xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย” ออกอาการ ผวาเลือกตั้ง “โมฆะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สะเก็ดไฟ

ทม์ไลน์การเมืองในรอบสิบกว่าวันนี้ไปจนถึงปลายเดือนมีนาคม สมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้ลำดับเวลาปฏิทินการเมืองตั้งแต่ช่วง 19 มี.ค. ไปจนถึงปลายเดือนแบบเข้าใจง่ายและสนใจ

ไทม์ไลน์การเมืองของสมชัยที่โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กเมื่อสองวันที่ผ่านมาได้ไล่เรียงปฏิทินการเมือไว้ ดังนี้

พุธที่ 19 มีนาคม - ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน จะไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญประเด็นการเลือกตั้งที่ยังไม่แล้วเสร็จ

โดยมีประเด็นวินิจฉัยคือเลือกตั้ง 28 เขต เดินหน้าต่ออย่างไร และเลือกตั้งรวมจะเป็นโมฆะหรือไม่ โดยสมชัยคาดการณ์ว่าวันศุกร์ที่ 21 มีนาคมอาจมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในคำร้องนี้ออกมา หรืออาจตัดสินตั้งแต่บ่ายวันที่ 19 มีนาคม ตามที่ปรากฏเป็นข่าว

ลำดับถัดไปคือ 23 มีนาคม เป็นวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ว.ล่วงหน้า จากนั้นวันจันทร์ที่ 24 มีนาคม กกต.ส่งคำร้องเกี่ยวกับกรณีใบเหลือง สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ถึงศาลอุทธรณ์กลาง

และประเมินว่าปลายเดือนนี้น่าจะมีคำตัดสินของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการชี้มูลความคิดคดีสำคัญบางคดี

เรื่องอะไรต่างๆ ที่ สมชัย บอกในช่วงวันนี้ 19 มีนาคมไปจนถึงปลายสัปดาห์ คงต้องรอติดตามคดีคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ยื่นคำร้องซึ่ง กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะหรือไม่

เพราะในวันพุธที่ 19 มี.ค.นี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนุญได้นัดฟังคำชี้แจงของประธาน กกต. หรือผู้แทน นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทน และประธานผู้ตรวจการแผ่นดินหรือผู้แทน ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เพื่อฟังคำชี้แจงต่างๆในประเด็นคำร้องรวมถึงหากตุลาการมีข้อสงสัยก็จะได้ซักถามกันไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจรู้ได้ว่าหลังฟังคำชี้แจงต่างๆ แล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดจะมีการนัดลงมติในวันเดียวกันนี้เลยหรือไม่

แต่เมื่อดูจากที่ผ่านๆ มาหลายคนก็ยังมองว่า ยังไม่น่าจะนัดลงมติในวันเดียวกันเลยแม้คำร้องนี้จะมีลักษณะควรที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องเร่งวินิจฉัยโดยเร็วก็ตามเนื่องจากพอฟังคำชี้แจงต่างๆ แล้ว ก็ควรให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทบทวนพิจารณาอะไรต่างๆ เสียก่อน แต่ก็น่าจะนัดฟังคำวินิจฉัยโดยเร็วเพราะคำร้องนี้มีผลเกี่ยวเนื่องอะไรต่อไปอีกหลายอย่างกับการจัดการเลือกตั้งของ กกต.

อย่างเช่นคำร้อง ที่ กกต.ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การออกพระราชกฤษฏีกาการเลือกตั้งใน 28 เขตของ 8 จังหวัดภาคใต้ ที่ไม่สามารถเปิดรับสมัครผู้ลงสมัคร ส.ส.ระบบเขตได้ที่ กกต.ขอให้รัฐบาลออกเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดวันรับสมัครและวันเลือกตั้งใหม่แต่รัฐบาลไม่ยอมดำเนินการให้เพราะเกรงจะมีปัญหาเนื่องจากจะเป็นการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งซ้ำซ้อนจนอาจทำให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ

เลยทำให้ กกต.ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคำร้องเรื่อง 28 เขตดังกล่าวว่าไปแล้วอาจจะไม่มีผลใดๆ เลย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ

ดังนั้น หลายฝ่ายก็คาดการณ์กันว่าดูแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็น่าจะนัดลงมติและอ่านคำวินิจฉัยได้ภายในไม่กี่วันหลังจาก 19 มี.ค.นี้แน่นอน แต่จะใช่ในวันที่ 19 มี.ค.อย่างที่บางฝ่ายเก็งไปล่วงหน้าหรือไม่ก็ต้องรอติดตามกัน

เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไปแล้ว ต่อให้ฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยตลอดจนนักวิชาการสายรัฐบาลทำโวยวายยังไงก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้ว ต้องมารอลุ้นคำตัดสินดีกว่าที่จะโวยวายว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่สามารถส่งคำร้องของอาจารย์ธรรมศาสตร์ที่ไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เนื่องจากไม่เข้าข่ายมาตรา 245 (1) ที่บัญญัติว่า

“ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองได้ เมื่อเห็นว่ามีกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้เสนอเรื่อง พร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ”


ทางรัฐบาลและเพื่อไทยจึงโต้แย้งเสมอว่าการจัดการเลือกตั้งไม่ถือว่าเป็นปัญหาในข้อกฎหมายที่จะทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปได้

ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินก็แย้งว่า ทำได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 (1) และมาตรา 245 (1) ที่ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถตรวจสอบการดำเนินการของสำนักงาน กกต. ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 223 ที่ระบุว่าการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่อยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลปกครองทางผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเห็นว่าเรื่องนี้น่าอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประกอบกับประเด็นตามคำร้องเชื่อมโยงโดยตรงกับพระราชกฤษฎีกาซึ่งพระราชกฤษฎีกาตราขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าศักดิ์ของกฎหมายเท่ากัน ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

เจอข้อโต้แย้งนี้เข้า ฝ่ายเพื่อไทยก็เลยส่งคนพูดจาทำนองกดดันผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ ว่าหากสุดท้ายมีการวินิจฉัยทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะก็เท่ากับทำให้ชาติเสียหายเงินงบประมาณที่ใช้จัดการเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ.ไป 3,800 ล้านบาท และออกตัวว่าหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะจริงรัฐบาลก็ไม่เกี่ยวไม่ต้องรับผิดชอบต้องไปไล่เช็กบิลกับ กกต.ไป

อย่างไรก็ตาม ในคำร้องของ นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ที่มีประเด็นหลักๆ เช่น เห็นว่าการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้หากมีการจัดเลือกตั้งก็จะทำให้มีวันเลือกตั้ง 2 วัน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 อีกทั้งเห็นว่าการเปิดรับสมัคร ส.ส.ไม่เที่ยงธรรมมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งล่วงหน้า-การนับคะแนนเลือกตั้ง วันที่ 2 กุมภาพันธ์ในทุกเขตเลือกตั้งที่สามารถเลือกตั้งได้ทำให้ทราบผู้ที่จะมาลงคะแนนเลือกตั้งในวันหลังทราบผลการเลือกตั้งแล้วก่อนการลงคะแนนส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในภายหลัง จึงเกิดความไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับ

รวมทั้ง กกต.ปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐก่อให้เกิดความได้เปรียบของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลโดยเฉพาะกรณีที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทยได้ประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินใน 4 จังหวัดช่วงระหว่างที่มีการเลือกตั้งโดยมีการออกประกาศหลายฉบับที่มีผลโดยตรงต่อการทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง

แต่ก็มีมุมมองจากหลายฝ่ายว่าประเด็นที่สำคัญที่สุดในคำร้องนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่ว่ามีการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง 2 ก.พ.ที่คูหาเลือกตั้งในวันดังกล่าวไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าคะแนนของคนที่ได้คะแนนมากที่สุดในแบบ ส.ส.เขตก็ทำให้คนก็รู้แล้วว่าใครเป็นว่าที่ ส.ส. แล้วปรากฏว่าก็มีหลายเขตที่ยังเลือกตั้งไม่เสร็จในวันดังกล่าวแล้วมาจัดการลงคะแนนเสียงอีกทีในหน่วยเลือกตั้งที่เหลือ จึงทำให้คนที่มาเลือกตั้งภายหลัง 2 ก.พ.รู้แล้วว่าในเขตเลือกตั้งใครได้คะแนนเท่าไหร่ ใครมีคะแนนมาอันดับหนึ่ง ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจของคนที่มาใช้สิทธิในภายหลัง

ที่สำคัญ การที่รู้ผลคะแนนไปแล้วจึงทำให้การเลือกตั้งไม่เป็น “ความลับ” ที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเลือกตั้ง

กระแสข่าวศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคำร้องนี้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ทำให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยร้อนรนอย่างมากล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 18 ก.พ. ก็มีการออกแถลงการณ์ “ขอคัดค้านการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.”โดยระบุตอนหนึ่งว่า

“พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องดังกล่าว และถือเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและนอกเหนืออำนาจ เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายพรรคจึงขอคัดค้านการกระทำดังกล่าว โดยขอให้ กกต.ได้จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์โดยเร็วต่อไป”

อาการของเพื่อไทยออกมาแบบนี้น่าจะบอกอะไรได้บางอย่างว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีข้อยุติในไม่ช้า?
กำลังโหลดความคิดเห็น