รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ ชี้การสรรหานายกฯ ขัดรัฐธรรมนูญ หวั่นการอ้างมาตรา 7 เกิดความสับสน โวย “กปปส.-ปชป.” ร่วมองค์กรอิสระแบ่งบทบาทเกิดสุญญากาศทางการเมือง พยายามดึงกองทัพเข้าร่วม เตือนอย่าไปร่วมมือ “สุเทพ” ขู่เสื้อแดงจำนวนมากคัดค้านทั้งประเทศ
วันนี้ (11 พ.ค.) เฟซบุ๊กของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ ได้ระบุบทความถึงสถานการณ์การเมืองในหัวข้อ “จะพาประเทศไปไหน?” ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ตอน ระบุว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ร่วมทั้งทำให้รัฐมนตรีร่วมคณะ 9 คน ต้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัวลงไปด้วยนั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีสภาพสุญญากาศทางการเมือง ไม่เกิดเงื่อนไขที่จะทำให้ต้องมีการสรรหานายกฯ คนใหม่ เนื่องจากยังมีรัฐมนตรีอีก 25 คนรักษาการต่อไปได้ และในการที่ยังมีรัฐมนตรีที่เหลือรักษาการต่อไปนี้ ก็สามารถให้รองนายกรัฐมนตรี รักษาการการแทนนายกรัฐมนตรี คือเป็นทั้งรักษาการแทน และเป็นผู้อยู่ในตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ หรือจะใช้คำว่า เป็นทั้งรักษาราชการแทน เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้
“ขณะนี้ไม่ใช่เพียงแต่ว่า ไม่มีความจำเป็นต้องสรรหานายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่การสรรหานายกรัฐมนตรีขึ้นมาในช่วงนี้ ยังเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า เมื่อนายกรัฐมนตรียุบสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง และคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้นยังต้องดำรงตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าเมื่อยุบสภาแล้ว ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างนี้ จึงไม่อาจมีการสรรหานายกรัฐมนตรีขึ้นมาในช่วงนี้อีกได้ ถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรี จะถูกวินิจฉัยให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ก็สามารถให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนได้” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ส่วนการจะอ้างมาตรา 7 นั้น ก็เป็นการจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จงใจที่จะทำให้เกิดความสับสน รัฐธรรมนูญมาตรา 7 มีไว้สำหรับกรณีที่เกิดเหตุการณ์หรือเกิดกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าให้ทำอย่างไร แต่ในกรณีเหตุการณ์ในปัจจุบันทุกเรื่องมีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญไว้แล้วอย่างชัดเจน คือ เมื่อยุบสภา ก็ต้องมีการเลือกตั้งในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อยุบสภา คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง แต่ยังต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะมาจากไหน ก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง คือ จะต้องมีนายกรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.และได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร จะไปตีความว่า ขณะนี้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ไม่มีนายกรัฐมนตรี เมื่อไม่มีนายกรัฐมนตรีแล้วจะต้องสรรหานายกรัฐมนตรีมา ปกติจะต้องให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือก แต่เมื่อไม่สภาผู้แทนราษฎรแล้วให้วุฒิสภาไปสรรหาใครก็ไม่รู้มาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องที่โมเมเอาอย่างชัดเจน ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะทำให้เกิดสภาพสุญญากาศทางการเมืองขึ้น โดยความร่วมมือกันของนายสุเทพ กับพวก