xs
xsm
sm
md
lg

“พงศ์เทพ” ขู่ศาลล้มกระดานเลือกตั้งใหม่ส่อนองเลือด กกต.โบ้ยไร้อำนาจ ปัดอยู่ใต้อิทธิพลรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลรัฐธรรมนูญฟังคำชี้แจงคดีเลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะก่อนนัดวินิจฉัยศุกร์นี้ ผู้ตรวจฯ ยันมีอำนาจยื่นคำร้อง รัฐบาลตะแบงอำนาจจัดเลือกตั้ง เป็นของ กกต.อ้างที่เป็นปัญหาแค่ร้อยละ ขู่ล้มกระดานเลือกตั้งใหม่อาจถูกขัดขวางเสียเลือดเนื้อ กว่าได้รัฐบาลใหม่อาจถึง ต.ค.อ้างทั่วโลกไม่ถือว่าการเลือกตั้งเป็นจุดยุติความขัดแย้ง กกต. เจอตุลาการฯ ไล่บี้หนัก ถามเหตุใดไม่ขยายวันสมัคร ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ทำได้อยู่แล้ว ทำไมไม่เลื่อนวันเลือกตั้งทั้งที่ศาล รธน.วินิจฉัยให้เลื่อนได้ ปธ.กกต.แจงกฎหมายไม่ให้อำนาจ เลื่อนวันเลือกตั้งเป็นอำนาจรัฐ บอกเลื่อนเองได้ทำไปแล้ว เผยรัฐมองศาล รธน.แทงกั๊ก วินิจฉัยให้เลื่อนเลือกตั้งได้ โต้ยอมเดินหน้าจัดเลือกตั้งไม่ใช่เพราะตกอยู่ในอิทธิพลรัฐบาล สมัครใจเข้ามาทำหน้าที่ไม่หวั่นถูกฟ้อง



วันนี้ (19 มี.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้นการออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนรับฟังคำชี้แจงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง นายพงศ์ เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ผู้แทนนายกรัฐมนตรี เพื่อประกอบ เพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 245(1) ว่าการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และมีคำสั่งให้นายพงศ์เทพ ยื่นคำแถลงเพิ่มเติมตามที่ร้องขอภายในวันที่ 20 มี.ค.พร้อมนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติในวันศุกร์ที่ 21 มี.ค. เวลา 11.00 น.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ในการชี้แจงไต่สวน นายพรเพชร ชี้แจงยืนยันว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 254(1) เพราะเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง จึงถือเป็นประเด็นข้อกฎหมาย และเมื่อพิจารณาทั้งรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ไม่มีมาตราใดที่บัญญัติไว้โดยตรงเกี่ยวกับอำนาจการตรวจสอบการเลือกตั้งทั่วไป มีเฉพาะมาตรา 219 วรรคสาม ที่ให้เป็นอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง พิจารณาเฉพาะกรณีรายเขต ส่วนประเด็นข้อเท็จจริงหลักว่าการเลือกตั้งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. มีการเลือกตั้งได้เพียง 347 เขต โดย 28 เขตต้องมีการจัดเลือกตั้งใหม่ย่อมจะทำให้มีวันเลือกตั้งเกิดขึ้น 2 วัน และก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าเลื่อนเลือกตั้งได้ แต่นายกรัฐมนตรีและประธาน กกต.ผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.เลือกตั้งก็ไม่ดำเนินการ

และเมื่อมีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ซึ่งมีกว่าหมื่นหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถจัดลงคะแนนได้แม้จะมีการลงคะแนน เลือกตั้งในภายหลังก็ไม่มีหลักการว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 93 กำหนด

นอกจากนี้ ที่มีการนับคะแนนและประกาศผลคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งทั้งที่การเลือกตั้งในส่วนอื่นยังไม่แล้วเสร็จมีผลเป็นการชี้ในใน 28 เขตเลือกตั้ง ที่ยังไม่มีผู้สมัคร การปล่อยให้นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของผู้สมัครพรรคการเมืองทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม

