xs
xsm
sm
md
lg

“ธาริต” แส่แถลงด่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ยุติธรรม แนะหัดเคารพรัฐบาล กุข่าวมีไอ้โม่งทำสุญญากาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธาริต เพ็งดิษฐ์ (แฟ้มภาพ)
ศอ.รส. แส่ทุกเรื่อง “ธาริต” แถลงด่าศาลรัฐธรรมนูญล่วงหน้า ก่อนชี้ขาดคดี “ปู” โยก “ถวิล” มิชอบ อ้างทำคำวินิจฉัยแบบกำหนดขึ้นเอง ตีโพยตีพายไม่ยุติธรรม อ้างคดีสมัครพ้นนายกฯ ครม. คนอื่นยังอยู่ได้ กุข่าวมีคนบางกลุ่มทำให้เกิดสุญญากาศ เหน็บ “บวรศักดิ์” พูดถึงเขตอำนาจศาลกลับกลอก ลั่น นปช. ไม่ยอมรับ เกิดการเผชิญหน้าแน่ หยัน “อภิสิทธิ์” ทำโรดแมปโน้มน้าวให้ตั้งนายกฯ คนนอก ร้องศาลหัดเคารพรัฐบาล และหยุดหนุนแนวทาง

วันนี้ (6 พ.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เมื่อเวลา 15.45 น. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) อ่านแถลงการณ์ ศอ.รส. ฉบับที่ 3 ผ่านสื่อโทรทัศน์ เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และกลุ่มผู้สนับสนุน กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย โดยมีใจความว่า ศอ.รส. เป็นหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดย ศอ.รส. มีภารกิจสำคัญในการสนธิกำลัง ทั้งข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่างๆ เพื่ออำนวยการและปฏิบัติการให้เกิดความเรียบร้อยในทุกๆ มิติ ทั้งในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และสังคมในภาพรวม แต่ ศอ.รส. ยังคงมีข้อห่วงใย และข้อวิตกกังวลต่อการวินิจฉัยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่มีการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยไม่อาจบรรลุผล ดังนี้

ประการที่ 1 ในการใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ยังคงใช้วิธีพิจารณาและทำคำวินิจฉัยตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดขึ้นเอง ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และต้องตราพระราชบัญญัติดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 216 ประกอบกับมาตรา 300 ซึ่งนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2550 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 7 ปีแล้ว แต่ก็ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ดำเนินการผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้

ทั้งนี้ การกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในรูปของกฎหมายก็เพื่อควบคุมการใช้อำนาจของศาล ทำนองเดียวกับศาลยุติธรรม และศาลปกครอง เมื่อวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ในรูปของกฎหมาย จึงทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนต่อการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นไปตามหลักนิติธรรม และถูกต้องตามหลักความยุติธรรมหรือไม่ อีกทั้งการไม่มี พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ออกโดยรัฐสภาอาจส่งผลให้การพิจารณาวินิจฉัยคดีไม่มีมาตรฐาน เพราะไม่มีกรอบแห่งการใช้อำนาจ อีกทั้งการพิจารณาคดีโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมเสียเอง

ประการที่ 2 จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สำคัญในหลายคดีที่ผ่านมา มักถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า มีปัญหาในเรื่องความยุติธรรม หลายคดีวินิจฉัยก้าวล่วงการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรอื่นโดยไม่มีอำนาจ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมในหลายๆ คดี

ประการที่ 3 กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยคำร้องขอให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบกับมาตรา 266 และมาตรา 268 โดยเห็นว่ากระทำการก้าวก่าย หรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี นั้น จากการตรวจสอบพบว่าศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยคำร้องขอให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง โดยให้เป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือจึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐานในกรณีดังกล่าวไว้ ดังนั้น เมื่อคำร้องทั้งสองกรณีมีลักษณะทำนองเดียวกัน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 266 และมาตรา 268 แล้ว ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลของคำวินิจฉัยควรเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ หรือหากผลของคำวินิจฉัยแตกต่างกัน ก็จะทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ขาดมาตรฐาน และความน่าเชื่อถือตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประการที่ 4 ศอ.รส. ได้รับทราบข้อมูลด้านการข่าวว่า มีความพยายามของกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนแนวทางที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เรียกร้องให้การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีร้องขอให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แล้ววินิจฉัยให้เกินเลยไปที่จากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ถึงขั้นยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น มาตรา 181 เพราะจากข้อมูลที่ตรวจพบปรากฏว่า เรื่องการยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรานั้น เคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในปี 2476 ในครั้งนั้นได้กระทำด้วยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเกินเลยไปถึงการยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และไม่สามารถกระทำได้

ประการที่ 5 จากการที่มีนักวิชาการ คือ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้กล่าวอภิปรายในโครงการสัมมนาทางวิชาการในวาระครบรอบ 16 ปีศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัด เรื่อง การปฏิรูปการเมืองภายใต้หลักนิติธรรม มีข้อความตอนหนึ่งว่า “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายผูกพันทุกองค์กร ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ได้บัญญัติไว้ แสดงให้เห็นว่า การยกสถานะศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เท่าเทียมกับรัฐสภา เพื่อพิทักษ์กฎหมาย ควบคุมกฎหมาย เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นการป้องกันเผด็จการรัฐสภา เพื่อไม่ให้องค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้นมาทำลายรัฐธรรมนูญเสียเอง”