กปปส. กับพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมมือกับองค์อิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ มีนักวิชาการบางส่วน สื่อมวลชนบางส่วนคอยสนับสนุน นอกจากนั้น กลุ่มเหล่านี้ก็พยายามที่จะดึงเอาผู้นำกองทัพให้เข้าร่วมด้วย แต่จนถึงขณะนี้ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มองค์กรใดกลุ่มองค์กรหนึ่งที่จะสามารถทำให้เกิดสภาพสุญญากาศทางการเมือง หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองตามที่พวกเขาต้องการได้ตามลำพัง และถึงแม้จะใช้วิธีแบ่งบทกันเล่น ผสมผสานกันแล้วก็ตาม ล่าสุด จากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองได้ ยังไม่เกิดสภาพ และเงื่อนไขให้สามารถอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้
จนถึงขณะนี้การทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เกิดความพยายามทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ความพยายามล้มรัฐบาล และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง อย่างที่ชนชั้นนำ และอำมาตย์ต้องการนั้น อาจจะพูดได้ว่า มีการแบ่งบทบาท และเฉลี่ยๆ กันไป ไม่มีกลุ่มองค์กรใดองค์กรหนึ่งสามารถจะทำให้เกิดสภาพที่ต้องการได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยกลุ่ม หรือองค์กรเพียงองค์กรเดียว มาถึงตอนนี้ มาถึงคิวของวุฒิสภา ซึ่งผู้ที่กระตือรือร้นเป็นพิเศษ ได้แก่ ประธานวุฒิสภาคนใหม่ กับกลุ่ม 40 ส.ว. ที่มีจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจน ไม่ปิดบังอำพรางมาตลอดว่าต้องการล้มรัฐบาลปัจจุบัน สร้างสภาพสุญญากาศทางการเมือง และเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง
“สุเทพกับพวกก็คงจะรู้ว่า สิ่งที่วุฒิสภาจะทำนั้น เป็นการขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน การอ้างมาตรา 7 นั้นฟังไม่ขึ้น จึงเรียกร้ององค์กรต่างๆ ที่ว่า “...ขอเรียกร้องผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ท่านต้องรีบปรึกษากัน...” แต่การไปลากดึงเอาองค์กรอิสระ และศาลต่างๆ เข้ามาร่วมหารือกัน เพื่อหาทางที่จะทำให้เกิดข้ออ้างในการใช้มาตรา 7 และนำไปสู่การสรรหานายกรัฐมนตรีนอกรัฐธรรมนูญนั้น รังแต่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรอิสระ และศาลต่างๆ เนื่องจากจะทำให้คนเห็นอย่างชัดเจนถึงการสมรู้ร่วมคิดกันในการกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเกิดเป็นความเสียหาย เนื่องจากการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย และเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองไปสู่ระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันเตือนองค์กรอิสระ และศาลต่างๆ ว่า อย่าไปร่วมมือกับนายสุเทพ เลย เพราะการร่วมมือกับนายสุเทพ มีแต่จะทำให้ความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระและระบบยุติธรรมยิ่งตกต่ำลงไปอีก” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การให้วุฒิสภาสรรหานายกรัฐมนตรีนอกรัฐธรรมนูญ และหากมีการนำไปทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เท่ากับเป็นการโยนภาระไปให้พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง การกระทำอย่างนั้นเท่ากับเป็นการดึงเอาสถาบันเบื้องสูงให้มาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนอยู่แล้ว สำหรับการที่นายสุเทพ จะหารือกับผู้นำกองทัพทั้งหลายนั้น อยากเตือนผู้นำกองทัพทั้งหลายว่า ที่ผ่านมา ถึงแม้ผู้นำกองทัพบางคนจะวางตัวไม่ค่อยเป็นกลางนัก แทนที่จะช่วยรัฐบาลรักษากฎหมายก็ไม่ช่วย บางครั้งก็ไปคุ้มครองผู้ชุมนุมที่กำลังถูกตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏ แต่ก็ต้องถือว่าผู้นำกองทัพยังประคับประคองบทบาทของตนไว้ได้พอสมควร