xs
xsm
sm
md
lg

นัดชี้ชะตาเลือกตั้งโมฆะ21มี.ค. ศาลได้ข้อมูลพร้อม แฉพท.กลัวลนลาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคำร้องเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ พร้อมกรณีเลือกตั้ง 28 เขตต้องออกพ.ร.ฎ.ใหม่หรือไม่ วันที่ 21 มี.ค.นี้ หลังเปิดรับฟังคำชี้แจงจากทุกฝ่าย ผู้ตรวจการแผ่นดินยันมีอำนาจยื่นคำร้อง รัฐบาลย้ำอำนาจเลือกตั้งเป็นของ กกต. แต่ไม่ยอมทำหน้าที่ ด้าน กกต.ยันลุยเลือกตั้ง เพราะทำตามกฎหมาย ปชป.อัดเพื่อไทย ชิงแถลงไม่รับอำนาจศาล เหตุรู้เต็มอกเลือกตั้ง 2 ก.พ.ส่อโมฆะ

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (19 มี.ค.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ รับฟังคำชี้แจงของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการการเลือกตั้ง และนายกรัฐมนตรี หรือผู้แทน 3 หน่วยงานดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 245 (1) ว่า การจัดการเลืออกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย ก็แจ้งไปยังทั้ง 3 หน่วยงานให้ยื่นคำชี้แจงต่อศาลภาย ในวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้ยื่นคำชี้แจงเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง จึงเสร็จสิ้นการออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนรับฟังคำชี้แจงจากนายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ผู้แทนนายกรัฐมนตรี และมีคำสั่งให้ นายพงศ์เทพ ยื่นคำแถลงเพิ่มเติม ตามที่ร้องขอ ภายในวันที่ 20 มี.ค. พร้อมนัดแถลงด้วยวาจา และลงมติในวันศุกร์ที่ 21 มี.ค. เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป

** ผู้ตรวจฯยันมีอำนาจร้องต่อศาลฯ

ในการชี้แจงไต่สวน นายพรเพชร ชี้แจงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจยื่นคำร้องดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 254 (1) เพราะเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง จึงถือเป็นประเด็นข้อกฎหมาย และเมื่อพิจารณาทั้งรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. ไม่มีมาตราใดที่บัญญัติไว้โดยตรงเกี่ยวกับอำนาจการตรวจสอบการเลือกตั้งทั่วไป มีเฉพาะ มาตรา 219 วรรคสาม ที่ให้เป็นอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง พิจารณาเฉพาะกรณีรายเขต

ส่วนประเด็นข้อเท็จจริงหลักว่าการเลือกตั้งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า วันเลือกตั้ง 2 ก.พ. มีการเลือกตั้งได้เพียง 347 เขต โดย 28 เขตต้องมีการจัดเลือกตั้งใหม่ ย่อมจะทำให้มีวันเลือกตั้งเกิดขึ้น 2 วัน และก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าเลื่อนเลือกตั้งได้ แต่นายกรัฐมนตรี และประธานกกต.ผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ก็ไม่ดำเนินการ และเมื่อมีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งมีกว่าหมื่นหน่วยเลือกตั้ง ไม่สามารถจัดลงคะแนนได้ แม้จะมีการลงคะแนน เลือกตั้งในภายหลัง ก็ไม่มีหลักการว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 กำหนด

นอกจากนี้ ที่มีการนับคะแนนและประกาศผลคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ทั้งที่การเลือกตั้งในส่วนอื่นยังไม่แล้วเสร็จมีผลเป็นการชี้ใน 28 เขตเลือกตั้งที่ยังไม่มีผู้สมัคร การปล่อยให้นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของผู้สมัครพรรคการเมืองทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม

**"พงศ์เทพ"ซัดกกต.ไม่ทำหน้าที่

จากนั้นนายพงศ์เทพ ซึ่งเป็นผู้ชี้แจงลำดับถัดมา ได้ตั้งข้อสังเกตก่อนการชี้แจงว่า เหตุใดศาลจึงเร่งรัดในการพิจารณาคดีนี้ โดยให้รัฐบาลมีเวลาจัดทำคำชี้แจงเพียง 1 วันเท่านั้น ทำให้นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการฯ ชี้แจงว่า เพราะคดีนี้ มีผลเชื่อมโยงกับการดำเนินการในอีกหลายส่วนที่หากพิจารณาล่าช้า ปล่อยให้มีการดำเนินการไปก็อาจไม่เกิดประโยชน์และสูญเปล่า ซึ่งการวินิจฉัยเร็ว ก็จะเป็นผลดีกับบ้านเมือง

ส่วนการชี้แจง นายพงศ์เทพ ระบุว่า รัฐบาลเห็นว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการยื่นคำร้อง เพราะเป็นการยื่นเกี่ยวกับการปฏบัติของ กกต. ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งไม่เข้าข่ายที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1) สำหรับประเด็นข้อเท็จจริงในการจัดการเลือกตั้งเห็นว่า มีเพียงร้อยละ 10 ของ 375 เขตเลือกตั้งเท่านั้น ที่เลือกตั้งไม่ได้ในวันที่ 2 ก.พ. และกฎหมายให้อำนาจกกต.ในการจัดลงคะแนนใหม่ได้อยู่แล้ว ในอดีตก่อนการประกาศผล กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือ (ใบเหลือง) จำนวนมาก ก็ไม่มีการโต้แย้งว่า การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ

ส่วน 28 เขตเลือกตั้ง มีคนอยากสมัคร แต่สมัครไม่ได้ เป็นหน้าที่ที่กกต.ต้องดำเนินการ แต่ ณ วันนี้ ยังไม่มีการจัดเลือกตั้งเกิดขึ้นเลย ฉะนั้นตุลาการตั้งข้อสังเกตว่า ที่ว่าการนับคะแนน หรือประกาศผลคะแนนไปก่อนทำให้ขัดต่อหลักการลงคะแนนโดยลับ เป็นการชี้นำการเลือกตั้งที่เหลือ ก็มองว่าหัวใจสำคัญของหลักการลงคะแนนโดยลับน่าจะอยู่ที่ตอนผู้มีสิทธิกาบัตรต้องไม่ให้รู้ว่าลงคะแนนให้ใคร ไม่ใช่เป็นเพราะประกาศผลคะแนน ทำให้ขัดหลักลงคะแนนโดยลับ

"อำนาจจัดการเลือกตั้งเป็นของ กกต. รัฐบาลไม่มีอำนาจ แม้ครั้งนี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ร่วมรักษาการกับประธานกกต. ตาม พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งที่มีผลมาจากการยุบสภา แต่การจัดการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนายกฯ เลย ที่บอกว่า นายกฯออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งนั้น ข้อ 1 ของประกาศที่ออก ก็ได้ระบุชัดเจนว่าห้ามมั่วสุม หรือชุมนุมเกินกว่า 5 คน ยกเว้นการชุมนุมหาเสียงเลือกตั้ง ฉะนั้นการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่เป็นอุปสรรคกับพรรคการเมืองใด และก็ไม่มีพรรคการเมืองหรือผู้สมัครคนไหนมาร้องว่าการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม”นายพงศ์เทพ กล่าว

นายพงศ์เทพยังเห็นว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เสร็จสิ้นไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ดังนั้น น่าจะจัดการเลือกตั้งส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จดีกว่าการเริ่มกระบวนการใหม่ เพราะเชื่อว่าการรับสมัครใหม่จะมีการขัดขวาง ทำให้มีการบาดเจ็บ ล้มตาย รวมถึงการจะได้รัฐบาลใหม่อาจล่วงเลยไปถึงมิ.ย.-ต.ค. ที่คณะตุลาการมองว่า หากเลือกตั้งครั้งนี้เสร็จสิ้น รัฐบาลที่เข้ามาจะได้รับการยอมรับ ปัญหาความขัดแย้งจะยุติหรือไม่ เห็นว่า เป็นคนละเรื่องกัน เพราะปัญหาความขัดแย้งทั่วโลกไม่ใช่จะยุติเพราะการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ที่อย่างน้อยประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้แสดงออกถึงเจตนาของตัวเอง และหลัง 2 ก.พ.การลงคะแนนทดแทนการเลือกตั้งที่เสียไป ก็พบมีการขัดขวางน้อยลง แต่ถ้าไปเลือกตั้งกันใหม่ เชื่อว่าความสูญเสียจะเกิดขึ้นอีก

นายพงศ์เทพยังตอบคำถามคณะตุลาการ กรณีที่สงสัยว่ารัฐบาลได้ขอให้ กกต.ขยายเวลาการรับสมัครส.ส.หรือไม่ ว่า ตั้งแต่ยังไม่หมดเวลาการรับสมัคร แต่เห็นแล้วว่ามีปัญหาว่าจะได้ผู้สมัครไม่ครบทุกเขต ได้ไปหารือกับกกต. ว่า ผอ.การเลือกตั้งประจำเขต มีอำนาจที่จะประกาศรับสมัครนอกเขตเลือกตั้งเพื่อป้องกันปัญหาการขัดขวาง แต่กกต. ก็ไม่ทำ และเมื่อครบระยะเวลาการรับสมัคร ก็ไม่มีการขยาย ซึ่งในเขตที่ไม่มีผู้สมัครนั้น เห็นว่ากกต.สามารถดำเนินการให้มีผู้สมัครได้โดยไม่ต้องขอออกพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยสามารถนำมาตรา 88 ของพ.ร.บ.เลือกตั้ง ที่กำหนดให้มีการรับสมัครใหม่ได้หากผู้สมัครรายเดียวของเขตนั้นได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิมาดำเนินการได้

อย่างไรก็ตาม ทำให้นายจรัญ ท้วงว่า ตามมาตราดังกล่าว จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีผู้สมัครแล้ว แต่เลือกตั้งไปแล้วได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิ ซึ่งนายพงศ์เทพ ก็พยายามชี้แจงว่า เป็นการนำกฎหมายมาเทียบเคียง และตีความกฎหมายเพื่อให้เกิดการปฏิบัติได้ รวมทั้งเห็นว่า การที่ในกฎหมายบัญญัติทั้งคำว่าวันเลือกตั้ง และวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่นั้น จะเรียกอะไรไม่เป็นปัญหา แต่โดยหลักเมื่อมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง กกต.ต้องจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ และเห็นว่า กรณีที่มีการขัดขวางการเลือกตั้ง แม้รัฐบาลจะมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย แต่การจะดำเนินการก็มีข้อจำกัด เพราะมีคำสั่งศาลแพ่งห้ามใช้อาวุธสลายการชุมนุม โดยรัฐบาลก็ได้ช่วยสนับสนุนการเลือกตั้งตามที่กกต.ร้องขอ

**ศาลข้องใจปัญหา 28 เขต

นายศุภชัยกล่าวชี้แจงว่า การจัดเลือกตั้ง กกต. ยึดหลักกฎหมาย ยังไม่ได้ทำผิดอะไร 28เขตเลือกตั้งยังรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จึงยังไม่มีวันเลือกตั้ง 2 วันขัดรัฐธรรมนูญ และเห็นว่าผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องนี้ อย่างไรก็ตาม หลังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งแล้วเกิดการคัดค้านการเลือกตั้ง กกต. ก็เล็งเห็นแล้วว่า จะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรมได้ ก็ได้พยายามที่จะเสนอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งออกไป จะเห็นได้จากการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อมีคำวินิจฉัยว่าสามารถเลื่อนได้ แต่รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้า กกต. ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งโดยให้เป็นนโยบายกับฝ่ายปฏิบัติว่า หากมีการขัดขวางพยายามอย่าให้เสียเลือดเนื้อเพราะชีวิตคนเสียแล้วเรียกคืนไม่ได้ แต่การเลือกตั้งเสียแล้วอาจจัดขึ้นใหม่ได้

จากนั้นประธานกกต. ได้มอบหมายให้ นายวรภัทร วงศ์ปราโมทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงาน กกต. ได้ชี้แจงในประเด็นข้อกฎหมาย ที่คณะตุลาการสงสัยว่า กรณีการจัดการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ หลังวันเลือกตั้งตามพ.ร.บ.เลือกตั้ง มาตรา 78,108,109 และมาตรา 88 มีความแตกต่างกันอย่างไร และสามารถใช้กับกรณีที่ไม่มีผู้สมัครในเขตนั้นเลยได้หรือไม่

นายทวีเกียรติ ตุลาการ ได้ท้วงว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ให้อำนาจ กกต.ในการควบคุมการเลือกตั้ง ให้สุจริต ซึ่ง เมื่อกกต.เห็นแล้วว่าการไม่มีผู้สมัคร 28 เขต เลือกตั้งไปก็ไม่สามารถได้ ส.ส.ร้อยละ 95 ที่สามารถเปิดประชุมสภาได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 ทำไมไม่ขยายระยะเวลาการรับสมัครไปจนกว่าจะมีผู้สมัครครบทุกเขตเลือกตั้ง ซึ่งถ้าดำเนินการก่อนวันเลือกตั้งที่ 2 ก.พ. ก็จะไม่เป็นปัญหา ถือว่าเป็นหลักการปฏิบัติทั่วไปที่เป็นธรรมชาติ เหมือนกรณีการรับสมัครประมูลงานเมื่อไม่มีผู้สมัครก็ต้องขยายเวลาไป

