กกต.แจงศาลยัน ลต.ปฏิบัติทุกอย่างตามกฎหมาย ชี้กระบวนการยื่นคำร้องผู้ตรวจฯไม่ชอบ จี้ศาลยกคำร้อง โบ้ยจัดการเลือกตั้งไม่เรียบร้อย เกิดจากชุมนุมขัดขวาง กกต.ไม่ได้ทำขัดกฎหมาย วันเลือกตั้ง 2 วัน ยังไม่ขัด รธน.มาตรา 108 ขณะที่กระบวนการเปิดรับสมัคร ส.ส.ทำกับทุกพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียม
รายงานข่าวแจ้งว่าในวันที่ 19 มี.ค. เวลา 09.30 น.ที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์รับฟังคำชี้แจงของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการการเลือกตั้ง และนายกรัฐมนตรีหรือผู้แทน 3 หน่วยงานดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 245(1) ว่าการจัดการเลืออกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในส่วนของ กกต.จะมีนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.เป็นหัวหน้าคณะในการชี้แจงร่วมกับเลขาธิการ กกต.และเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมาย
ขณะที่ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดิน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้รับมอบจากประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน จะเดินทางไปพร้อมกับนายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย เช่นเดียวกัน ส่วนรัฐบาลนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม และนายชูเกียรติ รัตนชาญชัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าชี้แจง โดยหลังจากเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยก็แจ้งไปยังทั้ง 3 หน่วยงานให้ยื่นคำชี้แจงต่อศาลภายในวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 หน่วยงานได้ยื่นคำชี้แจงเรียบร้อยแล้ว
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในส่วนของ กกต.ในฐานะผู้ถูกร้องว่าดำเนินการจัดการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ก็ได้ยื่นคำชี้แจงและเตรียมที่ชี้แจงต่อศาลตามประเด็นที่มีการร้องทั้ง 5 ประเด็น โดยมั่นใจว่าคำชี้แจงจะสามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้ ซึ่งในคำชี้แจงที่ กกต.ยื่นต่อศาลฯนั้น กกต.ต่อสู้ตั้งแต่ในส่วนของกระบวนการยื่นคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 244 กำหนดว่าเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องมีการแจ้งให้องค์กรที่ถูกร้องเรียนได้ชี้แจงแสดงหลักฐานก่อน แต่กรณีนี้ไม่พบว่ามีการขอให้ กกต.ชี้แจงแต่อย่างใด กลับมีการยื่นเรื่องพร้อมความเห็นต่อรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าการดำเนินการของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ชอบศาลฯจึงควรยกคำร้อง
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าการไม่สามารถเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ทั้ง 375 เขตเลือกตั้ง ได้ภายในวันที่ 2 ก.พ.และมี 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครที่ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 เม.ย.ทำให้มีวันเลือกตั้ง 2 วัน ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 108 นั้น กกต.ชี้แจงให้ศาลเห็นว่าปัญหาการจัดการเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อยไม่ได้เกิดจาก กกต.แต่เกิดจากปัจจัยภายนอก มีการชุมนุมประท้วงคัดค้านการเลือกตั้งเรื่อยมา ตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัครจนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาตรา 78 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต ประกาศงดการลงคะแนนในกรณีที่เห็นว่ามีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ จึงทำให้มีกว่าหมื่นหน่วยเลือกตั้งที่ กกต.ต้องประกาศงดการลงคะแนน และเมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งในแต่ละพื้นที่สงบลง กกต.จึงจะจัดให้มีการลงคะแนนใหม่ ซึ่งสถานการณ์ความขัดแย้งของแต่ละพื้นที่ต่างสงบลงไม่พร้อมกัน ทำให้ กกต.ไม่สามารถจัดลงคะแนนเลือกตั้งทั้งหมื่นหน่วยพร้อมกันได้ กกต.จึงต้องดำเนินการจัดเลือกตั้งในเขตที่มีความพร้อมก่อน โดยหลักการนี้ได้ใช้ปฏิบัติต่อเนื่องมานับตั้งแต่มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งหากมีการวินิจฉัยว่ากรณีดังกล่าวทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้ต่อไปอาจมีคนที่คิดว่าตัวเองจะแพ้การเลือกตั้ง ก็จะใช้วิธีการนี้ไปขัดขวางการเลือกตั้งเพียง 1 หรือ 2 หน่วย เพื่อให้การเลือกตั้งถูกฟ้องเป็นโมฆะ
