ศาล รธน.รับวินิจฉัยคำร้องผู้ตรวจฯ ขอให้สั่งเลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะ พร้อมสั่ง ปธ.กกต.-ปธ.ผู้ตรวจฯ-นายกฯ เข้าให้ความเห็น 19 มี.ค.นี้ สั่งรับคำร้อง กกต.ขอวินิจฉัย 28 เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัครต้องออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งหรือไม่ ด้านวงในชี้ศาลเร่งพิจารณาคำร้องผู้ตรวจก่อน เหตุมีผลต่อคำร้อง กกต.ระบุ หากวินิจฉัยล้มกระดานเลือกตั้งโมฆะไม่ต้องวินิจฉัยคำร้อง กกต.แต่หากมองเลือกตั้ง 2 ก.พ.ชอบด้วยกฎหมาย ต้องลุ้น 28 เขตจัดลงคะแนนได้ 27 เม.ย.หรือไม่ แต่คาดเป็นไปได้ยาก
วันนี้ (12 มี.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก รับคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องพร้อมความเห็นกรณีที่ นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245(1) ว่า การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาคำร้องของนายกิตติพงศ์ แล้วว่าเห็นว่า กรณีการดำเนินการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักความเสมอภาค การลงคะแนนขัดต่อหลักการต้องลงคะแนนโดยลับ ทำให้การเลือกตั้งที่จะกำหนดขึ้นในภายหลังเป็นอันไร้ผล กระทบต่อสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 236(1) มาตรา 93 มาตรา 30 และ (4) กกต. ปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง จากกรณีปล่อยให้ น.ส.ยิงลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง
ทั้งนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องแล้วก็มีคำสั่งกำหนดให้มีการรับฟังคำชี้แจงของประธาน กกต.หรือผู้แทน นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทน และประธานผู้ตรวจการแผ่นดินหรือผู้แทน ในวันพุธที่ 19 มี.ค.ตั้งแต่เวลา 09.30 น.
นอกจากนี้ ยังมีมติเสียงข้างมากรับคำร้องที่ กกต.ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการดำเนินการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ ใน 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ ที่ยังไม่มีผู้สมัคร ที่ กกต.เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติมาตราใดให้อำนาจ กกต.ในการประกาศกำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งขึ้นใหม่ หรือกำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งเพิ่มเติม จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลฯให้มีการตราพระราชกฤษฎีกา อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบมาตรา 93 แต่นายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือแจ้งมายังประธาน กกต.ว่า ครม.ได้รับทราบและมีมติตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เห็นว่า กกต.มีอำนาจในการดำเนินการออกประกาศดังกล่าวกรณีดังกล่าวถึงถือเป็นกรณีที่เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่าง กกต.กับ ครม.
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ที่คณะตุลาการมติรับคำร้องของ กกต.ไว้วินิจฉัย โดยไม่ได้คำสั่งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อนั้น เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นคำร้องที่ต่อเนื่องจากเมื่อครั้งที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยว่าการเลื่อนการเลือกตั้งสามารถทำได้ แต่ประธาน กกต.และนายกรัฐมนตรีต้องมีการหารือกัน รวมทั้งเห็นว่ากรณีดังกล่าวพันกับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะหากศาลมีคำวินิจฉัยใน 5 ประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแล้ว ก็อาจมีผลต่อคำร้องที่ กกต.เสนอ และทำให้ไม่ต้องวินิจฉัยคำร้องของ กกต.ไปโดยปริยาย และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการรับฟังความเห็นจาก 3 ผู้เกี่ยวข้องตามคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 19 มี.ค.
ดังนั้น ที่ กกต.คาดการณ์ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ชัดเจนว่าจะต้องออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัครหรือไม่ภายในวันที่ 21 มี.ค. กกต.ก็จะจัดการเลือกตั้ง 28 เขตในวันที่ 27 เม.ย.นั้น ก็อาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับฟังความเห็นของ 3 ผู้เกี่ยวข้องในวันที่ 19 มี.ค.แล้ว และจะมีการพิจารณาลงมติในวันถัดไปหรือในวันที่ 21 มี.ค.เลย หากเห็นว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะก็จบไม่ต้องพิจารณาคำร้องของ กกต.แต่หากเห็นว่า กระบวนการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่เป็นโมฆะ ก็จะมีการพิจารณาคำร้องของ กกต.ต่อไป
ซึ่งถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การเลือกตั้ง 28 เขตเลือกตั้งต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ก็ต้องมีกระบวนการในการดำเนินการ ซึ่งต้องใช้เวลา โดยอาจไม่ทันกับความต้องการของ กกต.ที่จะให้มีการเลือกตั้ง 28 เขตพร้อมกับ 6 จังหวัดที่มีปัญหาที่ กกต. กำหนดแล้วจะให้มีการลงคะแนนทดแทนในวันที่ 27 เม.ย.แต่หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การเลือกตั้ง 28 เขตเลือกตั้ง กกต.สามารถออกประกาศ กกต.ได้เลย ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กกต.จะพิจารณาว่าระยะเวลานับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยจนถึงวันที่ 27 เม.ย.เพียงพอที่ กกต.จะสั่งให้มีการลงคะแนนเลือกตั้ง 28 เขต ในวันที่ 27 เม.ย.หรือไม่ ซึ่งก็มีรายงานว่าในการพิจารณาทั้ง 2 คำร้องดังกล่าวคณะตุลาการได้มีการพูดคุยถึงกรอบการจัดลงคะแนนเลือกตั้งของ กกต.ที่วางไว้ด้วย