นายธาริต กล่าวว่า คำอภิปรายดังกล่าวเห็นได้ว่า มีความมุ่งหมายที่จะแสดงความชอบธรรมว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง แม้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ และยืนกรานให้องค์กรอื่นต้องเคารพคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปในปี 2542 นายบวรศักดิ์ กลับอธิบาย เรื่อง เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในวารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ 1 เล่มที่ 1 ว่า “หากเกิดปัญหาเรื่องเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญขึ้น ผู้ที่จะมีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญนั่นเองในทางกฎหมาย แต่ในเวลาเดียวกันในทางการเมือง องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญก็ย่อมมีอำนาจ และเอกสิทธิ์ที่จะพิจารณาการวินิจฉัยเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปในทางขยายเขตอำนาจของตนจนทำลายเขตอำนาจของศาลอื่นหรือองค์กรอื่น องค์กรเหล่านั้นก็ย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิและอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้การใช้อำนาจมีการดุลคานกันศาลแต่ละศาลเป็นใหญ่ในเขตอำนาจของตนไม่ได้ขึ้นต่อกัน . . . ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีอันอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้วนั้นจึงจะผูกพันศาลอื่น แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัยคดีซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ความผูกพันต่อศาลอื่นก็ไม่มี”

นายธาริต กล่าวว่า เห็นได้ว่าคำกล่าวของนายบวรศักดิ์ เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันเอง และเห็นได้ชัดว่า นายบวรศักดิ์ มีแนวคิด และความมุ่งหมายเป็นการแสดงความรับรู้การใช้อำนาจตามอำเภอใจของศาลรัฐธรรมนูญ และบังคับให้องค์กรอื่นที่มีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ต้องยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการยกสถานะของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันให้อยู่เหนือองค์กรอื่นโดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร เป็นการสถาปนาอำนาจตุลาการโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทั้งที่ฝ่ายตุลาการเป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตยเท่านั้น ในขณะที่ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งของประชาชน การที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะจะไม่มีองค์กรใดสามารถตรวจสอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ เป็นการปูทางสู่คำวินิจฉัยที่จะสร้างสุญญากาศทางการเมืองตามที่กลุ่ม กปปส. และกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มต้องการเพื่อนำไปสู่การทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งมีการอ้างมาตรา 3 และมาตรา 7 ในขณะที่กลุ่ม นปช. และกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มก็จะไม่ยอมรับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เกินจากรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ซึ่งขณะนี้ก็ได้ปรากฏเป็นข้อมูล และข้อเท็จจริงของการเผชิญหน้า และการท้าทายที่จะจัดการชุมนุมใหญ่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย และจะนำไปสู่การปะทะกัน และก่อเหตุร้ายต่อกันและกันแล้ว

ประการที่ 6 จากการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำข้อเสนอโดยอ้างว่าเป็นทางออกประเทศไทย พร้อมกับอวดอ้างว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดกับสถานกาณ์ขณะนี้ แต่กลับเสนอวิธีดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายรองรับ โดยเฉพาะเป็นข้อเสนอที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีลาออกโดยไม่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 181กำหนดให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่นายอภิสิทธิ์ ก็เสนอให้ลาออกโดยไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อให้เกิดสุญญากาศ โดยที่ นายอภิสิทธิ์ เลี่ยงไปใช้คำว่าถอยออกจากอำนาจแล้วให้วุฒิสภาสรรหานายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี และทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยอ้างว่านายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะอยู่ในตำแหน่งเพียงชั่วคราว ซึ่งข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ไม่มีกฎหมายใดให้กระทำได้ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญนายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และดำเนินการเสนอแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฏรเท่านั้น

“ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ แท้จริงแล้วเป็นข้อเสนอเพื่อปูทางหรือสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิพากษางดใช้มาตรา 181 หรือพิพากษาให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี พ้นไปโดยถือว่าเป็นกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา181 นายอภิสิทธิ์ ย่อมรู้ดีว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และยังขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ด้วย ดังนั้น ความมุ่งหมายอันแท้จริงของนายอภิสิทธิ์ จึงมีอย่างเดียวคือโน้มน้าวชักจูงให้ประชาชนหลงเชื่อโดยเข้าใจผิดว่าสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะพิจารณาพิพากษาให้เกิดสุญญากาศนั้น เป็นความเหมาะสมที่พึงกระทำได้ ดังนั้นข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ที่เรียกว่าทางออกของประเทศไทย แท้จริงแล้วก็คือหนึ่งในกระบวนการที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองแล้วแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีคนนอก ที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และประการสำคัญเป็นการกระทำฝ่าฝืนหรือกระทำการนอกรัฐธรรมนูญนั่นเอง” นายธาริต กล่าว

นายธาริต กล่าวต่อว่า ศอ.รส. จึงขอเรียกร้องศาลรัฐธรรมนูญด้วยความเคารพต่อองค์กร และเห็นถึงความสำคัญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณา และวินิจฉัยคดีอย่างตรงไปตรงมา เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยยึดถือจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ และคำถวายสัตย์ปฏิญาณที่ไห้ไว้ต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ และขอให้กลุ่มบุคคลอันได้แก่นักวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ ที่สนับสนุนแนวทางที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ยุติบทบาทการแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน ทั้งนี้ ศอ.รส. ขอยืนยันว่ามิได้มีเจตนาที่จะก้าวล่วงหรือกดดันการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่ขณะนี้มีกลุ่มมวลชนจำนวนมากทั้งสองฝ่ายกำลังรอคอยผลการพิจารณาพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ หากคำพิพากษาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาแล้ว ย่อมจะเกิดความไม่พอใจขยายตัวในวงกว้าง และเกิดการใช้กำลังเข้าปะทะกัน การดำเนินการของ ศอ.รส. โดยแถลงการณ์ที่มีข้อเรียกร้องในครั้งนี้จึงเป็นการป้องกัน ระงับ ยับยั้งและแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตามภารกิจและอำนาจหน้าที่อันเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจจะละเลยเสียได้ ทั้งนี้ แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นความเห็นและดำเนินการของ ศอ.รส. โดยไม่ได้ขอให้ฝ่ายทหารร่วมมีความเห็น และดำเนินการด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น