ในขณะที่ 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร ซึ่งผู้ร้องระบุว่า กกต.จะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 เม.ย.นั้น กกต.ชี้ให้ศาลเห็นว่ายังเป็นเพียงแนวความคิดไม่ถือว่า กกต.มีการเตรียมการ เพราะกกต.ยังไม่ได้ออกประกาศหรือระเบียบที่ชัดเจนในการกำหนดวันเลือกตั้งดังกล่าว รวมทั้งการที่ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขต จะออกเป็น พ.ร.ฎ.หรือออกเป็นประกาศ กกต.ก็เป็นการบ่งชี้ว่า กกต.ยังมีข้อสงสัย และยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
สำหรับข้อกล่าวหาที่ว่า กกต.เปิดรับสมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีการสมัครในสถานที่ที่ไม่ได้ประกาศให้เป็นสถานที่รับสมัคร มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างเปิดเผยนั้น กกต. ชี้แจงต่อศาลว่าการที่กกต.ให้พรรคการเมืองที่ไม่สามารถยื่นสมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อที่อาคารคกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ในวันที่ 23 ธ.ค. 56 ได้ ซึ่งเป็นวันแรกของการรับสมัคร ให้ไปลงบันทึกไว้ที่กองปราบปรามหรือสน.ดินแดงนั้น กกต.ถือว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการคุ้มครองสิทธิ์พรรคการเมืองที่ประสงค์จะลงสมัคร กกต.ไม่ได้ถือว่าเป็นการสมัคร โดยการสมัครนั้น กกต.ได้ทำการรับสมัครพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกันในวันที่ 26 ธ.ค. 56 ซึ่งมีทุกพรรคที่ยื่นสมัครร่วมจับสลากหมายเลขประจำพรรค ส่วนการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช กกต.ได้เปลี่ยนให้ไปรับสมัครในกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน 42 นั้น เป็นอำนาจของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขต โดยตามหลักเกณฑ์การประกาศสถานที่รับสมัครกำหนดว่าผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตต้องประกาศสถานที่รับสมัครล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตก็ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว และหากมีการปกปิดสถานที่ตามที่กล่าวหา เหตุใดจึงมีการไปชุมนุมคัดค้านของกลุ่ม กปปส.บริเวณหน้าสถานที่รับสมัครแห่งใหม่
นอกจากนี้ ข้อกล่าวหาที่ว่า กกต.ได้มีการนับคะแนนเลือกตั้ง 2 ก.พ.ที่หน่วยเลือกตั้ง และมีการปิดประกาศคะแนนไว้ที่หน่วยเลือกตั้งแล้ว ทำให้ขัดต่อหลักการลงคะแนนโดยลับ ซึ่งการนับคะแนนดังกล่าวมีผลชี้นำการลงคะแนนเลือกตั้งทดแทนในเขตที่เสียไป กกต.ก็จะชี้ให้ศาลเห็นว่า การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นๆทราบผลคะแนนก่อนไม่ถือว่ามีส่วนชี้นำการลงคะแนนเลือกตั้งรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยในอดีตที่ผ่านมานับแต่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงปัจจุบัน มีหลายครั้งที่ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งผลการเลือกตั้งในรอบหลังก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งแรก จะต้องได้รับการเลือกตั้งเสมอไป ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าบัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตเลือกตั้ง รวมทั้งบัตรลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่ยังไม่มีการนับคะแนนถือว่าเป็นบัตรเสียเพราะ ตามมาตรา 102 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.กำหนดว่าบัตรเลือกตั้งดังกล่าวจะต้องส่งมาถึงสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งก่อนการเริ่มรับคะแนนในเวลา 15.00 น.หากมาถึงทีหลังให้ถือเป็นบัตรเสีย ซึ่งกรณีนี้กกต.ยังไม่ได้นำบัตรดังกล่าวมาเปิดนับหรือนำไปรวมกับบัตรเลือกตั้งที่มีการนับในวันที่ 2 ก.พ. ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บัตรเลือกตั้งดังกล่าวเป็นบัตรเสีย ก็ไม่กระทบกับผลคะแนนที่มีการนับในวันที่ 2 ก.พ.
ขณะที่มีการกล่าวหาว่า กกต.ปล่อยปละละเลยให้นายกรัฐมนตรีออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ให้นายกฯซึ่งมีฐานะเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชี่อ อันดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ออกประกาศ พ.ร.ก.ดังกล่าวในพื้นที่ กทม.และจังหวัดใกล้เคียง ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งนั้น กกต.ได้ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ตามหลักอำนาจอธิปไตยสามหลัก ที่รัฐธรรมนูญแบ่งแยกไว้อย่างชัดเจน ซึ่งไม่มีกฎหมายให้อำนาจ กกต.ไปยับยั้งการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวได้ โดยศาลแพ่งก็ได้มีคำสั่งยกคำร้องกรณีที่ขอให้มึการเพิกถอนการใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยประเด็นทั้งหมด กกต.ยืนยันว่า การดำเนินการจัดการเลือกตั้ง กกต.ยึดหลักที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบแต่อย่างใด