“การเลือกตั้งที่มีปัญหาในครั้งนี้ถือเป็นวิกฤติที่ร้ายแรงไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะการเมือง แม้รัฐบาลจะคืนอำนาจให้กับประชาชน ก็มีการประท้วงทำให้อำนาจบริหารของรัฐบาลรักษาการทำได้ไม่เต็มที่ เสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย รวมทั้งเลือกตั้งต่อไปก็ไม่มีหลักประกันว่าเสร็จสิ้นเมื่อใด ซึ่งระหว่างความชอบด้วยกฎหมายกับสิทธิของประชาชนที่ไปเลือกตั้งและมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ศาลรัฐธรรมนูญคงต้องชั่งน้ำหนักว่าสิ่งไหนสำคัญกว่ากัน ส่วนตัวเห็นว่าถ้าอีกไม่กี่วันถ้าศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่าต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ใหม่ คนกรุงเทพฯก็ต้องถูกกระทบสิทธิ แต่ก็เป็นการบอกว่าการเลือกตั้งนั้นไม่ถูกต้อง และการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ใช้ต้นทุนสูงมาก มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายนับไม่ถ้วน จนมีผู้บอกว่าหากปล่อยให้ปัญหานี้ดำรงอยู่และให้รัฐบาลรักษาการต่อไปจนสิ้นไตรมาส 2 จะกระทบต่อตัวเลขมวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) อย่างยิ่งดังนั้นเมื่อเราไม่มีทางออกอื่นนอกจากวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ ทำไมเราไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งใหม่ ที่จะชอบธรรมได้คนดีมาบริหารบ้านเมือง ซึ่งเชื่อว่า แม้สถานการณ์จะยังเป็นเช่นนี้ รัฐบาลและ กกต.ก็อยู่ในวิสัยที่จะจัดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมได้”

จากนั้นนายพงศ์เทพซึ่งเป็นผู้ชี้แจงลำดับถัดมา ก็ได้ตั้งข้อสังเกตก่อนการชี้แจงว่า เหตุใดศาลจึงเร่งรัดในการพิจารณาคดีนี้ โดยให้รัฐบาลมีเวลาจัดทำคำชี้แจงเพียง 1 วันเท่านั้น ทำให้ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการฯ ชี้แจงว่าเพราะคดีนี้ มีผลเชื่อมโยงกับการดำเนินการในอีกหลายส่วนที่หากพิจารณาล่าช้า ปล่อยให้มีการดำเนินการไปก็อาจไม่เกิดประโยชน์และสูญเปล่า ซึ่งการวินิจฉัยเร็วก็จะเป็นผลดีกับบ้านเมือง

ส่วนการชี้แจงนายพงศ์เทพ ระบุว่า รัฐบาลเห็นว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการยื่นคำร้องนี้ เพราะเป็นการยื่นเกี่ยวกับการปฏบัติของกกต.ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งไม่เข้าข่ายที่จะยื่นศาล รธน.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 245(1) สำหรับประเด็นข้อเท็จจริงในการจัดการเลือกตั้งเห็นว่า มีเพียงร้อยละ 10 ของ 375 เขตเลือกตั้งเท่านั้นที่เลือกตั้งไม่ได้ในวันที่ 2 ก.พ.และกฎหมายให้อำนาจกกต.ในการจัดลงคะแนนใหม่ได้อยู่แล้ว ในอดีตก่อนการประกาศผล กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือ (ใบเหลือง) จำนวนมากก็ไม่มีการโต้แย้งว่า การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ 28 เขตเลือกตั้งมีคนอยากสมัครแต่สมัครไม่ได้ เป็นหน้าที่ที่กกต.ต้องดำเนินการแต่ ณ วันนี้ ยังไม่มีการจัดเลือกตั้งเกิดขึ้นเลย ฉะนั้นตุลาการตั้งสังเกตว่า ที่ว่าการนับคะแนน หรือประกาศผลคะแนนไปก่อนทำให้ขัดต่อหลักการลงคะแนนโดยลับ เป็นการชี้นำการเลือกตั้งที่เหลือ ก็มองว่าหัวใจสำคัญของหลักการลงคะแนนโดยลับน่าจะอยู่ที่ตอนผู้มีสิทธิกาบัตรต้องไม่ให้รู้ว่าลงคะแนนให้ใคร ไม่ใช่เป็นเพราะประกาศผลคะแนน ทำให้ขัดหลักลงคะแนนโดยลับ

“อำนาจจัดการเลือกตั้งเป็นของ กกต.รัฐบาลไม่มีอำนาจ แม้ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ร่วมรักษาการกับประธานกกต.ตาม พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งที่มีผลมาจากการยุบสภา แต่การจัดการเลือกตั้งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนายกฯเลย ที่บอกว่า นายกฯออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งนั้น ข้อ 1 ของประกาศที่ออกก็ได้ระบุชัดเจนว่าห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมเกินกว่า 5 คนยกเว้นการชุมนุมหาเสียงเลือกตั้ง ฉะนั้นการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่เป็นอุปสรรคกับพรรคการเมืองใด และก็ไม่มีพรรคการเมืองหรือผู้สมัครคนไหนมาร้องว่าการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม” นายพงศ์เทพ กล่าว

