โฆษกผู้ตรวจการฯ แถลงมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะ ตามคำร้องของ อาจารย์ธรรมศาสตร์ ชี้เลือกตั้ง 2 วันส่อขัด รธน.ทำโหวตไม่เที่ยงธรรม แถม กกต.ปล่อยรัฐบาลออกประกาศให้ได้เปรียบ ไม่ชอบด้วยกฎหมายชัด
วันนี้ (6 มี.ค.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงถึงผลคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีนายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เข้าร้องเรียนต่อผู้ตรวจการฯ กรณีการออกประกาศและการดำเนินการต่างๆ ของ กกต.มีผลทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นการจัดการเลือกตั้งที่มิได้ดำเนินการเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาค และเป็นไปโดยไม่ให้โอกาสที่ทัดเทียมกันของผู้สมัครและพรรคการเมือง และทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในระหว่างผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 102, 108 และ 30 นั้น
โดยผู้ตรวจการฯ ได้หารือและเห็นชอบร่วมกันแล้วว่า มีอำนาจเพียงพอที่จะรับเรื่องไว้วินิจฉัยได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 (1) (ค) และมาตรา 245 (1) ที่สามารถตรวจสอบการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 223 ที่ระบุว่าการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่อยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลปกครอง ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงเห็นว่าเรื่องนี้น่าอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับประเด็นตามคำร้องเชื่อมโยงโดยตรงกับ พระราชกฤษฎีกา ซึ่งพระราชกฤษฎีกาตราขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าศักดิ์ของกฎหมายเท่ากัน ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
และเมื่อพิจารณาประเด็นตามคำร้อง ที่เสนอว่าการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ในวันที่ 2 ก.พ. หากมีการจัดเลือกตั้ง ก็จะทำให้มีวันเลือกตั้ง 2 วัน ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 108 การเปิดรับสมัคร ส.ส.ไม่เที่ยงธรรม มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งล่วงหน้า การนับคะแนนเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ในทุกเขตเลือกตั้งที่สามารถเลือกตั้งได้ทำให้ทราบผู้ที่จะมาลงคะแนนเลือกตั้งในวันหลังทราบผลการเลือกตั้งแล้วก่อนการลงคะแนน ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำให้เกิดความไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับ
รวมทั้ง กกต.ปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐ ก่อให้เกิดความได้เปรียบของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 4 จังหวัด โดยมีการออกประกาศหลายฉบับที่มีผลโดยตรงต่อการทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง
ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 ก.พ. และให้มีการดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยสำนักงานผู้ตรวจการฯ ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว