xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย”ออกอาการ ผวาเลือกตั้ง “โมฆะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ไทม์ไลน์การเมืองในรอบสิบกว่าวันนี้ไปจนถึงปลายเดือนมีนาคม สมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้ลำดับเวลาปฏิทินการเมืองตั้งแต่ช่วง 19 มี.ค. ไปจนถึงปลายเดือนแบบเข้าใจง่าย และน่าสนใจ
ไทม์ไลน์การเมืองของสมชัย ที่โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก เมื่อสองวันที่ผ่านมาได้ไล่เรียงปฏิทินการเมือไว้ดังนี้ พุธที่ 19 มีนาคม ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน จะไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นการเลือกตั้งที่ยังไม่แล้วเสร็จ
โดยมีประเด็นวินิจฉัยคือ เลือกตั้ง 28 เขต เดินหน้าต่ออย่างไร และ เลือกตั้งรวมจะเป็นโมฆะหรือไม่ โดยสมชัย คาดการว่า วันศุกร์ที่ 21 มีนาคม อาจมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคำร้องนี้ออกมา หรือ อาจตัดสินตั้งแต่บ่าย วันที่ 19 มีนาคม ตามที่ปรากฏเป็นข่าว
ลำดับถัดไปคือ 23 มีนาคม เป็นวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ว.ล่วงหน้า จากนั้น วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม กกต. ส่งคำร้องเกี่ยวกับกรณีใบเหลือง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ถึงศาลอุทธรณ์กลาง
และประเมินว่า ปลายเดือนนี้น่าจะมีคำตัดสินของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการชี้มูลความคิดคดีสำคัญบางคดี เรื่องอะไรต่างๆ ที่ สมชัย บอกในช่วงวันนี้ 19 มีนาคม ไปจนถึงปลายสัปดาห์ คงต้องรอติดตามคดีคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ยื่นคำร้องซึ่ง กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะหรือไม่
เพราะในวันพุธที่ 19 มี.ค.นี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนุญได้นัดฟังคำชี้แจงของ ประธาน กกต. หรือผู้แทนนายกรัฐมนตรี หรือผู้แทน และประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือผู้แทน ตั้งแต่เวลา 09.30 น เพื่อฟังคำชี้แจงต่างๆ ในประเด็นคำร้อง รวมถึงหากตุลาการมีข้อสงสัย ก็จะได้ซักถามกันไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจรู้ได้ว่า หลังฟังคำชี้แจงต่างๆ แล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด จะมีการนัดลงมติในวันเดียวกันนี้เลยหรือไม่
แต่เมื่อดูจากที่ผ่านๆ มา หลายคนก็ยังมองว่า ยังไม่น่าจะนัดลงมติในวันเดียวกันเลย แม้คำร้องนี้จะมีลักษณะควรที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องเร่งวินิจฉัยโดยเร็วก็ตาม เนื่องจากพอฟังคำชี้แจงต่างๆ แล้ว ก็ควรให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทบทวน พิจารณาอะไรต่างๆ เสียก่อน แต่ก็น่าจะนัดฟังคำวินิจฉัยโดยเร็ว เพราะคำร้องนี้ มีผลเกี่ยวเนื่องอะไรต่อไปอีกหลายอย่าง กับการจัดการเลือกตั้งของ กกต.
อย่างเช่น คำร้อง ที่กกต.ร้องขอให้ศาลรธน.วินิจฉัยว่า การออกพระราชกฤษฎีกา การเลือกตั้งใน 28 เขตของ 8 จังหวัดภาคใต้ ที่ไม่สามารถเปิดรับสมัครผู้ลงสมัคร ส.ส.ระบบเขตได้ ที่กกต.ขอให้รัฐบาลออกเป็นพระราชกฤษฎีกา กำหนดวันรับสมัคร และวันเลือกตั้งใหม่ แต่รัฐบาลไม่ยอมดำเนินการให้เพราะเกรงจะมีปัญหา เนื่องจากจะเป็นการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งซ้ำซ้อน จนอาจทำให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ
เลยทำให้ กกต.ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคำร้องเรื่อง 28 เขตดังกล่าว ว่าไปแล้วอาจจะไม่มีผลใดๆ เลย หากศาลรธน.วินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ
ดังนั้น หลายฝ่ายก็คาดการกันว่า ดูแล้ว ศาลรธน.ก็น่าจะนัดลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยได้ภายในไม่กี่วัน หลังจาก 19 มี.ค.นี้แน่นอน แต่จะใช่ในวันที่ 19 มี.ค. อย่างที่บางฝ่ายเก็งไปล่วงหน้าหรือไม่ ก็ต้องรอติดตามกัน
เพราะเมื่อศาลรธน.รับคำร้องไปแล้ว ต่อให้ฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ตลอดจนนักวิชาการสายรัฐบาล ทำโวยวายยังไงก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้ว ต้องมารอลุ้นคำตัดสินดีกว่าที่จะโวยวายว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่สามารถส่งคำร้องของอาจารย์ธรรมศาสตร์ ไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากไม่เข้าข่ายมาตรา 245 (1) ที่บัญญัติ ว่า
**"ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้เสนอเรื่อง พร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า"
ทางรัฐบาลและเพื่อไทย จึงโต้แย้งเสมอว่า การจัดการเลือกตั้งไม่ถือว่าเป็นปัญหาในข้อกฎหมายที่จะทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องไปได้
ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินก็แย้งว่าทำได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 (1) และมาตรา 245 (1) ที่ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถตรวจสอบการดำเนินการของสำนักงาน กกต. ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 223 ที่ระบุว่า การใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่อยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลปกครอง ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเห็นว่า เรื่องนี้น่าอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับประเด็นตามคำร้องเชื่อมโยงโดยตรงกับพระราชกฤษฎีกา ซึ่งพระราชกฤษฎีกาตราขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ จึงถือว่า ศักดิ์ของกฎหมายเท่ากัน ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
เจอข้อโต้แย้งนี้เข้า ฝ่ายเพื่อไทย ก็เลยส่งคนพูดจาทำนองกดดันผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ หากสุดท้ายมีการวินิจฉัยทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็เท่ากับทำให้ชาติเสียหายเงินงบประมาณที่ใช้จัดการเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ. ไป 3,800 ล้านบาท และออกตัวว่า หากการเลือกตั้งเป็นโมฆะจริง รัฐบาลก็ไม่เกี่ยวไม่ต้องรับผิดชอบ ต้องไปไล่เช็คบิลกับ กกต.ไป
อย่างไรก็ตาม ในคำร้องของ นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ที่มีประเด็นหลักๆ เช่น เห็นว่าการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ หากมีการจัดเลือกตั้งก็จะทำให้มีวันเลือกตั้ง 2 วัน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 อีกทั้งเห็นว่า การเปิดรับสมัคร ส.ส.ไม่เที่ยงธรรม มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งล่วงหน้า - การนับคะแนนเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. ในทุกเขตเลือกตั้ง ที่สามารถเลือกตั้งได้ ทำให้ทราบผู้ที่จะมาลงคะแนนเลือกตั้งในวันหลังทราบผลการเลือกตั้งแล้ว ก่อนการลงคะแนนส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในภายหลัง จึงเกิดความไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ทำให้การลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่เป็นไปโดยลับ
รวมทั้ง กกต. ปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐก่อให้เกิดความได้เปรียบของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินใน 4 จังหวัด ช่วงระหว่างที่มีการเลือกตั้ง โดยมีการออกประกาศหลายฉบับที่มีผลโดยตรง ต่อการทำให้เกิดความไม่เสมอภาค และความได้เปรียบเสียเปรียบ ในการเลือกตั้ง
แต่ก็มีมุมมองจากหลายฝ่ายว่า ประเด็นที่สำคัญที่สุดในคำร้องนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่ว่ามีการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง 2ก.พ. ที่คูหาเลือกตั้งในวันดังกล่าวไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าคะแนนของคนที่ได้คะแนนมากที่สุดในแบบ ส.ส.เขต ก็ทำให้คนก็รู้แล้วว่าใครเป็น ว่าที่ ส.ส. แล้วปรากฏว่า ก็มีหลายเขตที่ยังเลือกตั้งไม่เสร็จในวันดังกล่าว แล้วมาจัดการลงคะแนนเสียงอีกทีในหน่วยเลือกตั้งที่เหลือ จึงทำให้คนที่มาเลือกตั้งภายหลัง 2 ก.พ. รู้แล้วว่า ในเขตเลือกตั้ง ใครได้คะแนนเท่าไหร่ ใครมีคะแนนมาอันดับหนึ่ง ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจของคนที่มาใช้สิทธิ์ในภารหลัง
** ที่สำคัญ การที่รู้ผลคะแนนไปแล้ว จึงทำให้การเลือกตั้งไม่เป็น “ความลับ” ที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเลือกตั้ง
กระแสข่าวศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัยคำร้องนี้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ทำให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ร้อนรนอย่างมาก ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 18 ก.พ. ก็มีการออกแถลงการณ์ “ขอคัดค้านการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส.” โดยระบุ ตอนหนึ่งว่า
“พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องดังกล่าว และถือเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและนอกเหนืออำนาจ เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรรคจึงขอคัดค้านการกระทำดังกล่าว โดยขอให้ กกต.ได้จัดการเลือกตั้งส.ส.ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์โดยเร็วต่อไป”
**อาการของเพื่อไทยออกมาแบบนี้ น่าจะบอกอะไรได้บางอย่างว่า ศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะมีข้อยุติในไม่ช้า ?

เสือกระดาษ
กำลังโหลดความคิดเห็น