นายพงศ์เทพ ยังเห็นว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เสร็จสิ้นไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ดังนั้นน่าจะจัดการเลือกตั้งส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จดีกว่าการเริ่มกระบวนการใหม่ เพราะเชื่อว่าการรับสมัครใหม่จะมีการขัดขวาง ทำให้มีการบาดเจ็บ ล้มตาย รวมถึงการจะได้รัฐบาลใหม่อาจล่วงเลยไปถึง มิ.ย.- ต.ค.ที่คณะตุลาการมองว่า หากเลือกตั้งครั้งนี้เสร็จสิ้นรัฐบาลที่เข้ามาจะได้รับการยอมรับ ปัญหาความขัดแย้งจะยุติหรือไม่ เห็นว่า เป็นคนละเรื่องกัน เพราะปัญหาความขัดแย้งทั่วโลกไม่ใช่จะยุติเพราะการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ที่อย่างน้อยประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้แสดงออกถึงเจตนาของตัวเอง และหลัง 2 ก.พ.การลงคะแนนทดแทนการเลือกตั้งที่เสียไป ก็พบมีการขัดขวางน้อยลง แต่ถ้าไปเลือกตั้งกันใหม่เชื่อว่าความสูญเสียจะเกิดขึ้นอีก

นายพงศ์เทพ ยังตอบคำถามคณะตุลาการกรณีที่สงสัยว่ารัฐบาลได้ขอให้ กกต.ขยายเวลาการรับสมัคร ส.ส.หรือไม่ ว่า ตั้งแต่ยังไม่หมดเวลาการรับสมัครแต่เห็นแล้วว่ามีปัญหาว่าจะได้ผู้สมัครไม่ครบทุกเขต ได้ไปหารือกับ กกต.ว่า ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตมีอำนาจที่จะประกาศรับสมัครนอกเขตเลือกตั้งเพื่อป้องกันปัญหาการขัดขวาง แต่กกต.ก็ไม่ทำ และเมื่อครบระยะเวลาการรับสมัครก็ไม่มีการขยาย ซึ่งในเขตที่ไม่มีผู้สมัครนั้น เห็นว่า กกต.สามารถดำเนินการให้มีผู้สมัครได้โดยไม่ต้องขอออก พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยสามารถนำมาตรา 88 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ที่กำหนดให้มีการรับสมัครใหม่ได้หากผู้สมัครรายเดียวของเขตนั้นได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิมาดำเนินการได้

อย่างไรก็ตามทำให้ นายจรัญ ท้วงว่าตามมาตราดังกล่าวจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีผู้สมัครแล้ว แต่เลือกตั้งไปแล้วได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิ ซึ่งนายพงศ์เทพ ก็พยายามชี้แจงว่า เป็นการนำกฎหมายมาเทียบเคียงและตีความกฎหมายเพื่อให้เกิดการปฎิบัติได้ รวมทั้งเห็นว่าการที่ในกฎหมายบัญญัติทั้งคำว่าวันเลือกตั้ง และวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่นั้น จะเรียกอะไรไม่เป็นปัญหา แต่โดยหลักเมื่อมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง กกต.ต้องจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ

รวมทั้งเห็นว่า กรณีที่มีการขัดขวางการเลือกตั้ง แม้รัฐบาลจะมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย แต่การจะดำเนินการก็มีข้อจำกัด เพราะมีคำสั่งศาลแพ่งห้ามใช้อาวุธสลายการชุมนุม โดยรัฐบาลก็ได้ช่วยสนับสนุนการเลือกตั้งตามที่ กกต.ร้องขอ

ด้าน นายศุภชัย กล่าวชี้แจงว่า การจัดเลือกตั้ง กกต.ยึดหลักกฎหมาย ยังไม่ได้ทำผิดอะไร 28 เขตเลือกตั้งยังรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จึงยังไม่มีวันเลือกตั้ง 2 วันขัดรัฐธรรมนูญ

และเห็นว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องนี้ อย่างไรก็ตามหลังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งแล้วเกิดการคัดค้านการเลือกตั้ง กกต.ก็เล็งเห็นแล้วว่าจะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรมได้ ก็ได้พยายามที่จะเสนอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งออกไป จะเห็นได้จากการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อมีคำวินิจฉัยว่าสามารถเลื่อนได้ แต่รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้า กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งโดยให้เป็นนโยบายกับฝ่ายปฏิบัติว่า หากมีการขัดขวางพยายามอย่าให้เสียเลือดเนื้อ เพราะชีวิตคนเสียแล้วเรียกคืนไม่ได้ แต่ การเลือกตั้งเสียแล้วอาจจัดขึ้นใหม่ได้