นายศุภชัย ได้ชี้แจงว่า กกต. ได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่าการจะออกประกาศอะไรก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจทำได้แต่เรื่องขยายวันรับสมัคร กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ และหากขยายการรับสมัครไปก็คงไม่สำเร็จขนาดไปสัมมนาแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งที่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 7 มี.ค. แกนนำ กปปส. ในพื้นที่ก็ยืนยันว่าต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หากมีการรับสมัคร ส.ส. ก็ยังจะขัดขวางอีก

** ยันกกต.ไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลรัฐบาล

นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการ ได้ถามว่าก่อนการเลือกตั้ง ศาลได้วินิจฉัยว่าสามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้ทำไมถึงไม่มีการเลื่อน รัฐบาลมีเหตุผลอะไร และทำไม กกต. ยอมทำตามรัฐบาลจนกลายเป็นปัญหาถึงทุกวันนี้ นายศุภชัย กล่าวว่า หลังศาลมีคำวินิจฉัย กกต.ได้หารือกับนายกฯ และคณะรัฐมนตรี เขาก็บอกว่าทำไม่ได้ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจเลื่อน และยังมีการระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญแทงกั๊ก จะให้ทำอะไรก็ไม่บอกให้ชัดเจน บางคนถึงกับพูดว่าจะให้ลากนายกฯ ไปเข้าคุก แต่การเลื่อนต้องออกเป็น พ.ร.ฎ. เมื่อรัฐบาลไม่เลื่อน กกต.ก็ต้องจัดการเลือกตั้ง ขนาดเดินหน้าเลือกตั้งยังถูกฟ้องว่าไม่อยากจัดการเลือกตั้ง อธิบดีดีเอสไอ ก็ประกาศผ่าน ศรส. ว่าจะดำเนินคดีกับกกต. ขนาดจัดเรายังโดน ถ้าไม่จัดเราเสร็จเลย

ขณะที่นายสุพจน์ ได้ถามย้ำว่า ที่ไม่เลื่อน เพราะว่ากลัวถูกฟ้อง รวมทั้งการทำงานของ กกต. ไม่เป็นอิสระอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลใช่หรือไม่ ทำให้นายศุภชัย ต้องกล่าวชี้แจงด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นว่า รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติของ กกต. ว่าต้องเป็นกลางไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลพรรคการเมือง แต่การเลื่อนการเลือกตั้งต้องออกเป็น พ.ร.ฎ. ถ้าเราทำเองได้ทำไปแล้ว เราไม่ได้อยู่ในอำนาจใคร และไม่ได้กลัวถูกฟ้องเราถูกฟ้องมาแล้วหลายคดี ตนสมัครใจ เข้ามาด้วยความจริงใจ และยังได้ชี้แจงกรณีที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยว่า เราได้ออกหนังสือเตือนไปยังรัฐบาลแล้วว่าการออกประกาศฯ ขอให้พึงระมัดระวังเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ห้ามไม่ให้รัฐบาลใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงไม่ใช่เราละเลย แต่เตือนมาโดยตลอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการไต่ส่วน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังได้ออกเอกสารข่าวระบุว่า ในวันที่ 21 มี.ค. เวลา 09.30 น. คณะตุลาการยังได้นัดอภิปรายและวินิจฉัยคำร้องที่ กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาความขัดแย้งระหว่าง กกต. กับรัฐบาลตาม มาตรา 214 ว่า 28 เขตเลือกตั้ง ที่ไม่มีผู้สมัคร กกต. สามารถออกเป็นประกาศกกต. หรือต้องให้รัฐบาลออกเป็น พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง และหากต้องออกเป็น พ.ร.ฎ.ใหม่ จะสามารถทำเฉพาะ 28 เขตได้หรือไม่ หรือ ต้องออกเป็น พ.ร.ฎ. เลือกตั้งใหม่ในทุกเขตเลือกตั้ง

** อัดพ.ท.ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาคำร้อง เรื่องการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า เป็นไปตามที่คาดที่พรรคเพื่อไทยจะออกมาคัดค้าน เป็นการสะท้อนพฤติกรรมซ้ำๆ เดิมๆ ของบุคลากรของเพื่อไทย ที่มีพฤติกรรมไม่ยอมรับอำนาจศาล แสดงถึงความไม่เป็นประขาธิปไตย สะท้อนความล้มเหลวของบุคลากรในพรรคเพื่อไทย เป็นการทำลายระบบการเมือง และโครงสร้างประชาธิปไตยของประเทศไทย การปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ เพราะทราบดีว่าพฤติกรรมในกระบวนการเลือกตั้ง ส่อเป็นโมฆะ จึงออกมาตีปลาหน้าไซ ดักคอศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจมีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น