ไม่ให้ถลำลึกจนเกินไป ในครั้งนี้ผู้นำกองทัพจึงควรระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ไปตกหลุม ถลำลึกเข้าไปร่วมมือกับนายสุเทพ ในการล้มล้างรัฐบาล และสร้างระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะถ้าหากผู้นำกองทัพเข้าไปร่วมมือกับนายสุเทพ อย่างเต็มตัวแล้ว สิ่งที่ผู้นำกองทัพพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด คือ รัฐประหารและการปราบ การฆ่าประชาชน ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงต่อไปได้
เพราะนับตั้งแต่มีการสรรหานายกรัฐมนตรีนอกรัฐธรรมนูญเป็นต้นไป จนกระทั่งมีการตั้งคณะรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลนอกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น และมีการบริหารประเทศโดยรัฐบาลนอกรัฐธรรมนูญ ก็จะมีผู้รักประชาธิปไตยจำนวนมากออกมาคัดค้านกันทั่วประเทศตั้งแต่ต้น ผู้นำกองกองทัพก็จะตกอยู่ในสภาพที่เหตุการณ์บังคับ หรือไม่ก็ถูกชนชั้นนำ และอำมาตย์บังคับให้ต้องปราบต้องฆ่าประชาชน และในที่สุดก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการรัฐประหารได้ แต่หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ การนองเลือด และความสูญเสียที่ไม่มีวันสิ้นสุด ในเมื่อกองทัพประคับประคองตนเองมาจนถึงวันนี้ โดยไม่ต้องปราบไม่ต้องฆ่าประชาชน และยังไม่ต้องทำรัฐประหาร ก็ไม่ควรไปหลงกล ตกหลุมนายสุเทพ กับพวก และพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะผู้นำกองทัพที่ใกล้จะเกษียณอายุราชการแล้ว ต้องนึกกันให้ดีว่า ถ้าเร็วๆ นี้ทำรัฐประหารในขณะที่ยังมีอำนาจอยู่ แต่การต่อสู้และความรุนแรง และความสูญเสียจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเลยเวลาที่ทั้งหลายเกษียณอายุราชการ กลายเป็นคนธรรมดาไม่มีอำนาจ
“ท่านทั้งหลายจะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งของประชาชน ที่ต่อต้านกันทั่วประเทศได้อย่างไร ท่านทั้งหลายจะต้องอยู่ในสภาพที่ลำบาก จะไปไหนมาไหนก็ไม่สะดวก เรียกได้ว่าเดินตลาดไม่ได้ ต้องอับอายผู้คน และยังต้องตกอยู่ในอันตรายด้วย สิ่งที่เป็นความก้าวหน้า และทำให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ก็คือ พลังประชาธิปไตยที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นี้ โดยเฉพาะกลุ่ม นปช.และคนเสื้อแดงนั้น มีความเข้าใจอย่างดีว่า จะไม่สร้างเงื่อนไขยั่วยุให้เกิดความรุนแรง หรือจะต้องหลีกเลี่ยงการปะทะกับฝ่าย กปปส.อย่างสุดความสามารถ ก็ทำให้สบายใจได้ว่า กลุ่ม นปช.และคนเสื้อแดงจะไม่เป็นฝ่ายสร้างเงื่อนไขให้เกิดข้ออ้างในการรัฐประหารเกิดขึ้นเสียเอง” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า สำหรับการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่ม นปช.และคนเสื้อแดงนั้น ผมคิดว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มีความหมายอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะในขณะนี้การแสดงพลังของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ที่มีการสนับสนุนจากนักวิชาการ อดีตข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบ้าง เป็นสิ่งที่จะทำให้ชนชั้นนำ อำมาตย์ และผู้นำกองทัพจะต้องนำไปคิดให้ดีว่า ยังจะดันทุรังเดินหน้ากันต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำกองทัพต้องคิดหนักที่สุด เพราะผู้ที่จะต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มพลังประชาธิปไตยด้วยตนเอง ผู้นำกองทัพจะต้องตัดสินว่า พลังประชาธิปไตยที่มีในวันนี้ ซึ่งถึงวันที่มีนายกฯ คนนอก พลังเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าอย่างรวดเร็ว ผู้นำกองทัพ พร้อมที่จะปราบ พร้อมที่จะฆ่าพวกเขาหรือไม่