จากนั้นประธาน กกต.ก็ได้มอบหมายให้ นายวรภัทร วงศ์ปราโมทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงาน กกต.ได้ชี้แจงในประเด็นข้อกฎหมายที่คณะตุลาการสงสัยว่า กรณีการจัดการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ หลังวันเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง มาตรา 78, 108, 109 และ มาตรา 88 มีความแตกต่างกันอย่างไร และสามารถใช้กับกรณีที่ไม่มีผู้สมัครในเขตนั้นเลยได้หรือไม่ ว่าทั้งมาตรา 78, 108, 109 เป็นการกำหนดให้ กกต. สามารถจัดลงคะแนนเลือกตั้งใหม่หลังวันเลือกตั้งได้จากเหตุที่แต่ต่างกัน เช่น เกิดภัยพิบัติ มีการขัดขวางการเลือกตั้ง ลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 78 กรณีเกิดดำเนินการไม่ชอบ ของผู้ปฏิบัติงานเลือกตั้ง ให้จัดลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 108 หรือเมื่อนับคะแนนแล้วพบว่าการนับคะแนนนั้นไม่ถูกต้อง ให้จัดลงคะแนนใหม่ตามมาตรา 109 ส่วนมาตรา 88 เป็นกรณีที่เมื่อเลือกตั้งแล้วผู้สมัครรายเดียวในเขตนั้นได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กกต.ต้องประกาศให้มีการรับสมัครใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการในกรณีที่มีผู้สมัครแล้ว แต่กรณีที่ไม่มีผู้สมัครเลยแม้จะมีผู้มองว่า กกต.สามารถอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 236 ประกอบมาตรา 93 ออกประกาศให้มีการรับสมัครและจัดการเลือกตั้ง แต่เมื่อพิจารณาแล้ว เนื้อหาใน 2 มาตราดังกล่าวรวมถึง พ.ร.บ.เลือกตั้ง เห็นว่า บัญญัติแต่ในหลักการ ไม่ได้เขียนถึงวิธีการ ที่ผ่านมาการที่ กกต.จะออกประกาศหรือระเบียบ จะยึดว่ากฎหมายมาตรานั้นต้องเขียนให้อำนาจ กกต.ออกประกาศหรือระเบียบเลย ถ้าไม่เขียน แล้วมาดำเนินการ ถือว่าทำเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะเห็นว่า มาตรา 88 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งเขียนไว้ชัดว่าถ้าเลือกตั้งไปแล้ว ผู้สมัครรายเดียวนั้นไม่ได้คะแนนร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิให้ กกต.สั่งให้มีการรับสมัครใหม่ แต่ในกรณีของ 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัคร ไม่มีกฎหมายมาตราใดให้อำนาจ กกต.เปิดหรือขยายการรับสมัครใหม่ได้หลังพ้นกำหนดระยะเวลาการรับสมัคร และถ้าทำเช่นนั้นก็จะกระทบต่อการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และอาจกลายเป็นการละเมิดสิทธิผู้ที่จะใช้สิทธิได้

“ช่วงที่ กกต.เปิดรับสมัคร พยายามที่จะทำให้การรับสมัครเป็นผลสำเร็จ มวลชนบอกว่าจะคัดค้านไม่ขัดขวางทำให้เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย อีกทั้งรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็เชื่อว่าน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ กกต.ก็ได้เตรียมสถานที่รับสมัครสำรอง รวมถึงให้พรรคการเมืองที่ประสงค์จะสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ แต่เข้าสมัครไม่ได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ถือว่าการรับสมัครเกิดขึ้น แต่การรับสมัครเกิดขึ้นจริงในวันที่ 26 ธ.ค.ที่ กกต.ทั้ง 5 คนไปรับสมัครด้วยตนเอง มีการจับสลากหมายเลขให้กับ 53 พรรคการเมือง ส่วนในระบบเขตแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครแต่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตซึ่งเป็นผู้มีอำนาจได้มีการติดประกาศแจ้งเปลี่ยนสถานที่ไว้ที่ ศาลากลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และแจ้งผู้สื่อข่าวทุกสำนักถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครอย่างเท่าเทียมแล้ว”

