการอยู่ขณะนี้ไม่มีธงตั้งนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 ทุกอย่างอาจไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ขณะนี้กำลังหาคนกลางที่ดีที่สุด อาจไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 7 เพียงแต่ใช้การเทียบเคียงกฎหมายที่ใกล้เคียงมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ยืนยันว่า ส.ว. จะไม่ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น จากนั้นที่ประชุมเชิญสื่อมวลชนออกนอกห้องประชุม เพื่อทำการประชุมลับ
จากนั้นเวลา 16.00 น. นายสุรชัย ได้เป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน เพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตการเมือง โดยมีองค์กรที่เข้าร่วมประชุมกับวุฒิสภา ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เครือข่ายสมัชชาเพื่อการปฎิรูปประเทศไทย ชมรมอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2550 เครือข่ายสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน เครือข่ายกองทุนการออมแห่งชาติ กลุ่มเครือข่ายพี่น้องมหิดล ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันแห่งชาติ
ทั้งนี้ ชมรม ส.ส.ร. 2550 ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ข้อเสนอต่อวุฒิสภาในการแก้ไขวิกฤตชาติ หาทางออกของประเทศ โดยมีสาระสำคัญว่า ขอยืนยันว่าประเทศไทยต้องมีรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ เพราะประเทศจะว่างเว้นไม่มีรัฐบาลมาบริหารประเทศไม่ได้ ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีรัฐบาล โดยเหตุที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แม้คณะรัฐมนตรีรักษาการจะมอบหมายให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่แทนนายกฯ แต่ไม่สามารถทูลเกล้าฯถวายร่างพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการได้
“รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย บัดนี้ได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว คงเหลือเพียงวุฒิสภาที่จะปฏิบัติหน้าที่ทางนิติบัญญัติ ในสถานการณ์เช่นนี้สมควรที่สถาบันนิติบัญญัติ โดยให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา ในนามรัฐสภา สามารถทูลเกล้าฯ เสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อองค์พระประมุข และรับสนองพระบรมราชโองการให้นายกรัฐมนตรีตามที่วุฒิสภาได้เสนอ แต่เนื่องจากขณะนี้อยู่ในสภาวะยุบสภา ไม่มี ส.ส. ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ จึงจำเป็นต้องเสนอบุคคลที่เหมาะสมที่สุดขึ้นมาทำหน้าที่นายกฯ ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในช่วงก่อนปี 2535 ไม่เคยกำหนดว่านายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น” แถลงการณ์ ชมรม ส.ส.ร. 2550 ระบุ