จากนั้น นายทวีเกียรติ ตุลาการ ก็ได้ท้วงว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 235 ให้อำนาจกกต.ในการควบคุมการเลือกตั้ง ให้สุจริต ซึ่ง เมื่อกกต.เห็นแล้วว่าการไม่มีผู้สมัคร 28 เขต เลือกตั้งไปก็ไม่สามารถได้ ส.ส.ร้อยละ 95 ที่สามารถเปิดประชุมสภาได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 93 ทำไมไม่ขยายระยะเวลาการรับสมัครไปจนกว่าจะมีผู้สมัครครบทุกเขตเลือกตั้งซึ่งถ้าดำเนินการก่อนวันเลือกตั้งที่ 2 ก.พ.ก็จะไม่เป็นปัญหา ถือว่าเป็นหลักการปฏิบัติทั่วไปที่เป็นธรรมชาติ เหมือนกรณีการรับสมัครประมูลงานเมื่อไม่มีผู้สมัครก็ต้องขยายเวลาไป

นายศุภชัย ได้ชี้แจงว่า กกต.ได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่าการจะออกประกาศอะไรก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจทำได้แต่เรื่องขยายวันรับสมัคร กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ และหากขยายการรับสมัครไปก็คงไม่สำเร็จขนาดไปสัมมนาแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งที่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 7 มี.ค.แกนนำ กปปส.ในพื้นที่ก็ยืนยันว่าต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หากมีการรับสมัคร ส.ส.ก็ยังจะขัดขวางอีก

ด้าน นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการฯ ก็ได้ถามว่าก่อนการเลือกตั้ง ศาลได้วินิจฉัยว่าสามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้ทำไมถึงไม่มีการเลื่อนรัฐบาลมีเหตุผลอะไรและทำไม กกต.ยอมทำตามรัฐบาลจนกลายเป็นปัญหาถึงทุกวันนี้ นายศุภชัย กล่าวว่า “หลังศาลมีคำวินิจฉัย กกต.ได้หารือกับนายกฯและคณะรัฐมนตรีเขาก็บอกว่าทำไม่ได้ไม่มีกฎหมายให้อำนาจเลื่อน และยังมีการระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญแทงกั๊ก จะให้ทำอะไรก็ไม่บอกให้ชัดเจน บางคนถึงกับพูดว่าจะให้ลากนายกฯไปเข้าคุก แต่การเลื่อนต้องออกเป็น พ.ร.ฎ.เมื่อรัฐบาลไม่เลื่อน กกต.ก็ต้องจัดการเลือกตั้ง ขนาดเดินหน้าเลือกตั้งยังถูกฟ้องว่าไม่อยากจัดการเลือกตั้ง อธิบดีดีเอสไอ ก็ประกาศผ่าน ศรส.ว่าจะดำเนินคดีกับ กกต. ขนาดจัดเรายังโดยถ้าไม่จัดเราเสร็จเลย”

ขณะที่ นายสุพจน์ ก็ได้ถามย้ำว่า ที่ไม่เลื่อนเพราะว่ากลัวถูกฟ้องรวมทั้งการทำงานของ กกต.ไม่เป็นอิสระอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลใช้หรือไม่ ทำให้นายศุภชัย ต้องกล่าวชี้แจงด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นว่า รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติของ กกต.ว่าต้องเป็นกลางไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลพรรคการเมืองแต่การเลื่อนการเลือกตั้งต้องออกเป็น พ.ร.ฎ.ถ้าเราทำเองได้ทำไปแล้ว เราไม่ได้อยู่ในอำนาจใคร และไม่ได้กลัวถูกฟ้องเราถูกฟ้องมาแล้วหลายคดี ตนสมัครใจ เข้ามาด้วยความจริงใจ และยังได้ชี้แจงกรณีที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยว่า เราได้ออกหนังสือเตือนไปยังรัฐบาลแล้วว่าการออกประกาศฯ ขอให้พึงระมัดระวังเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ห้ามไม่ให้รัฐบาลใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงไม่ใช่เราละเลย แต่เตือนมาโดยตลอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังการไต่ส่วน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังได้ออกเอกสารข่าวระบุว่าในวันที่ 21 มี.ค.เวลา 9.30 น.คณะตุลาการยังได้นัดอภิปรายและวินิจฉัยคำร้องที่ กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาความขัดแย้งระหว่างกกต. กับรัฐบาลตามมาตร 214 ว่า 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร กกต.สามารถออกเป็นประกาศ กกต.หรือต้องให้รัฐบาลออกเป็น พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง และหากต้องออกเป็น พ.ร.ฎ.ใหม่ จะสามารถทำเฉพาะ 28 เขตได้หรือไม่ หรือต้องออกเป็น พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ในทุกเขตเลือกตั้ง



กำลังโหลดความคิดเห็น